ทำไมต้องถ่านหิน?

ทำไมต้องถ่านหิน?

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประท้วงเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่

โดยกลุ่มประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า เครือข่ายประชาชนปกป้องอันดามันจากถ่านหิน โดยแกนนำของ กลุ่ม 2 คนได้ขึ้นมาประท้วงด้วยการอดอาหาร อยู่ที่หน้าสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเมื่อได้รับการสนับสนุนและสนใจจากสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้น จึงได้ย้ายมาประท้วงและทำกิจกรรมอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

ต่อมาท่านนายกรัฐมนตรีได้ตอบสนองข้อเรียกร้องบางข้อของกลุ่มผู้ประท้วง โดยให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณา ความเป็นไปได้ของการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นในการผลิตไฟฟ้า เพื่อทดแทนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กลุ่มผู้ประท้วงจึงพอใจและเดินทางกลับไปยังจังหวัดกระบี่

เรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ได้รับการต่อต้านจากเครือข่ายองค์กรเอกชน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประชาชนบางกลุ่มมาโดยตลอด โดยส่วนตัวผมเองนั้น ไม่ได้สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นพิเศษ จริงๆ แล้วถ้าเลือกได้ ผมเลือกที่จะสนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเสียด้วยซ้ำไป

แต่ที่ผมสนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นในประเทศไทย โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นที่จังหวัดกระบี่ก็ได้ ก็เพราะผมสนับสนุนให้ประเทศต้องกระจายความเสี่ยงด้านแหล่งเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้าออกไป แทนที่จะพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพียงชนิดเดียว ในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 68% อย่างเช่นในปัจจุบัน

ภาคประชาชนและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางท่านอาจจะบอกว่า เราไม่จำเป็นต้องพึ่งถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกก็ได้ แต่ให้ไปพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นมาแทน โดยระบุว่า ขณะนี้ทั่วโลกหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นทั้งนั้น โดยยกตัวอย่างประเทศเยอรมนีซึ่งมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก

ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพียงแต่ผู้พูดไม่ได้พูดความจริงทั้งหมดว่า นอกจากผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว เยอรมนียังมีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสูงถึง 49,060 เมกะวัตต์ หรือมากกว่า 50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ เพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้าสำรอง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น มีความไม่มั่นคงและไม่เสถียร จึงต้องมีโรงไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานหลักเพื่อป้องกันความเสี่ยง

นอกจากนั้น ยังมีความจริงอีกประการหนึ่ง ซึ่งผู้ที่สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ได้บอกกับประชาชนก็คือ ในเยอรมนีนั้นผู้ที่สนับสนุนและต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ต้องยอมจ่ายค่าไฟแพงขึ้นอีก 10% โดยจะมีช่องให้กรอกในใบเสร็จค่าไฟฟ้าว่า ท่านต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือไม่

เรื่องต่างๆ เหล่านี้ คือข้อมูลที่ประชาชนต้องได้รับรู้อย่างครบถ้วน จึงจะตัดสินใจได้ว่า ประเทศไทยสมควรที่จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ส่วนสถานที่จะเป็นที่ใดก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปทำการศึกษา ทางด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย ตลอดจนความเหมาะสมและผลกระทบต่อชุมชนและวิถีชีวิตของประชาชนอย่างรอบด้าน หรือที่เรียกว่าการศึกษาด้านอีไอเอและอีเอชไอเอต่อไป

แต่ที่ผมแปลกใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ หนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้มีการเรียกร้องให้ยุติการทำอีไอเอและอีเอชไอเอ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับรู้ว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่นั้น มีความเหมาะสมที่จะก่อสร้าง และจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยต่อชุมชน และวิถีชีวิตของประชาชนอย่างไรหรือไม่

ข้อเรียกร้องนี้จึงเปรียบเสมือนกับการ "ฆ่าตัดตอน" โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่เสียตั้งแต่แรก โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการทำการศึกษาด้านความเหมาะสม หรือผลกระทบตามหลักวิชาการก่อนแต่อย่างใด ข้อเรียกร้องดังกล่าว จึงมิอาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นการใช้สิทธิของชุมชน โดยชอบตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นข้อเรียกร้องในเชิงบังคับให้รัฐบาลต้องทำตามสิ่งที่กลุ่มบุคคลดังกล่าว เชื่อหรือต้องการโดยไม่มีทางเลือก (demanding request) และยังมีการกดดันรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆ เช่น มีการประท้วงโดยการอดอาหาร ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่การประท้วงหรือคัดค้านให้มีการพูดคุยกันโดยใช้เหตุและผล

ประเด็นที่ผมอยากถามกลุ่มผู้ประท้วงก็คือ กลุ่มผู้ประท้วงดังกล่าวถือสิทธิ์อะไรที่จะบอกว่า ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่แทนประชาชนทั้งประเทศ หรืออย่างน้อยก็แทนคนในจังหวัดกระบี่ทั้งจังหวัดแทนที่จะให้เขาตัดสินใจเอง

เท่าที่ผมทราบ ทางกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 6 ครั้งด้วยกัน ซึ่งปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย มีเพียง 2 หมู่บ้านเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย และมีบางส่วนเป็นคนนอกพื้นที่ เข้าไปเป็นแกนนำในการชักชวนคนในพื้นที่ให้ต่อต้านโรงไฟฟ้า

ดังนั้น จึงป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่กลุ่มดังกล่าวขึ้นมาประท้วงถึงกรุงเทพฯนั้น อาจเป็นการเปลี่ยนยุทธวิธีในการต่อสู้ ในเมื่อไม่สามารถชักจูงใจคนในพื้นที่ได้มากพอ จึงขึ้นมารณรงค์ในส่วนกลางแทน เพราะสามารถระดมการสนับสนุนจากเครือข่ายที่เป็นแนวร่วม และดึงดูดความสนใจของสื่อและรัฐบาลได้มากกว่าการต่อสู้ในพื้นที่อย่างเดียวดาย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ยากที่จะให้ทำใจได้ว่า การประท้วงหรือการคัดค้านครั้งนี้จะไม่มีคนหรือทุนสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง !!!

-------------------

มนูญ ศิริวรรณ

สมาชิกสภาปฏิรูป