ต้องสร้างความชัดเจน ระหว่าง'เลือกตั้ง-ปฏิรูป'

ต้องสร้างความชัดเจน ระหว่าง'เลือกตั้ง-ปฏิรูป'

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดข้อถกเถียงและตอบโต้ทางการเมือง ในประเด็น “เลือกตั้ง-ปฏิรูป”

 อีกครั้งว่าอะไรควรจะมาก่อน หลังจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศตั้งมูลนิธิมวลมหาประชาชน เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและสนับสนุนแนวทางให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นท่าทีใหม่ของนายสุเทพ เพราะนายสุเทพได้ประกาศจุดยืนเช่นนี้มานาน เนื่องจากเห็นว่าการเมืองไทยมีปัญหาในเรื่องกติกาบ้านเมือง จึงสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปก่อนให้มีการเลือกตั้งทั่วไป หาไม่แล้วการเมืองไทยก็จะกลับเข้าไปสู่วงจรเดิมอีกครั้งหลังจากมีการเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลใหม่

การโต้แย้งเรื่องอะไรควรมาก่อนหรือมาหลัง ชี้เห็นว่าความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ ในขณะเดียวกันแนวทางการปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดำเนินการผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ารูปร่างหน้าตาของการปฏิรูปจะออกมาอย่างไร ผู้ที่ติดตามการเมืองเห็นเพียงแต่ร่างพิมพ์เขียวหรือประเด็นที่ได้ข้อยุติจากสปช.และสนช.เท่านั้น แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นกติกาของประเทศ นั่นก็หมายความว่าข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นของบรรดานักการเมืองในขณะนี้ เป็นเพียงการถกเถียงในสิ่งที่ยังมองไม่ออกว่าคืออะไรกันแน่

ข้อถกเถียง“เลือกตั้ง-ปฏิรูป” สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงกว่า 1 ปีของคสช. ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร แม้คสช.จะยังย้ำอยู่เสมอว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมพที่วางไว้ แม้ว่าช่วงเวลาอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้างจากเดิมที่รถบุว่าจะเลือกตั้งทั่วไปในต้นปีหน้า ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้เอง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลและคสช.อยู่ตลอด แต่คสช.ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้และไม่เกิดสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรง แต่การเคลื่อนไหวต่อต้านในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับพรรคการเมือง ก็สะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการปฏิรูปและเลือกตั้ง

 หากติดตามข้อถกเถียงในเรื่องนี้ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าประเด็น และเหตุผลของฝ่ายสนับสนุน และคัดค้านนั้นแทบจะไม่มีประเด็นอะไรใหม่ไปจากเดิม นอกจากการใช้โวหารทางการเมืองเสียดสีกันไปมา จนหาสาระอะไรไม่ได้จากฝ่ายนักการเมือง แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดของการปฏิรูปและเลือกตั้ง เราแทบไม่เห็นความชัดเจนเกิดขึ้น และยิ่งปล่อยเวลาแห่งความคลุมเครือนี้ยืดยาวออกไป ก็ยิ่งกลายเป็นแรงกดดันทางสังคมมากเท่านั้น และยิ่งมีการโต้แย้งทางการเมืองระหว่างผู้มีความคิดต่างกันในประเด็นทางการเมือง ก็ยิ่งสร้างความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น เพราะโต้แย้งในสิ่งที่ยังหาความชัดเจนอะไรไม่ได้มากนัก

เราเห็นว่าในขณะนี้น่าจะถึงเวลาต้องสร้างความชัดเจน ในประเด็นการปฏิรูปและการเลือกตั้ง เพื่อที่คนไทยที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองจะได้มองเห็นว่าอนาคตของการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศจะมีทิศทางไปทางไหน ซึ่งแน่นอนว่าความสงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายใต้คสช.นั้นเป็นสิ่งที่น่าปราถนา เมื่อเทียบกับความวุ่นวายก่อนหน้านั้น แต่ความสงบเช่นว่านี้คนไทยจำนวนมากก็อยากรู้อนาคตและทิศทางของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าขณะนี้อาจประเมินได้ว่าคนไทยไม่น้อยที่ยังสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและคสช. แต่หากยังอยู่กับความไม่ชัดเจนต่อไป ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นในอนาคต

ดังนั้น หากคสช.และรัฐบาลสร้างความชัดว่าจะปฏิรูปอะไร และจะเลือกตั้งกันอย่างไรในอนาคต เราเชื่อว่าแรงกดดันทางสังคมก็จะหมดไป และรัฐบาลก็ยิ่งทำงานได้อย่างราบรื่นมากขึ้น เพราะคนรู้ว่ารัฐบาลกำลังทำอะไร แต่หากไม่มีความชัดเจน ก็อาจการโต้แย้งและฉุนเฉียวกันได้่ทุกวันในเรื่องที่หาสาระไม่ได้