มุมมองอดีตทูตทหารสหรัฐฯในไทย: ไทยสำคัญด้านยุทธศาสตร์อย่างไร?

มุมมองอดีตทูตทหารสหรัฐฯในไทย: ไทยสำคัญด้านยุทธศาสตร์อย่างไร?

ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ เป็นประเด็นถกเถียงกันร้อนแรง มีทั้งฝ่ายที่คิดว่าควรจะปะฉะดะกับอเมริกา

ที่กดดันเราทางการเมืองหลาย ๆ เรื่องและฝ่ายที่เห็นว่าต้องดำเนินนโยบายการทูต ที่ถ่วงดุลมหาอำนาจอย่างระมัดระวัง จึงไม่ควรจะประกาศเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ แต่ควรจะต้อง ทำความเข้าใจ ในทุกระดับ

ที่สหรัฐฯ นักการเมืองและนักวิชาการของเขา ก็มีความเห็นไปสองทาง กลุ่มหนึ่งเห็นว่ารัฐบาลวอชิงตันต้อง กดดันสั่งสอน ไทยที่อยู่ภายใต้รัฐบาลทหารเพื่อให้กลับมามีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็เตือนว่าการที่อเมริกาเล่นเกมแรงกับไทย ก็เท่ากับเป็นการผลักไสให้ไทยไปอยู่ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็จะทำให้อเมริกาเสียพันธมิตรสำคัญในเอเซียอาคเนย์ ไม่เป็นประโยชน์ต่ออเมริกาแต่อย่างไร

หากเอาเหตุผลมาประเมินก็น่าจะมีแนวทาง กลาง ๆ ที่ผสมผสานข้อเสนอของฝ่ายต่าง ๆ เพื่อวางทิศทางที่ทั้งไทยและสหรัฐฯ ได้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้น กลางและยาว

ใครได้อ่านบทความของอดีตผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐในไทย ชื่อพันเอก Desmond Walter ที่เสนอความเห็นผ่าน Asian Wall Street Journal เมื่อ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา จะได้แนวคิดของคนที่พยายามจะเสนอทางออกให้ทั้งสองประเทศ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน มากกว่าเผชิญหน้าให้เกิดความเสียหายทั้งคู่

คุณวอลเตอร์เคยทำงานอยู่ในสถานทูตสหรัฐ ดูแลด้านความร่วมมือทางความมั่นคงระหว่างไทยกับสหรัฐ เข้าใจทั้งสองฝ่าย จึงเสนอในบทความพาดหัว “Saving America’s Ties with Thailand” ว่าวอชิงตันไม่ควรจะกดดันรัฐบาลไทยจนผลักไสไปอยู่กับจีน

เขาเสนอว่าวิธีการคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนั้น รัฐบาลโอบามาควรจะต้องใช้นโยบาย คู่ขนานสองด้าน” (dual-track approach)

ทางแรกคือรัฐบาลโอบามาต้องมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้นำไทย เขาบอกว่าการที่วอชิงตันระงับการแลกเปลี่ยนระดับสูงขณะนี้ มีแต่จะส่งผลทางลบเท่านั้น ไม่ได้ช่วยอะไรใครเลย

อีกด้านหนึ่ง เขาเห็นว่าสหรัฐควรจะใช้ช่องทางหลายด้าน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับรัฐบาลไทยอย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ควรใช้วิธีการโฉ่งฉ่าง ต่อว่าต่อขาน หรือออกแถลงการณ์กดดันอย่างเปิดเผย เพราะหากทำเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการทำให้พันธมิตรของเราตั้งตัวเป็นศัตรู และยิ่งวันก็ยิ่งจะห่างเหินออกไป

อดีตผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐผู้นี้เห็นว่าสหรัฐยังควรจะต้องพูด เรื่องการสร้างประชาธิปไตยกับไทย และการยืนยันไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำ แต่การรักษาความสัมพันธ์กับไทยในหลาย ๆ ด้านที่มีมายาวนาน และมีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

เขาสรุปว่านโยบาย คู่ขนาน ของสหรัฐต่อไทยจึงควรหมายถึงการสร้างความเข้มแข็ง ในความร่วมมือของสองประเทศในหลาย ๆ ด้าน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพัฒนาด้านประชาธิปไตย

“นี่เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการทำให้สร้างประโยชน์ จากศักยภาพของความสัมพันธ์อันสำคัญยิ่งระหว่างสองประเทศ” คุณวอลเตอร์ปิดท้ายบทความด้วยข้อเสนอสำหรับรัฐบาลของตัวเอง ในฐานะที่อยู่เมืองไทยมายาวนาน และรับรู้ถึงความรู้สึกและแนวคิดของคนไทยทั้งทางทหาร นักวิชาการและผู้นำสังคมไทยที่เขาสัมผัสมาระหว่างทำหน้าที่ในประเทศไทย

เขายืนยันว่าประเทศไทยมี ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐ และความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างสองประเทศ ควรจะทำให้คนอเมริกันคิดทบทวนให้ดีก่อนที่จะปล่อยให้ความสัมพันธ์เสื่อมทรุดลงมากไปกว่านี้

ไทยสำคัญต่อสหรัฐอย่างไร? คุณวอลเตอร์มองในแง่ของความมั่นคงบอกว่า ไทยเป็นจุดเดียวที่ไว้วางใจได้สำหรับกองกำลังสหรัฐ เข้าถึงแผ่นดินใหญ่เอเซีย

เขามองด้วยว่าในกรณีที่จะต้องเจอกับ สิ่งท้าทายทางด้านความมั่นคง ในย่านนี้ ไทยก็มีศักยภาพทางด้านทหารที่อเมริกากับพันธมิตรสามารถใช้เพื่อรับมือกับการคุกคามเช่นว่านี้ด้วย

คุณวอลเตอร์บอกด้วยว่าไทยซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯไม่น้อย เป็นการช่วยอุตสาหกรรมผลิตอาวุธของอเมริกามาตลอด ห้าปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยซื้ออาวุธ และบริการด้านยุทโธปกรณ์จากสหรัฐด้วยเงินเกือบ ๆ จะ $2 พันล้าน (ประมาณ 70,000 ล้านบาท)

เขายืนยันจากประสบการณ์การทำงาน ด้านความร่วมมือทางทหารกับไทยช่วง 2012-2015 ว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าไทยเป็นผู้นำ ในการอำนวยความสะดวกความร่วมมือพหุภาคี ทางด้านความมั่นคงของภูมิภาคนี้”

อดีตผู้ช่วยทูตสหรัฐประจำไทยตอกย้ำให้เห็นว่า ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการซ้อมรบ Cobra Gold ที่มี 28 ประเทศ (รวมถึงจีนและอินเดีย) เข้าร่วมมาตลอดและไทยเป็นแกนสำคัญ ในการประสานให้เกิดความริเริ่มที่สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และปฏิบัติการร่วมของกองทัพในเอเซีย-แปซิฟิก และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

นี่เป็นความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ ที่รู้เรื่องเมืองไทยดี วิเคราะห์จากแง่มุมความสัมพันธ์ ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งสองประเทศที่น่าวิเคราะห์สำหรับทุกฝ่าย ทั้งที่อยู่วอชิงตัน ปักกิ่ง และแน่นอน... กรุงเทพมหานครแห่งนี้ด้วย