'ดับไฟ'ก่อนกันยาฯ

'ดับไฟ'ก่อนกันยาฯ

หลังจากสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย แสดงเจตนารมณ์

อย่างชัดเจนว่า แนวทางมูลนิธิฯ สนับสนุนการทำงาน“คสช.”(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) และสนับสนุนการปฏิรูปให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้ง

แทบไม่ต้องสงสัยว่า เวลานี้“คสช.”มีพันธมิตร ที่น่าเกรงขามขึ้นมาแล้ว ทั้งยังจะเป็นเกราะกำบังอย่างดี เป็นหนังหน้าไฟ ในการปะทะกับฝ่ายที่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือ การแสดงออกของประชาชนเช่นกันไม่ว่าจะรัก ชอบ สนับสนุนใคร

แต่ในทางเดียวกัน ที่ต้องระมัดระวังอย่างสูงก็คือ การสร้าง“เงื่อนไข”ความขัดแย้ง แม้ว่า“คสช.”จะพยายามรักษาระยะห่างอยู่แล้ว กรณีออกมาปฏิเสธว่า แนวทาง“สุเทพ”และ“มูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ”ไม่เกี่ยวกับโรดแมพ“คสช.”

กระนั้น แค่“คสช.”อนุญาตให้“สุเทพ”แถลงข่าว และสาระสำคัญในการแถลงก็คือ ทำตัวเป็นเสมือน“แม่น้ำสายที่6” กระแสวิพากษ์วิจารณ์ “สองมาตรฐาน” ก็อื้ออึงแล้ว

และหลีกไม่พ้นถูกมองว่า เป็นบันไดให้กับ“คสช.”สืบทอดอำนาจ ไม่ต่างจากบางคนใน สปช.(สภาปฏิรูปแห่งชาติ) ที่ออกมาเสนอให้“คสช.” อยู่ต่อ2ปี เพื่อปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนแล้วจึงเลือกตั้ง เพราะถ้อยคำที่ “สุเทพ” กล่าวว่า ต้องปฏิรูปให้สำเร็จโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ก่อนการเลือกตั้ง นั่นเอง

ขณะเดียวกัน ก็กำลังกลายเป็นข้อถกเถียงใหม่ อยู่ในเวลานี้ว่า ตกลงเอาอย่างไรกันแน่ จะตาม“โรดแมพ คสช.”หรือ ต้องการให้“คสช.”อยู่ต่ออีก2ปี เพื่อปฏิรูปให้เสร็จ ก่อนเลือกตั้ง หรือ ไม่ต้องมีเงื่อนไขเวลา เพื่อปฏิรูปให้สำเร็จ ก่อนการเลือกตั้ง

ไม่นับกระแสข่าว คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ” ใน“สปช.” ที่จะทำให้ “คสช.” ยืดเวลาในการยกร่างรัฐธรรมนูญออกไปอีก ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไข ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอื้อ“คสช.”อยู่แล้ว

นี่แค่“เงื่อนไข”แรงกระเพื่อมเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงเดือนกันยายน ที่“คสช.”มีหลายเรื่องให้ตัดสินใจ และรับมือกับผลที่ไม่อาจคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็น การตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. ซึ่งเบื้องต้นมีแนวโน้มสูงว่าจะยังไม่มีนักการเมืองเข้าร่วม แต่กระนั้นคนที่ถูกจับตามองอย่างสูง ก็คือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่อาจถูกปรับเข้าไปแทนชุดเดิม

การโยกย้ายนายทหารระดับสูง โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)คนที่39ต่อจาก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนและ“แคนดิเดต”ก็คือ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช และ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา (น้องชายพล.อ.ประยุทธ์)ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)

การผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559รวมถึง การโหวตรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นประมาณเดือนกันยายน

ประเด็นก็คือ ระหว่างทางก่อนถึงเดือนกันยายน ต้องทำอย่างไรก็ได้ เพื่อไม่ให้“เงื่อนไข”ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งสุกงอมอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกมายืนยันแล้วว่า จะเดินตามโรดแมพ

เพราะย่อมหลีกไม่พ้น ที่จะต้องมีคนต้องการสร้าง“เงื่อนไข”อยู่แล้ว ไม่มากก็น้อย แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่คนส่วนใหญ่สนับสนุนให้เดินตามโรดแมพ เพื่อการคืนอำนาจให้ประชาชน

แม้แต่ มูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันที่จะเดินตามโรดแมพ หากจะสนับสนุนให้เป็นไปด้วยดี ก็ต้องลดเงื่อนไขขัดแย้ง ใช้ความสงบสยบการเคลื่อนไหวให้ได้มากที่สุด

ส่วนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยอมรับแล้ว เพียงแต่ กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด ก็ต้องเข้าใจการ“ปฏิรูป”ด้วยว่า ไม่อาจสำเร็จด้วยมือใครกลุ่มเดียว

ที่สำคัญยิ่งกว่าคือประชาธิปไตย ตามโรดแมพ คสช. เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมสานต่อปฏิรูปประเทศ เพราะนั่นจะเป็นคำตอบที่แท้จริงว่า ทำเพื่อประชาชน