เรียนรู้จากผู้นำ : นักกีฬาเหรียญทอง

เรียนรู้จากผู้นำ : นักกีฬาเหรียญทอง

หลายท่านที่ชื่นชอบ หรือตามเชียร์กีฬาในดวงใจ ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล วอลเลย์บอล แบตมินตัน กอล์ฟ หรือกีฬาใดๆ

มักได้เห็นอารมณ์หนึ่ง ซึ่งนักกีฬาระดับเหรียญทอง มีสอดคล้องคล้ายกันทั่วทุกที่

เขาต่างมี “สมาธิ” สูงยิ่ง

ใครไม่มี ใครสติแตกตั้งแต่แรกๆที่แต้มเสีย คนเชียร์เตรียมทำใจได้..ไม่น่ารอด

ดังนั้น โค้ชกีฬาขั้นเทพ ไม่ว่าจะระดับประเทศ หรือระดับโลก ต่างให้ความสำคัญกับการทำอย่างไรให้นักกีฬาตน “นิ่ง”สุดๆ ไม่สะดุดกับทั้งลูกที่ทำได้ และลูกที่เสียไปแล้ว

เพราะ มั่วปลื้ม..ก็ลืมตัว

มัวเซ็ง..ก็เล็งพลาด

วันนี้ลองมาดูวิธีที่เซียนนักจิตวิทยาการกีฬาใช้ ในการช่วยให้นักกีฬาพาเหรียญทองกลับบ้าน

Dr. Michael Lardon เป็นจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการกีฬาระดับแนวหน้าของโลก

นอกจากเป็นอาจารย์สอนคณะจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยดัง University of California ที่ San Diego แล้ว คุณหมอยังเป็นโค้ชด้านนี้ให้กับนักกีฬาเหรียญทองมืออาชีพนับไม่ถ้วน ตลอดจน เป็นโค้ชผู้บริหารในวงการธุรกิจอีกมากมาย ที่อยากประยุกต์ใช้ทักษะของนักกีฬาในการทำมาหากิน

คุณหมอเองก็เคยเป็นแชมป์ปิงปองของสหรัฐฯ จึงเข้าใจบริบทของการแข่งขัน และแรงกดดันได้อย่างกระจ่าง ทั้งยังได้ศึกษาและวิจัยลึกซึ้งถึงเรื่องความสำเร็จของนักกีฬา จึงมีข้อแนะนำมากมาย ที่คนทำงานอย่างเรานำมาใช้ได้ทันที

คุณหมอฟันธงว่า คนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าในการทำงานใดๆ หรือในการแข่งขันกีฬา ต้องหา “Zone” หรือ “Flow” ของตนให้พบ

“Flow” เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติตั้งแต่ปี1990 โดยนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงอีกหนึ่งท่าน คือ อาจารย์ Mihaly Csikszentmihalyi แห่งมหาวิทยาลัย Chicago

เมื่อนักกีฬา หรือคนทำงาน อยู่ในมิติที่เรียกว่า Flow หมายถึง เขาอยู่ในสภาวะที่เอื้อให้สามารถประสบความสำเร็จได้สูงสุด

ยามที่นักกีฬามีผลงานโดดเด่นเป็นพิเศษ อาทิ สามารถคว้าเหรียญทอง หรือทุบทำลายสถิติ ต่างจะอธิบายห้วงเวลาที่คว้าความสำเร็จได้ ออกมาคล้ายๆกัน คือ

เป็นนาทีที่เขามีสมาธิที่แน่วแน่ยิ่ง

เป็นนาทีที่เขาไม่ปล่อยให้สิ่งใดเข้ามาทำให้ใจวอกแวก

เป็นนาทีที่เหมือนทุกสิ่งหยุดนิ่ง แม้แต่เวลา...

เอาว่า เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักยิมนาสติกโอลิมปิกเหรียญทอง แต่คงเคยได้ลองลิ้มรสของห้วงเวลานี้มาบ้าง

ลองคิดถึงสิ่งที่เรารักและชอบ

อาทิ ชอบอ่านหนังสือ ชอบดูซีรีเกาหลี ก็สามารถอ่านได้ ดูได้ไม่เบื่อ ไม่จบไม่เลิก จะตีสามตีสี่ ไม่มีบ่น

ชอบเล่นเกมส์ ชอบ Up Facebook ทำแล้วสนุกสนาน ฟินเว่อร์ เผลอเดี๋ยวเดียว เช้าคาตาได้อย่างไรกัน

อยู่กับคนรัก คุยกันหนุงหนิง ทุกสิ่งรอบกายเหมือนสลายละลายสิ้น เวลาผ่านบินไปแบบแทบไม่รู้ตัว

เพียงแต่คนทั่วไป ต่างใช้ช่วงเวลาเหล่านี้..แบบตามที่มี ตามที่เกิด

ขณะที่นักกีฬาขั้นเทพ ถูกฝึกให้สามารถสร้างสภาวะนี้..ให้มี ให้เกิดได้ดั่งใจ นั่นเอง

วันนี้ มาเริ่มดู 2 วิธีที่คุณหมอ Lardon แนะนำนักกีฬาและคนทำงานให้ไม่วอกแวกค่ะ

1.ใช้บัตรจดคะแนน 2 ใบ

หลายกีฬา เช่น บาสเก็ตบอล วอลเลย์บอล หรือฟุตบอล จะมีป้ายนับคะแนน หรือ Scoreboard เด่น เป็นสิ่งที่ทั้งผู้เล่นและคนดูหันไปมองเป็นระยะๆ เพื่อดูสถานะของการข่งขัน

สำหรับบางกีฬา เช่น กอล์ฟ เมื่อนักกีฬาลงเล่น ต่างจะได้บัตรที่เรียกว่า Scorecard ซึ่งเป็นใบบันทึกคะแนน

แม้ใบนี้จะเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะจะนำ หรือถูกทิ้ง ขึ้นกับตัวเลขในใบนี้

แต่คุณหมอบอกว่า อย่าสนใจมันมาก..

เพราะความ “นิ่ง” มาจากบัตรใบที่สอง ที่สนามไม่ให้ เราต้องเอาไปเอง

มิใช่บัตรจด “แต้ม”

แต่เป็น บัตรจดคะแนน “พฤติกรรม”

หลักการคือ ในการตีกอล์ฟ มีหลายหลากปัจจัยที่คนตีควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่ง อากาศ กระแสลม ฯลฯ ซึ่งล้วนมีผลต่อแต้ม

แต่ก็มีปัจจัยสำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาควบคุมได้ นั่นคือ ตัวและใจเขาเอง

ได้แก่ สิ่งที่เพียรฝึกฝนมา สิ่งที่ต้องทำ จำให้ขึ้นใจ มุ่งมั่นทำให้ได้ตามนั้น

เช่น ตาจับจ้องเป้าหมาย จิตนาการโดดเด่นมองให้เห็นการตีที่ไม่มีที่ติ หรือ Visualize Success จากนั้น เงื้อไม้ตีด้วยวงสวิงที่เพียรฝึกฝน ฯลฯ

ผลจะออกมาได้ “แต้ม” ในบัตรแรกเท่าไร ขึ้นโดยตรงกับได้ “คะแนน” เท่าไรในบัตรที่สอง ซึ่งวัดเฉพาะพฤติกรรมที่เราควบคุมได้อย่างแท้จริง

หันกลับมาที่ทำงาน วิธีใช้หลักการนี้คือ ต้องแยกแยะงานออกเป็น 2 ประเภท

·อะไรที่อยู่ในการควบคุมของเรา

·อะไรที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา

เมื่อแยกออก บอกได้ ก็เอาพลัง เอาใจ เอาสมาธิไปไว้ในส่วนที่เราเอาชนะได้ เพราะอยู่ในการควบคุมของเรา

คนที่ใช้พลังเปลืองเปล่าไปในปัจจัยหรือคนอื่นใด ที่เราควบคุมไม่ได้ อย่าแปลกใจ ถ้าผิดหวัง

ทำไมหัวหน้าไม่หารือฉัน!

ทำไมลูกน้องไม่ยอมเปลี่ยนนิสัย!

ทำไมเพื่อนร่วมงานไม่รักเรา!

ลองปรับสมาธิและสติ ให้กลับมาอยู่ที่ปัจจัยที่คุมได้ เน้นประเด็นที่ส่งผลให้เกิดสิ่งที่ตนอยากเห็น ถือว่า “เป็น” กว่ามาก

อาทิ พิจารณาว่า สาเหตุที่หัวหน้าไม่หารือเราเป็นเพราะอะไร เพราะเขาไม่เชื่อใจ? เพราะเขาไม่เห็นฝีมือ?

กลับไปหาวิธีที่เฉพาะเจาะจง ที่เราทำได้ อันจะส่งผลให้เขาเริ่มเชื่อใจและเห็นฝีมือ จึงถือว่า มาถูกทาง

เช่น เรารับปากแล้ว ต้องทำ ต้องรักษาคำพูด เอาแต่แก้ตัวบ่อยๆ ใครๆก็เบื่อ ไม่เชื่อแล้ว

ต้องเร่งศึกษาหน้าที่ให้รู้จริง รู้ลึก ฝึกให้เชี่ยวชาญ จนงานโดดเด่นเห็นประจักษ์

หากงานดีๆ ดับๆ แถมพื้นๆ ไม่เด่น เขาย่อมไม่เห็น เป็นปกติ

สรุปว่า หากจะเลือกระหว่าง รอให้หัวหน้าปรับ กับ เราปรับ

เลือกอย่างหลังเถิด

2. หยุดเปรียบเทียบ

ยามที่นักกีฬาอยู่ใน Flow เขาตัดปัจจัยรอบตัวที่ทำให้จิตใจหวั่นไหวทั้งหมด

ที่สำคัญคือ หยุดคิด หยุดเปรียบเทียบตนกับคู่แข่ง

นักกีฬาบางคน เรียกสภาวะนี้ว่า Superfluid “ของไหลยิ่งยวด” ซึ่งเป็นศัพท์ที่ขอยืมมาจากวิชาฟิสิกส์ นั่นคือ การไหลอย่างปราศจากสิ่งใดเสียดทานให้หนืดหรือฝืดแม้เพียงน้อยนิด

หนึ่งในสิ่งสำคัญที่เสียดทานให้เราชะลอได้ ไม่หนี “อารมณ์”

นักกีฬาที่มี Flow ใจจะจดจ่อ ไม่หวั่นไหวว่าคู่แข่งจะเป็นอย่างไร ขอเพียงทำในสิ่งที่ตนทำได้ ให้ดีสะใจ เป็นพอ

ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ค่อยว่ากันภายหลัง

คุณหมอขอให้นักกีฬาคิดถึงถ่านที่ร้อนจี๋ หากมีอยู่ในมือเมื่อไหร่ เราจะรีบเหวี่ยงมันทิ้งไป ฉันใด

ความคิดเปรียบเทียบที่ทำให้เรารุ่มร้อนใจ ก็ต้องทิ้งมันไป ฉันนั้น

สำหรับคนไทย และพุทธศาสนิกชนทั่วไป เราโชคดียิ่ง ที่มีศาสตร์ลึกซึ้งของการทำสมาธิ และมีสติอยู่กับปัจจุบัน

เหลือเพียงฝึกฝน จน Flow ได้..ไม่หนีความพยายามค่ะ