เศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่ที่อ่อนแอ

เศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่ที่อ่อนแอ

ขณะที่ภาพเศรษฐกิจช่วงสั้นในปีนี้ยังคงเปราะบาง จากการแถลงสถานการณ์เศรษฐกิจ

 ประจำเดือนมิถุนายนล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นโดยเฉพาะสินค้าจำเป็นและบริการ แต่ก็ยังมีปัจจัยถ่วงคือ จากรายได้เกษตรกรที่อ่อนแอ ขณะที่รายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรยังค่อนข้างทรงตัว ต่อมาคือความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ถูกบั่นทอนที่สืบเนื่องจากข่าวภัยแล้ง รวมถึงการส่งออกที่ติดลบหนักที่สุดในรอบ 6 เดือน ซึ่งการส่งออกในเดือนมิ.ย.ลดลงถึง 7.87% ทำให้การส่งออกรวมในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลงถึง 4.84% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และปัจจัยสุดท้ายมาจากการที่สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น นอกจากนี้ ธปท.ระบุว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งท่าให้ภาวะการค้าในภูมิภาคซบเซาลง รวมถึงอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ยังไม่เข้มแข็ง ท่าให้ธุรกิจลดการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการลดลงของสินค้าคงคลัง

โดยที่ทางด้านการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตนั้นถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ เพราะกำลังการผลิตที่มีเหลือเฟือ โดยที่ภาคเอกชนยังคงรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการระมัดระวังการให้สินเชื่อบางกลุ่มของสถาบันการเงินในประเทศ โดยเฉพาะปริมาณสินเชื่อใหม่ที่ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า มาจากสาเหตุส่วนหนึ่งเพราะธุรกิจขนาดใหญ่ได้ระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ในช่วงที่ผ่านมา ด้านนำเข้ามีการปรับสูงขึ้นเพราะในส่วนของน้ำมันดิบและเครื่องบิน แต่การนำเข้าสินค้าอื่นๆยังคงทรงตัวเนื่องจากการผลิตและอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบอยู่ 1.07% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ 0.94% สำหรับฐานะดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายมีการเกินดุล เนื่องมาจากการกู้ยืมสินเชื่อระยะสั้นจากต่างประเทศและการถอนเงินฝากจากต่างประเทศของสถาบันการเงินรวมจำนวน 2,659 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรง หรือ FDI ที่เข้ามาในจำนวน 1,784 ล้านดอลลาร์ แต่สวนทางกับเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดบอนด์จำนวน 1,630 ล้านดอลลาร์

ภาพของเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอในระยะสั้นนี้ ได้สะท้อนผ่านมายังที่ค่าเงินบาทของไทยได้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในวันศุกร์ลงมาอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 35.2730 ต่อดอลลาร์ในช่วงระหว่างเทรด โดยลดลงเกือบ 1% จากระดับ 34.9590 บาทต่อดอลลาร์ซึ่งเป็นราคาปิดในวันที่ 29 กรกฎาคม ค่าเงินบาทในขณะนี้จึงยังมีความเสี่ยงในทิศทางที่จะอ่อนตัวลงอีก ขณะที่ภาพเศรษฐกิจในระยะปานกลางจนถึงในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า โดย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ในฐานะผู้จัดทำรายงานเรื่องเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่ หรือ Thailand’s New Normal ที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้เป็นไปอย่างเชื่องช้าและเปราะบาง และจำเป็นต้องปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน โดยชี้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมามีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ซึ่งได้แรงหนุนจากภาคการส่งออกที่เติบโตเฉลี่ยปีละมากกว่า 10% และยังได้แรงหนุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แต่ภายใต้บริบทใหม่ของเศรษฐกิจไทยจากนี้ไปอีกอย่างน้อย 5 ปีข้างหน้า เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียงปีละ 3% ขณะที่การส่งออกก็ไม่น่าจะสูงเกินปีละ 4%

สาเหตุเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยตัวอย่างชัดเจนมาจากการส่งออกที่ลดลงมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่หลายฝ่ายพยายามจะบอกว่า เกิดจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากที่เคยขยายตัวได้เฉลี่ยราว 10% ระหว่างปี 2541-2551 ก็ลดเหลือเพียงปีละ 0.9% ระหว่างปี 2554-2557 ทำให้คิดไปว่าน่าจะเกิดขึ้นชั่วคราว แต่ส่วนที่สำคัญกว่านั้นมาจากรูปแบบการค้าโลกที่เปลี่ยนไปเพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไม่ได้ทำให้เกิดการค้ามากขึ้นเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งสภาพการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคด้วยกันเอง เช่นในกรณีที่มูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าไทยถึง 40% โดยสะท้อนผ่านให้เห็นจากเมื่อเร็วๆ นี้ ซัมซุงได้ปิดฐานการผลิตทีวีในไทย และไปตั้งโรงงานใหม่ในเวียดนามด้วยเงินลงทุนมูลค่าถึง 90,000 ล้านบาท นอกจากนี้นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นปีที่ไม่ค่อยดีสำหรับความสามารถแข่งขันของไทย จากสัญญาณของค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งทำให้ส่งออกหดตัวหนัก แม้เริ่มฟื้นตัวแต่ก็ฟื้นอย่างช้าๆ จนในที่สุดการส่งออกกลับติดลบอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน