ลูกหนี้ เจ้าหนี้ และประชาธิปไตย : บทเรียนจากกรีซ 2015

ลูกหนี้ เจ้าหนี้ และประชาธิปไตย : บทเรียนจากกรีซ 2015

ประเด็นร้อนแรงในรอบเดือนกรกฎาคม 2015 หนีไม่พ้นมหกรรมการปรับโครงสร้างหนี้และวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงของกรีซ

ซึ่งยืดเยื้อกลายเป็นมหากาพย์ข้ามชาติที่เกี่ยวพันโยงใยทุกมิติ ทั้งการเงิน เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งยังโยงไปถึง “อัตลักษณ์ของชาติ”

ผู้เขียนเคยเขียนถึงปัญหาคอร์รัปชันและหนี้สาธารณะของรัฐบาลกรีซในอดีต ในบทความ “เทคนิคการ “ซุกหนี้” ของรัฐบาลกรีก” ลงคอลัมน์นี้เมื่อต้นปี 2555 วันนี้ผ่านไปสามปีกว่า กรีซผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ก็นับเป็นโอกาสดีที่จะได้เขียนถึงกรีซอีกครั้งหนึ่ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การซุกหนี้และตกแต่งตัวเลขทางเศรษฐกิจของกรีซในอดีต เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้กรีซได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ถ้ามองในภาพใหญ่ สหภาพยุโรปก็เป็นโครงการ “ทางการเมือง” มากกว่าทางเศรษฐกิจเสมอมา พยายามหลอมรวมยุโรปเป็นปึกแผ่นภายใต้สกุลเงินเดียวกัน ดังสะท้อนในข้อเท็จจริงที่ว่า แม้ประเทศใหญ่อย่างเยอรมนีและฝรั่งเศสก็เคยผิด “ข้อตกลงว่าด้วยเสถียรภาพและการเติบโต” (Stability and Growth Pact: SGP) ของสหภาพยุโรป และผิดมากกว่าหนึ่งครั้ง เพราะกติกาตามข้อตกลงนี้ถูกตีความอย่างหลวมๆ และยืดหยุ่นอย่างเอาอกเอาใจ เพื่อให้ประเทศสมาชิกไม่พ้นสภาพสมาชิกได้ง่ายๆ

ปัญหาการซุกหนี้ คอร์รัปชันเอื้อพวกพ้อง เมกะโปรเจกต์ไร้ค่า และประชานิยมสูญเปล่า (ซึ่งที่จริงควรเรียกว่า “ข้าราชการนิยม” มากกว่า เพราะประชานิยมส่วนใหญ่เอาใจข้าราชการ) ของรัฐบาลกรีซในอดีตมีผู้สาธยายไปมากแล้ว แต่ประเด็นที่น่าสังเกตคือ ไม่ใช่ว่าเจ้าหนี้ของกรีซไม่รู้ว่าลูกหนี้รายนี้นิสัยไม่ดีอย่างไร แต่เนื่องจากกฎเกณฑ์ธนาคารของยุโรปกำหนดว่า หนี้ของประเทศสมาชิกมีค่า “น้ำหนักความเสี่ยง” (risk weight) เป็นศูนย์ ทำให้ธนาคารต่างๆ แทบไม่มีต้นทุนเลยในการปั๊มเงินฝากมาปล่อยกู้ให้กรีซ นอกจากนี้ ยังมองว่าหนี้กรีซไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะใช้สกุลเงินร่วมคือยูโร ไม่ใช่สกุลเงินของตัวเอง

ในเมื่อหนี้ของกรีซถูกมองในสายตาของกฎเกณฑ์ว่า ปลอดความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระ และถูกมองในสายตาของธนาคารว่า ปลอดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ก็เท่ากับว่าระบบการเงินของยุโรป ถูกออกแบบมาเอื้อให้ธนาคารอยากปล่อยกู้แก่ประเทศที่รัฐบาลนิสัยไม่ดี หรือมีสถานะทางการเงินง่อนแง่นทั้งหลาย ตั้งแต่กรีซ สเปน โปรตุเกส และอิตาลี โดยกล่อมตัวเอง (และผู้ถือหุ้นธนาคาร) ว่า ถึงแม้บางประเทศจะอ่อนแอ สหภาพยุโรปต้องผนึกกำลังกันแก้ปัญหาได้แน่ๆ

 ปัญหาของกรีซจึงไม่ได้เกิดจาก “ลูกหนี้” เสียนิสัยเพียงฝ่ายเดียว ฝ่าย “เจ้าหนี้” ก็มีส่วนผิดเช่นกัน จะโทษลูกหนี้ฝ่ายเดียวไม่ได้

เหตุการณ์นี้มีส่วนคล้ายกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกาปี 2551-2552 กล่าวคือ ลูกหนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยมีส่วนผิด เพราะหลายคนโกหกธนาคารว่า มีรายได้สูงกว่าที่ตัวเองหาได้ แต่ธนาคารเจ้าหนี้ที่ปล่อยสินเชื่อบ้านก็มีส่วนผิดเช่นกัน เพราะปล่อยปละละเลย ยอมปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่ไม่มีปัญญาจ่ายคืน (การเติบโตของวงการแปลงสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ หรือเรียกว่า Mortgage-backed Securities หรือ MBS ซ้ำเติมให้แรงจูงใจของเจ้าหนี้แย่กว่าเดิม เพราะโยกความเสี่ยงไปไว้กับนักลงทุน)

ในเมื่อลูกหนี้และเจ้าหนี้มีส่วนผิดทั้งคู่ และเรากำลังพูดถึง “หนี้ระดับชาติ” ซึ่งกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนไปจนถึงคนรุ่นหลัง วิธีแก้ปัญหาหนี้กรีซที่ถูกต้อง จึงไม่ใช่การตั้งเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเคร่งครัด บีบเค้นให้คืนเงินเจ้าหนี้ทุกบาททุกสตางค์ หากแต่ต้องวางเงื่อนไขปรับโครงสร้างที่ให้เวลากับลูกหนี้ในการปรับตัวและปฏิรูป ขณะเดียวกัน ก็ต้องไปแก้ไขความผิดพลาดของกฎกติกาและแรงจูงใจ ที่เอื้อให้ธนาคารเอกชนปล่อยกู้ไม่บันยะบันยัง ให้ลูกหนี้ใช้เงินกู้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ธนาคารเจ้าหนี้ต้องยอมรับหนี้เสีย ยอมยกหนี้บางส่วนให้กรีซ ธนาคารบางแห่งอาจต้องถูกปรับโครงสร้างหรือรัฐต้องเข้ามาอุ้ม

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 กลับกลายเป็นซ้ำเติมกรีซ มหกรรมปรับโครงสร้างหนี้ครั้งแรกรีไฟแนนซ์หนี้ของภาคเอกชน (ธนาคารเป็นเจ้าหนี้) มาเป็นหนี้สาธารณะ (สหภาพยุโรปกับไอเอ็มเอฟเป็นเจ้าหนี้) “ทรอยก้า” (Troika ชื่อเรียกคณะกรรมาธิการยุโรป, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป) ร่วมกันตกลงอัดฉีดเงินให้กรีซ ไหลต่อไปเข้ากระเป๋าธนาคารเจ้าหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารเยอรมันและฝรั่งเศส

จนถึงวันนี้หนี้กรีซบานสะพรั่งกว่า 10,000 ล้านยูโร หรือเกินสี่แสนล้านบาท เพราะกรีซต้องกู้หนี้ใหม่มาจ่ายหนี้เก่า แถมยังจัดการเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ เช่น ไม่อาจทำให้ค่าเงินอ่อนเพื่อเพิ่มการส่งออก เพราะใช้เงินยูโร สิ่งที่ทำได้หลักๆ คือพยายามสร้างกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งก็ติดข้อจำกัดตามเงื่อนไขสุดโหดของไอเอ็มเอฟ

ถึงแม้รัฐบาลกรีซจะทำตามเงื่อนไขส่วนใหญ่ของเจ้าหนี้แล้ว ตั้งแต่การหั่นเงินเดือนข้าราชการ หั่นงบประมาณภาครัฐ หั่นเงินบำนาญ ขึ้นภาษี และแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน จีดีพีของกรีซกลับดำดิ่งลงเรื่อยๆ จนเศรษฐกิจหดตัวถึง 25% ในปี 2556 จากระดับปี 2550 (รุนแรงกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงหรือ Great Deprssion ของอเมริกาเมื่อแปดสิบปีก่อน) นับเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า แพ็คเกจรัดเข็มขัดของเจ้าหนี้ล้มเหลว

จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวกรีซส่วนใหญ่จะโหวต “ไม่รับ” ข้อเสนอแพ็คเกจรัดเข็มขัดรอบล่าสุด ในการลงประชามติวันที่ 5 กรกฎาคม 2558 (แต่รัฐบาลก็ต้องยอมเจรจาอยู่ดี)

สองวันถัดมา นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำระดับโลกห้าคน ได้แก่ Thomas Piketty, Jeffrey Sachs, Heiner Flassbeck, Dani Rodrik และ Simon Wren-Lewis ออกจดหมายเปิดผนึกถึง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันและผู้กุมอำนาจนำในทรอยก้า เรียกร้องให้ปรับโครงสร้างหนี้กรีซรอบใหม่ ในทางที่ “เปิดพื้นที่ให้เศรษฐกิจกรีซได้หายใจ” เพราะ “ยาที่กระทรวงการคลังเยอรมันและบรัสเซลส์ (หมายถึงธนาคารกลางยุโรป) จ่ายให้นั้น ทำให้คนไข้เลือดออกจวนจะหมดตัว ไม่ได้รักษาโรคแต่อย่างใด”

(อ่านต้นฉบับได้จาก http://www.thenation.com/article/austerity-has-failed-an-open-letter-from-thomas-piketty-to-angela-merkel/)