เศรษฐกิจจีนและค่าเงินหยวน

เศรษฐกิจจีนและค่าเงินหยวน

การที่จะต้องเขียนถึงเศรษฐกิจจีน ก็เพราะว่ามีความเป็นห่วงเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของจีนและการลดค่าเงินหยวน

ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะจีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย (ประมาณ 12% ของการส่งออกทั้งหมด) และการส่งออกของไทยอีกเกือบ 25% ไปที่อาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่ก็พึ่งพาการส่งออกไปจีนอีกเช่นกัน ดังนั้น การส่งออกของไทยกว่า 1/3 น่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน (หากรวมญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ก็จะเพิ่มอีกกว่า 10% ของการส่งออกไทย)

นอกจากนั้น จีนก็ยังเป็นผู้ซื้อสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก ดังนั้น หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงและ/หรือ จีนลดค่าเงินหยวน ก็จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1/5 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ได้รับผลกระทบในเชิงลบอีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้น จึงควรมาประเมินสภาวะเศรษฐกิจของจีนและความเป็นไปได้ที่เงินหยวนจะอ่อนค่าลงมาน้อยเพียงใดหรือไม่

สำหรับเศรษฐกิจจีนนั้น ตัวเลขของทางการประเมินว่าจีดีพีขยายตัวที่ 7% ทั้งในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปีนี้ ซึ่งตลาดมองว่าเศรษฐกิจจีนอาจไม่ได้สูงเช่นนั้น แต่เป็นเป้าหมายขั้นต่ำของรัฐบาลจีน ซึ่งนักลงทุนตั้งข้อสังเกตว่า ยอดการใช้ไฟฟ้าของจีนขยายตัวต่ำมาก ซึ่งน่าจะสะท้อนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมิได้ขยายตัวมากถึง 7% ข้อมูลที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งคือ การสำรวจความเห็นของนักลงทุนสถาบันทั่วโลกของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินซ์ (ซึ่งเป็นพันธมิตรของภัทรฯ) ช่วงวันที่ 20-22 กรกฎาคม พบว่านักลงทุน 40% มองว่า เศรษฐกิจจีนขยายตัวเพียง 5-6% อีก 25% มองว่าขยายตัวเพียง 4-5% และ 13% มองว่าเศรษฐกิจจีนขยายตัวเพียง 3-4% (ประมาณ 2% เชื่อว่าขยายตัวต่ำกว่า 3%) มีเพียง 24% เห็นว่าเศรษฐกิจจีนขยายตัว 6-7% ตามตัวเลขของทางการ

ประเด็นที่ตามมาคือ ทางการจีนจะต้องดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ธนาคารกลางจีนจะต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลง (ประมาณ 0.5%) และลดการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (Reserve Requirement Ratio) ของธนาคารลงไปอีก (ประมาณ 1.0%) แต่การผ่อนคลายทางการเงินดังกล่าว ย่อมหมายถึงปริมาณเงินหยวนในระบบจะต้องเพิ่มขึ้นต่อไป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงว่าเงินหยวนจะสามารถอ่อนค่าลงไปอีก ซึ่งผมขอเปรียบเทียบว่า เงินก็เหมือนกับสินค้าทุกชนิด กล่าวคือหากมีผลผลิตข้าวออกมามาก ราคาข้าวก็จะต้องมีแนวโน้มลดลงฉันใด การเพิ่มปริมาณเงินและสภาพคล่องทางการเงินในระบบ ก็ย่อมจะทำให้เงินอ่อนค่าลงฉันนั้น

ก่อนที่จะกล่าวถึงค่าเงินหยวน ผมของกล่าวถึงรายละเอียดบางประการ ของการสำรวจความเห็นของนักลงทุนของแบงก์ ออฟ อเมริกา ว่า การสำรวจความเห็นที่อ้างถึงข้างต้นนั้น ได้ตีพิมพ์ออกมาในวันที่ 26 กรกฎาคม โดยเป็นผลจากการสำรวจความเห็นของนักลงทุน 66 คน ซึ่งมีวงเงินที่รับผิดชอบและบริหารมูลค่ารวมทั้งสิ้น 320,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ โดย 33% เป็นผู้ที่ลงทุนระยะยาวในตลาดเกิดใหม่ 12% ลงทุนในหลายรูปแบบและ 55% คือนักลงทุนแบบเฮ็ดฟันด์หรือลงทุนแบบประกันความเสี่ยง แบ่งออกเป็นภูมิภาคคือ สหรัฐ 32% ตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออก 26% เอเชีย 23% และลาตินอเมริกา 19%

สำหรับค่าเงินหยวนนั้น ต้องขอกล่าวถึงอดีตว่า จีนยุติการผูกค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2005) ตอนนั้นเงิน 1 ดอลลาร์แลกได้ 8.2 หยวน และจากนั้นเป็นต้นมาถึงช่วงกลางปี 2008 (ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐจะปะทุขึ้นจนกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลก) เงินหยวนก็แข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะการปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าตามปัจจัยพื้นฐาน และอีกส่วนหนึ่งเพราะจีนถูกโจมตีจากทุกฝ่าย (โดยเฉพาะสหรัฐ) ว่าเงินหยวนอ่อนค่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานอย่างมาก ดังนั้น เงินหยวนจึงได้แข็งค่าขึ้นเป็น 6.83 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ ในเดือนกรกฎาคม 2008 และอยู่ที่ระดับนั้นต่ออีก 2 ปี จึงได้แข็งค่าขึ้นต่อเป็น 6.2 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ในปัจจุบัน ดังนั้น คำถามคือทำไมจึงเชื่อว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงไปอีกเพราะปัจจุบันจีนก็ยังได้ดุลการค้ากับสหรัฐ และได้ดุลการค้าตลอดจากเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง

คำตอบคือน่าจะมีปัจจัย 3 ประการทำให้เงินหยวนอ่อนค่า ได้แก่

    1. ยังมีความพยายามที่เศรษฐีจีนจะพยายามถอนเงินออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าถึงล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งแม้จีนจะมีทุนสำรองมูลค่ามากถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ มารองรับ แต่ก็จะเป็นแรงกดดันเงินหยวนให้อ่อนค่าต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเงื่อนไขที่ธนาคารกลางของจีน จะลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง

    2. จีนกำลังเจรจากับไอเอ็มเอฟ เพื่อให้อนุมัติเห็นชอบให้เงินหยวนเป็นเงินอีกสกุลหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการประเมินมูลค่าของเงินไอเอ็มเอฟ คือ Special Drawing Rights (SDR) ซึ่งแม้ว่าการที่เงินหยวนจะเข้าไปอยู่ในตะกร้าของ SDR ดังกล่าว จะมีผลในเชิงปฏิบัติน้อยมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่จีนให้ความสำคัญ เพราะจะเป็นหน้าตาของจีน ที่เงินหยวนกำลังก้าวไปสู่การเป็นเงินสกุลหลักของโลก ที่ธนาคารกลางหลายประเทศ จะต้องถือไว้เป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองของตน แต่จีนจะต้องผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ที่ควบคุมเงินหยวน กล่าวคือ ค่าเงินหยวนจะต้องถูกกำหนดโดยกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง และนโยบายการเงินผ่อนคลายขึ้น ก็น่าจะทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลง โดยแบงก์ ออฟ อเมริกา คาดการณ์ว่า เงินหยวนจะอ่อนค่าจาก 6.2 หยวน ในขณะนี้ไปเป็น 6.5 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ ในปลายปี 2016 ซึ่งเป็นการอ่อนค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปที่ 36 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ภายในปลายปี 2016 แต่หากไอเอ็มเอฟปฏิเสธไม่นำเอาเงินหยวนไปคำนวณค่าใน SDR เงินหยวนอาจจะอ่อนลงกว่าที่คาด เพราะจีนอาจต้องการให้เงินหยวนอ่อนค่า เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจังก็เป็นได้

    3. แม้ว่าเงินหยวนจะถูกนำไปคำนวณใน SDR ตามที่จีนต้องการ แต่หากจีนจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นไปได้ว่าปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลง มากกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ เช่น ในแบบสอบถามนักลงทุน ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ประมาณ 45% มองว่าค่าเงินหยวนน่าจะมีเสถียรภาพไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และอีก 7% มองว่า เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น แต่ 48% มองว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลง ซึ่งน่าจะแปลว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่เมื่อถามว่านักลงทุนกลัวความเสี่ยงอะไร (ที่คิดว่าไม่น่าเกิดขึ้น แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะเสียหาย) มากที่สุด คำตอบคือ 45% กลัวการกระแทกลงของเศรษฐกิจ (hard landing) ของจีนมากที่สุด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น สิ่งที่น่าจะตามมาคือการลดค่าของเงินหยวนอย่างมีนัยสำคัญ (ลำดับต่อมาคือ การปรับลงของราคาพันธบัตรรัฐบาล การแข็งค่าของดอลลาร์ และการที่กรีกจะต้องออกจากเขตเศรษฐกิจที่ใช้เงินยูโร)  

    อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าประเด็นที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนและค่าเงินหยวนนี้ คงจะมีความชัดเจนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ภายในปลายไตรมาส 3 นี้ แต่จากวันนี้ไปถึงวันนั้นคงจะต้องเผชิญกับความผันผวนอีกไม่ใช่น้อยครับ