ไม่มีสัญญาณจากเฟด แต่ต้องระวัง

ไม่มีสัญญาณจากเฟด แต่ต้องระวัง

แม้มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำเพียงเล็กน้อย ในแถลงการณ์ล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด

 หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมครั้งนี้ แต่บรรดานักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ พากันลงความเห็นว่าในการประชุมวันที่ 17 กันยายน หรืออีกเกือบ 2 เดือนนับจากนี้ น่าจะเป็นเวลาของเฟดในการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากระดับปัจจุบันที่ 0-0.25% หลังจากแสดงท่าทีมาหลายเดือนว่าจะเริ่มเคลื่อนไหวก็ต่อเมื่อเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งเพียงพอ

ปัจจัยที่เฟดจับตาเป็นพิเศษ คือตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในแถลงการณ์ล่าสุดนั้นธนาคารกลางสหรัฐก็มองโลกแง่ดีด้วยความระมัดระวังว่าสภาพเศรษฐกิจกำลังกลับสู่ความเป็นปกติ เห็นได้จากคำบรรยายที่ว่า “ตลาดแรงงานกระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างงานอย่างแข็งแกร่ง และอัตราว่างงานลดลง” แต่เฟดก็ไม่ได้ระบุมาอย่างชัดเจนว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร โดยบอกเพียงว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายคาดว่าจะเป็นการเหมาะสมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้่ยเมื่อตลาดแรงงานกระเตื้องขึ้น

เมื่อพิจารณาแถลงการณ์ของเฟด ประกอบคำพูดของประธานธนาคารกลางสหรัฐ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยด้วยการระบุว่าหากสภาพเศรษฐกิจดำเนินไปเช่นนี้ ก็เป็นการเหมาะสมที่จะขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ ซึ่งทั้งแถลงการณ์ของเฟดและถ้อยแถลงของประธาน เป็นสิ่งใกล้เคียงที่สุดเท่าที่เฟดจะบอกได้ว่ากำลังจะมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น ดังนั้นข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญๆ ที่จะรายงานออกมาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน จะเป็นได้ทั้งเครื่องยืนยัน หรืออาจทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนคาดหมายถึงการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ถือเป็นสิ่งสำคัญหลังจากอยู่ในระดับต่ำมาตั้งแต่ภาวะถดถอยเริ่มขึ้นเมื่อเดือนธ.ค. 2551 โดยหากเฟดเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายน ก็จะเป็นการแสดงถึงความมั่นใจในสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐ รวมถึงทิศทางของสภาพเศรษฐกิจ ขณะที่ในส่วนของนักลงทุนนั้น บ้างก็วิตกว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ราคาหุ้นลดลง ทั้งยังอาจกระทบต่อนักลงทุนในตลาดเกิดใหม่ เพราะการเคลื่อนไหวของเฟดในอดีตที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการเทขายครั้งใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนา

ประธานธนาคารกลางสหรัฐระบุว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบาย พิจารณาจากข้อมูลเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าเฟดจะไม่ประกาศออกมาตรงๆ ว่าจะทำอะไร แต่ข้อมูลสำคัญที่รายงานในระยะหลัง ใกล้เคียงกับระดับที่เฟดระบุว่าต้องการเห็น อย่างอัตราว่างงานที่ลดลงเหลือ 5.3% ในเดือนมิ.ย. จากระดับสูงสุด 10% เมื่อปี 2552 สำหรับเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 1.8% เมื่อเดือนมิ.ย. อันใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ 2%

นักเศรษฐศาสตร์มองว่าแถลงการณ์ของเฟดในการประชุมครั้งหลังสุดนี้ เหมือนครั้งก่อนๆ นั่นคือเปิดทางเลือกด้านการดำเนินนโยบายไว้ ดังนั้นการเคลื่อนไหวของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จึงยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตา เพราะความไม่แน่นอนยังมีอยู่ ประกอบกับการเคลื่อนไหวครั้งที่ผ่านมาของเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ ล้วนสร้างความผันผวนแก่ตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่อย่างไทยด้วย