เร่งขับเคลื่อนลงทุนภาครัฐ ตัวแปรเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง

เร่งขับเคลื่อนลงทุนภาครัฐ ตัวแปรเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง

ผ่านเข้าสู่ครึ่งหลังของปีมา 1 เดือน ความคาดหวังว่าภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อจะปรับตัวดีขึ้น

   อย่างต่อเนื่องในครึ่งปีหลังดูท่าจะห่างไกลความเป็นจริง ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัจจัยลบรอบด้าน โดยเฉพาะรายได้หลักของประเทศจากภาคการส่งออกถดถอยหนัก ตัวเลขส่งออกเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมูลค่า 18,162 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.87% โดยยอดส่งออก 6 เดือนแรก ปีนี้ มีมูลค่า 106,856 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.84% ยอดส่งออกที่ “ติดลบ” ดังกล่าว เป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 6 เดือน

ขณะที่การบริโภคในประเทศอาจยังไม่ถึงขั้นชะงักงัน แต่การจับจ่ายชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจาก “ดัชนีค้าปลีก” ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่าภาพรวมธุรกิจค้าปลีกมูลค่า 3 ล้านล้านบาท ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเติบโตเพียง 2.8% ต่ำกว่าคาดการณ์ในช่วงต้นปีที่มองว่าธุรกิจน่าจะเติบโตระดับ 6% นับว่า “ต่ำสุด” ในรอบ 4-5 ปี ซึ่งธุรกิจค้าปลีกมีอัตราการเติบโต 8-12% โดยหากบรรยากาศจับจ่ายใช้สอยกระเตื้องขึ้น จะทำให้ตัวเลขรวมปีนี้ยืนการเติบโตในอัตรา 3-3.2% ได้

ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญที่เป็นความคาดหวังสูงสุดของภาคเอกชน ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค คือ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กระทบต่อสภาพคล่องทั้งระบบ เมื่อการเบิกจ่ายและขับเคลื่อนการลงทุนล่าช้า ไม่เกิดความเคลื่อนไหวของการทำธุรกรรม ไม่มีการจ้างงาน กระทบต่อตลาดแรงงานโดยตรง และมีผลเกี่ยวเนื่องต่อหลายภาคส่วนธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จึงไม่เกิดเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ

ผู้บริโภคระดับกลาง-ล่าง ฐานใหญ่ของประเทศ เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการจับจ่ายใช้สอย แต่เวลานี้คือกลุ่มที่มีปัญหากำลังซื้อชะลอมากสุด โดยเฉพาะกลุ่มระดับล่าง คือ “แรงงาน” จำนวนมหาศาลที่จะเกิดขึ้นและมีรายได้จากโครงการเมกะโปรเจกต่างๆ นั่นเอง เมื่อไม่เกิดการลงทุนย่อมไม่เกิดการจ้างงาน ไม่มีรายได้ นำไปสู่การจับจ่าย

สถานการณ์กำลังซื้อผู้บริโภคไทยเปราะบางจากปัจจัยลบรอบด้านจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนในระดับสูง ราคาพืชผลเกษตรปรับตัวลดลง โดยเฉพาะสินค้าหลัก ข้าว ยางพารา ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปี แม้กระทั่งการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ส่งผลเสียเชิงเศรษฐกิจและกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีผลทำให้เกิดชะลอหรือหยุดเดินทางได้เช่นกัน  

เหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ่ต้องรับมืออย่างต่อเนื่องในครึ่งปีหลังที่ทุกฝ่ายกำลังลุ้นกันตัวโก่งว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ผู้ประกอบการในหลายธุรกิจทั้งอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก รถยนต์ ฯลฯ กำลังจับตามองสถานการณ์ไตรมาสสามจะออกหัวหรือก้อย เพื่อทบทวนและตัดสินใจว่าจะเดินหน้า ชะลอ หรือ จำเป็นต้องพักการลงทุน หากหลายๆ ตัวเลขเศรษฐกิจยังคงปักหัวลง 

การลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัว ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ที่ต้องอาศัยฟันเฟืองหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนของภาคเอกชน ส่วนใหญ่ยังมองว่า “สัญญาณบวก” ที่จับต้องได้เวลานี้  มีเพียงมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของประเทศไว้ชัดเจน ขอเพียงเร่งขับเคลื่อน!! เชื่อว่าจะเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้เร็วขึ้นแน่นอน