ธุรกิจจะสำเร็จหรือไม่ หาใช่พิจารณาเพียงค่าเงิน

ธุรกิจจะสำเร็จหรือไม่ หาใช่พิจารณาเพียงค่าเงิน

การอ่อนค่าของเงินบาทในห้วงเวลานี้ หาใช่ปัจจัยหลักเพียงปัจจัยเดียว ที่จะทำให้ผู้ส่งออกก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงได้

แม้เงินที่อ่อนค่าลงจะทำให้เพิ่มโอกาสทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่นักธุรกิจ หรือผู้ที่ทำธุรกิจจริงจัง ไม่ได้เป็นนักเก็งกำไร นักเล่นแร่แปรธาตุคงไม่รู้สึกอะไรเท่าไร เพราะต้องทำประกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า ซึ่งประเทศไทยประสบการเปลี่ยนแปลงค่าเงินมายาวนานเฉียด 20 ปี ฉะนั้น แวดวงธุรกิจรายใหญ่ๆ จึงเตรียมพร้อมรับมือค่าเงินกันไว้เกือบทั่วหน้า หากสิ่งที่เอกชนกังวลมากที่สุดเป็นเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่า

จากเวทีสัมมนา “สถานการณ์ลงทุนไทย เชื่อมั่นแค่ไหนในปี 2558” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด 

นายยูทากะ วากามัสสึ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ระบุว่า ปัจจัยที่แท้จริงที่อยู่ในข่ายการพิจารณาการลงทุนหรือไม่ คือเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งพบว่าไทยเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของญี่ปุ่น แม้การลงทุนของญี่ปุ่นในภาพรวมจะมีมูลค่าลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในอาเซียนและจีนพบว่าการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยยังอยู่ในอัตราสูง สาเหตุสำคัญมาจากพื้นฐานการลงทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมถึงปัจจัยการลงทุนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการลงทุนช่วงปี 2555-2556 มีอัตราขยายตัวสูงขึ้น 

ขณะที่ นายศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มที่ปรึกษาเศรษฐกิจและธุรกิจ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย จากการส่งแบบสอบถาม 600 บริษัทที่เป็นนักลงทุนต่างชาติในหลากหลายประเภทธุรกิจ แบ่งเป็นการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว 300 บริษัท และแบบตอบกลับทางไปรษณีย์ 300 บริษัท และสัมภาษณ์เชิงลึกอีก 25 บริษัท พบว่า ปี 2558 กลุ่มตัวอย่าง 436 ราย หรือ 73% จะรักษาระดับการลงทุนในประเทศไทย 151 ราย หรือ 25% จะขยายการลงทุน และ 12 ราย หรือ 2% จะลดระดับการลงทุน และ 1 ราย จะถอนการลงทุน โดยกลุ่มที่ตอบว่าจะลงทุนเพิ่มเป็นกลุ่มธุรกิจบริการและสาธารณูปโภค ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และธุรกิจผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งตามลำดับ โดยเหตุผลหลักของการลดระดับการลงทุน หรือถอนการลงทุนในปี 2558 สาเหตุ 62% มาจากความต้องการของตลาดในประเทศต่ำเกินไป และ 54% การแข่งขันตลาดในประเทศรุนแรง

นายทักษ์ ศรีรัตโนภาส กรรมการคณะกรรมการกลุ่มความร่วมมือองค์กรระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาลำดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยอยู่ระดับคงที่ ชี้ให้เห็นว่าภาคการผลิตและการลงทุนกำลังอยู่ในจุดอิ่มตัว จึงควรเร่งปรับแผนการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ผ่านการใช้นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนารวมถึงการกำหนดทิศทางการลงทุนของประเทศให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนแห่งภูมิภาค ก่อนที่ขีดความสามารถของไทยจะถูกแทนที่จากคู่แข่งที่กำลังน่าสนใจลงทุนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ซึ่งไทยต้องเร่งผลิตทรัพยากรบุคคลตรงความต้องการของตลาดแทนที่จะมีแต่คนจบปริญญาตรีแต่ขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเหมือนปัจจุบัน

ผลสำรวจ และความคิดเห็นจากภาคเอกชนน่าจะมีประโยชน์ หากภาครัฐนำไปใช้วางแผน และจัดการนโยบายเพื่อเอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนแต่ละระยะ เพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชน ซึ่งน่าจะทำให้ได้เสียงสรรเสริญสืบต่อไปดีกว่าการทุ่มเถียง วิวาทะกันไปวันๆ