ธรรมาภิบาลกับตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ธรรมาภิบาลกับตลาดหุ้นญี่ปุ่น

สัปดาห์ที่แล้วได้เกิดเหตุการณ์ที่ถือว่าสะเทือนขวัญ ต่อภาพรวมบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่น

ถึงขนาดรัฐมนตรีกระทรวงการคลังญี่ปุ่น นายทาโร่ อาโซ่ ได้กล่าวว่า อาจทำให้เกิดความระแวงต่อความโปร่งใสของวงการตลาดทุนญี่ปุ่น อาจเรียกได้ว่า น้องๆ เหตุการณ์ที่เกิดกับ Enron กันเลย นั่นคือ การลาออกของประธานบริษัทโตชิบา นายฮิเซา ทานากา ด้วยข้อหาการประกาศผลกำไรของบริษัทที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงถึง 1.56 แสนล้านเยน (ดังรายละเอียดรูปที่ 1)

ความเป็นมาของการเกิดเหตุการณ์อันระทึกขวัญดังกล่าว เกิดมาตั้งแต่ยุคของประธานบริษัทก่อนหน้าสองคนก่อน (ดังรูปที่ 2)

แต่เดิมในช่วง 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งยังไม่มีคู่แข่งทางธุรกิจที่สำคัญอย่าง Apple และ Samsung โตชิบา ภายใต้การนำของประธานบริษัท นามว่า นายอัตซูโตชิ นิชิดา ถือได้ว่าเป็นบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไอที ระดับ Top 5 ของโลก ซึ่งนายนิชิดานั้น ก็มีความมั่นใจว่าจะพาบริษัทให้ก้าวไปเป็นผู้นำของตลาดดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดี ช่วงปี 2009 ที่เกิดวิกฤติซับไพร์ม ซึ่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ตกต่ำเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทที่มาแรงอย่าง Apple เริ่มจะออกไอโฟนรุ่นที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดอย่างไอโฟนรุ่น 3 ส่งผลให้นายนิชิดาจึงเริ่มต้องหาผู้สืบทอดที่มีไฟแรงเพื่อมาต่อสู้กับความท้าทายดังกล่าว จึงได้ดันนายโนริโอ ซาซากิ ให้ขึ้นแท่นประธานบริษัทคนใหม่

ในปีแรกหรือปี 2009 นายซาซากิก็ไม่ได้ทำให้เจ้านายป๋าดันท่านนี้ผิดหวัง สามารถทำกำไรให้โตชิบาได้สูงกว่าปีที่แล้วพอสมควร อย่างไรก็ดี เมื่อ Apple เริ่มออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างไอแพดและไอโฟนรุ่น 4 ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดในตลาดโลกของโตชิบาเริ่มลดลงๆ อย่างรวดเร็ว จนในปี 2010 ผลกำไรของโตชิบาต้องทรุดลงอย่างหนัก ซึ่งตรงจุดนี้ ทำให้นายซาซากิและป๋าดันอย่างนายนิชิดา เริ่มไม่ลงรอยกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ มีการจ้องเลื่อยขาเก้าอี้ของนายซาซากิอยู่บ่อยครั้งมาก และตัวนายนิชิดาเอง ก็ได้กล่าวแบบค่อนข้างเปิดเผยว่า กำลังจะเปลี่ยนขุนศึกของตนเองแม้สงครามยังไม่จบก็ตามที

อย่างไรก็ดี นายซาซากิ ก็ได้แสดงฝีมือไว้ลายก่อนอำลาในปีสุดท้ายของตนเองในปี 2012 ที่ทำกำไรได้ค่อนข้างดี ก่อนที่จะตัดสินใจหลีกทางให้นายทานากา มาสานต่อในตำแหน่งประธานบริษัทของโตชิบา ซึ่งยังไม่ทันไร ความก็มาแตกเสียก่อนตั้งแต่ต้นปีนี้ว่า บริษัทแสดงผลกำไรในงบการเงินไว้สูงกว่าความเป็นจริง

สำหรับบทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่

หนึ่ง ความกดดันจากความคาดหวังของตลาดทุน ในการที่ต้องการให้บริษัทแสดงผลกำไรสูงกว่าไตรมาสก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่แข่งขันกันสูง อาจทำให้เกิดความไม่โปร่งใสทางบัญชีอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการสืบทอดอำนาจภายในบริษัทดังกล่าว

สอง ระบบที่ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่สามารถเถียงหรือออกความเห็นค้านเจ้านาย ทำให้เกิดกระแสหรือวัฒนธรรมองค์กรที่ เรียกว่า ‘ระบบ Challenge’ ภายในพนักงานระดับล่างของบริษัทโตชิบา เพื่อให้ทำผลกำไรของบริษัทออกมาดีขึ้นเรื่อยๆ ครั้นปัจจัยพื้นฐานของบริษัทตนเองไม่สามารถสนับสนุนให้เกิดกำไรที่ดีขึ้นดังกล่าว พนักงานก็ทนแรงกดดันนี้ไม่ไหว จึงอาจจำเป็นต้องทำการตกแต่งตัวเลขกำไรทางบัญชี ซึ่งในความเป็นจริง การรู้เห็นเป็นใจของผู้บริหาร ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยากว่า น่าจะมีอยู่จริงเช่นกัน (ดังรูปที่ 2)

สาม การที่คณะกรรมการตรวจสอบภายในบริษัทโตชิบา ไม่มีสมาชิกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านบัญชีอยู่เลย โดยประกอบด้วยอดีตผู้บริหารของบริษัทที่ไม่ active เท่าที่ควร และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ไม่เชี่ยวชาญด้านบัญชี ย่อมส่งผลต่อการทุจริตให้สามารถทำได้ง่ายขึ้น

สี่ วัฒนธรรมองค์กรของบริษัทในญี่ปุ่นหลายแห่ง ที่ประธานบริษัทคนก่อนๆ จะยังคงมีอิทธิพลต่อผู้นำรุ่นใหม่ แม้ตัวเองจะเกษียณแล้วก็ตาม ทำให้สามารถดันและดึงผู้นำรุ่นใหม่ๆ ตามที่ตนเองชอบใจได้อย่างง่ายดาย ตรงนี้ทำให้เกิดการทุจริตได้แบบต่อเนื่อง ดังเช่นที่เกิดขึ้นในบริษัทโตชิบาจากผู้นำทั้งสามรุ่น

อย่างไรก็ดี ผลพวงของเหตุการณ์ในครั้งนี้ ก็อาจทำให้เกิดแรงเหวี่ยงให้การพัฒนาการของระบบธรรมาภิบาลของบริษัท ในตลาดหุ้นญี่ปุ่นสามารถทำได้รวดเร็วกว่าที่เป็นมาในอดีตเช่นกันครับ

หมายเหตุร่วมฟังงานเสวนา "จิบกาแฟยามบ่าย มองไกลตลาดโลก กับ 3 กูรู" ที่ผู้เขียนร่วมเป็นวิทยากร จัดโดย บล.ฟิลลิป ในวันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม เวลา 13.00-16.00 น. โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม โดยลงทะเบียนที่ 0-2635-3055 และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น LINE ID: MacroView ครับ