โลกหลังสมัยใหม่ : ความ “กำกวม” ระหว่างพื้นที่ส่วนตัว-สาธารณะ

โลกหลังสมัยใหม่ : ความ “กำกวม” ระหว่างพื้นที่ส่วนตัว-สาธารณะ

บทความของคุณมุมมืด ณ รัตติกาล เรื่อง การหล่อเลี้ยง “ตัวตน”ด้วยการ“หลอก”ตนเอง (ประชาไท Mon, 2013-10-07)

กล่าวไว้ทำนองว่า การเล่นสื่อทางสังคมสมัยใหม่ของผู้คนจำนวนไม่น้อยเป็นกระบวนการเล่นกับ“ตัวตน”ของตนเอง ที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าตัวตนพองเต็มที่ในเฟซบุ๊คเพราะได้เลือกที่จะแสดงส่วนเสี้ยวของ “ตัวตน” ที่อยากให้คนอื่นได้เห็น ได้รับรู้ และ “ตัวตน”ด้านที่เลือกแสดงออก ก็เป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงความเหี่ยวเฉาของตัวตนทั้งหมดในชีวิตจริง พร้อมกันนั้น ก็ได้กลบด้านอัปลักษณ์ที่ดำมืด โดยซ่อนเอาไว้เบื้องลึกของช่วงเวลาที่สุขสันต์ ปลาบปลื้มกับภาพที่ได้เลือกสรรแสดงออกไปสู่สาธารณะ

นอกจากประเด็นในเรื่องความปรารถนา ที่จะหลอกตัวเองและผู้อื่นด้วยการแยกส่วนเสี้ยวของตัวตน มาขยายการรับรู้และสร้างให้เป็นเสมือน “ตัวตนจริง” ของผู้เล่นสื่อสมัยใหม่ในช่วงเวลาหนึ่งๆ แล้ว (เมื่อเวลาเปลี่ยน ส่วนเสี้ยวของตัวตนที่ทำให้เสมือนจริงก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย) สิ่งที่ซ้อนอยู่ภายใต้การเล่นเกมกับตัวตนเช่นนี้ ก็คือ สภาวะของการทำให้เกิดความ “กำกวม” ระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ

ผมเลือกใช้คำว่า “กำกวม” แม้ว่าจะรู้สึกว่าไม่ตรงมากนัก ตอนแรกคิดว่าจะใช้คำยืมจากฝรั่งว่า “เบลอ” (Blur) ที่หมายถึงความพร่ามัว ความไม่ชัดเจน แต่ก็ไม่ค่อยถูกใจเท่าไร จึงขอใช้คำว่า “กำกวม” ไปก่อนนะครับ

สภาวะความ “กำกวม” ที่คนส่วนหนึ่งแยกได้ยากมากขึ้น และไม่อยากจะแยกระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ ในลักษณะที่เห็นกันอยู่ทั่วไปนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลก หลังสมัยใหม่ที่สามารถเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็น “ทุน” เพื่อทำให้การผลิตดำเนินต่อเนื่องต่อไป

มิติของ “ทุน” ในการผลิตจึงเกิดขึ้นหลายระดับและสลับซับซ้อนมากขึ้น นักวิชาการจำนวนมากได้พูดถึงทุนที่มีความหมาย มากกว่าทุนเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจมานานพอสมควรแล้ว เช่น การอธิบายถึงทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม แต่ในขณะนี้ ท่ามกลางความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จำเป็นที่ต้องมองการขยายตัวของทุนที่มากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะทุนที่เข้าไปกลืนกินส่วนลึกที่สุดของมนุษย์ อันได้แก่ ทุนทางความรู้สึก

กล่าวได้ว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการสะสมทุน การผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก การบริโภค ในช่วงแรกๆ ได้ทำให้เกิดการแยกพื้นที่ระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ที่ทำงานกับพื้นที่บ้าน กระบวนการแยกพื้นที่ออกเป็นสองมิติเช่นนี้ ได้หล่อเลี้ยงให้ระบบทุนนิยมขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องยาวนานทีเดียว ลองนึกถึงคนในระบบการผลิตสมัยใหม่ ตั้งแต่รัชกาลที่ห้าเป็นต้นมานะครับ เราจะพบว่าการแยกพื้นที่ทั้งสองนี้ ได้ทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตเพิ่มขึ้นมากมาย

ในทศวรรษ 1960 Daniel Bell นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นท่านแรกๆ ที่ได้เขียนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมว่าเป็นช่วงของ “สังคมหลังอุตสาหกรรม” (Post-industrial society) โดยเน้นความเปลี่ยนแปลงจากการผลิตอุตสาหกรรม มาสู่การผลิตภาคบริการ ต่อมาก็มีการขยายการศึกษาในเรื่องสังคมในสมัยหลังสมัยใหม่ (Post Modern) นี้มากมายเหลือคณานับ (นิยามคำว่า ”หลังสมัยใหม่” มีอย่างน้อยสามความหมาย ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจของโลกหลังสมัยใหม่ ระบบสังคมของโลกหลังสมัยใหม่ และวิธีคิดของการแสวงหาความรู้ความหมายแบบหลังสมัยใหม่ หากมีโอกาสจะขยายในคราวต่อไปครับ)

แกนหลักของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมก็คือ การทำให้ทุกอย่างเป็นทุน และทำให้ทุกอย่างเป็นสินค้าได้ขยายตัวและปรับเปลี่ยนทุกอย่างในชีวิตของเรา รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ทุนนิยมภาคบริการที่กลายเป็นหลักของทุนนิยมในช่วงหลังนี้ จึงได้ขยายเข้ามาสู่ปริมณฑลของอารมณ์ความรู้สึก เพื่อใช้เป็นฐานในการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภค จนกล่าวได้ว่าทุนปัจจุบันเป็นทุนความรู้สึก ในความหมายที่ว่าได้เปลี่ยนความรู้สึกของมนุษย์ ให้แปรเปลี่ยนเป็นทุนและสินค้าบริโภคกัน อันยังผลให้การผลิตยังดำเนินการต่อเนื่องต่อไปได้

ฐานของระบอบอารมณ์ความรู้สึกในสังคมแบบอุตสาหกรรม ที่แยกระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ เป็นชุดอารมณ์ความรู้สึกสองชุดที่ในปัจจุบันนี้ กลายเป็นปราการกีดกันและขัดขวางการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจภาคบริการ ไม่ให้เติบโตได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ดังนั้น เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วงหลังนี้ จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสลายเส้นแบ่ง ระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะ เพื่อที่จะทำให้การผลิตของสินค้าบริการบนฐานอารมณ์ความรู้สึกดำเนินต่อไปได้อย่างไม่ถูกจำกัด

ด้วยการที่ความรู้สึกถูกผลิตและถูกบริโภคมากขึ้นในสังคมไทย คนไทยที่มีชีวิตอยู่ในระบบนี้ได้คิดและสร้างคำว่า “ดราม่า” มาแทนการผลิตและการบริโภคสินค้า อารมณ์ความรู้สึกที่ขยายตัวมากขึ้น   นักศึกษาของผมได้กล่าวถึงรายการข่าวที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในสังคมไทยตอนนี้ว่า ผู้ผลิตไม่ได้ขายข่าวหากแต่ขายความเป็น “ดราม่า” ของข่าว สินค้าจำนวนมากกว่ามากรวมทั้งโฆษณาของ สสส.ก็ล้วนแล้วแต่เล่นในเรื่อง “ดราม่า” ทั้งสิ้น

“ดราม่า” ที่ถูกสร้างขึ้นจะเป็นสิ่งที่เชื่อมและผนวกเอาความรู้สึกส่วนตัวของผู้คนเข้าไป “อิน” ในส่วนที่เป็นพื้นที่สาธาณะ การระเบิดความรู้สึกส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะ จึงเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น ด้วยเหตที่สำคัญคือ ไม่สามารถระงับอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวที่พลุ่งพล่านขึ้น เพราะถูกทำให้ “อิน“ เข้าไปในประเด็นสาธารณะนั้นๆ เสียแล้ว (ลองนึกถึงคนที่โพสต์ด่าโคชเทควันโดเกาหลีในช่วงแรกๆ ซิครับ)         

ความ “กำกวม” ในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ จึงจะยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่กับเราไปอีกนาน ทำอย่างไรเราจะสามารถสร้างการรับรู้เรื่องราวต่างๆ ให้แก่สังคมให้มากขึ้น และลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อที่จะเป็นระบบการเตือนตนว่า หากไม่เข้าใจการถูกกระตุ้นอามรมณ์ส่วนตัวให้พลุ่งพลาน และไประเบิดในที่สาธารณะ ก็จะประสบปัญหาความขัดแย้งในระดับต่างๆ อันยิ่งจะทำให้เดือดร้อนมากขึ้น