เปลี่ยนเป็นคนใหม่ไม่พอต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้วย

เปลี่ยนเป็นคนใหม่ไม่พอต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้วย

ข่าวเรื่องการผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีมีหนาหูขึ้นทุกวัน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดข่าวและการผลักดันน่าจะมีหลายอย่าง ทางด้านเศรษฐกิจคงเป็นทั้งเรื่องการเมือง เรื่องความไม่หวังดี เรื่องการเลื่อยขาเก้าอี้ และเรื่องเศรษฐกิจที่ซบเซา

เป็นความโชคร้ายของรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะที่จะต้องขยายตัวต่อไป ในอัตราต่ำกว่าที่เคยเพราะปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งความขาดแคลนทรัพยากร โครงสร้างของประชากร ภาวะหนี้สินล้นพ้น ทั้งของภาคเอกชนและรัฐบาล และความเหลื่อมล้ำทำได้ ทั้งนี้ ที่นับวันจะยิ่งเลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้หรือด้านการกระจายสินทรัพย์ การปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีจะไม่ทำให้ปัจจัยเหล่านั้นเปลี่ยนไป ฉะนั้น เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับปัจจัยภายนอกเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนตัวบุคคลอาจลดความกดดันลงได้บ้าง พร้อมกันนั้นก็อาจได้เนื้อหาสาระ ถ้าการเปลี่ยนนั้นนำไปสู่การแต่งตั้งบุคคลรุ่นใหม่ ที่มีทั้งความเข้าใจและวิสัยทัศน์ที่ต่างกับของรัฐมนตรี และคณะที่ปรึกษาที่ทำงานมาจนถึงปัจจุบัน การแต่งตั้งบุคคลรุ่นใหม่ในแนวเดียวกันกับการแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่พ้นสมัยหลังจากใช้มาหลายทศวรรษ

กระบวนทัศน์ที่พ้นสมัย ยึดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราสูงสุด ที่จะทำได้เป็นเป้าหมายหลักเนื่องจากเชื่อกันว่า การขยายตัวในอัตราสูงนั้น จะทำให้เกิดการพัฒนาที่จะนำมาซึ่งความสุขกายสบายใจของสมาชิกในสังคม และการขยายตัวในอัตราสูงกับความสุขจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อการบริโภคขยายตัว ด้วยเหตุนี้จึงมีการผลักดันให้การบริโภคขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าการบริโภคนั้นจะจำเป็นหรือไม่ และจะมีผลกระทบอย่างไร ณ วันนี้ การวิจัยได้ข้อสรุปที่ยืนยันอย่างเชื่อมั่นได้เต็มร้อยแล้วว่า การบริโภคเพิ่มขึ้น มิได้ทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นด้วยเสมอไป ตรงข้ามมันมักนำไปสู่การทำลายทั้งสุขภาพของบุคคลและระบบนิเวศของโลก 

ปัจจัยที่กระตุ้นให้การบริโภคขยายตัวในอัตราสูงมีหลายอย่าง รวมทั้งการกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งมีค่าเท่ากับการบริโภคล่วงหน้า ภาระหนี้สินกำลังสร้างปัญหาสาหัส ทั้งในด้านการทำลายความสุข และในด้านการทำให้เศรษฐกิจซบเซา นอกจากนั้น ยังมีการใช้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายในหลายประเทศอีกด้วย  (ขอเรียนว่า นโยบายประชานิยมไม่จำเป็นต้องเลวร้ายเสมอไป ผู้สนใจในที่มาและการใช้อาจไปอ่านบทความเรื่อง “ขยายความคำว่า ‘ประชานิยม’ ” ซึ่งดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ www.bannareader.com)

ผลของการใช้ประชานิยมแบบเลวร้ายเป็นอย่างไร กำลังเกิดให้ดูสดๆ ในประเทศกรีซ ส่วนในเมืองไทยซึ่งเริ่มใช้ประชานิยมแบบเลวร้ายตั้งแต่ปี 2544 ผลยังไม่เลวร้ายเท่าไรนัก เนื่องจากยังทำได้ไม่นานและรัฐบาลปัจจุบันได้ยับยั้งบางโครงการแล้ว โดยเฉพาะการรับจำนำข้าวจากชาวนาในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลก จนทำให้รัฐบาลขาดทุนหลายแสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ยังมีบางโครงการที่ยังดำเนินอยู่

เท่าที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป มีผลทำให้ความเหลื่อมล้ำเลวร้ายยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพราะกลุ่มที่มีรายและสินทรัพย์มาก มักเข้าถึงปัจจัยที่ทำให้พวกตนได้ส่วนแบ่งจากการขยายตัวในสัดส่วนที่สูงขึ้น ปัจจัยเหล่านั้นรวมทั้งการเข้าถึงการศึกษา เทคโนโลยีใหม่และกลไกทางเศรษฐกิจและการเมือง  ความเหลื่อมล้ำมีส่วนทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง   

ตามที่สื่อรายงาน รัฐบาลจะเปลี่ยนรองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจและผู้มารับงานอาจเป็นประธานคณะที่ปรึกษาซึ่งทำงานร่วมกันมาตั้งแต่เริ่มต้น หากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ก็เป็นการเปลี่ยนที่จะไม่มีอะไรดีกว่าที่เป็นมาแล้ว ทั้งนี้ เพราะเป็นที่คาดได้ว่า นโยบายจะเน้นหนักในด้านการตลาดมากกว่าแนวที่จะมาจากกระบวนทัศน์ใหม่ ร้ายยิ่งกว่านั้น มาตรการประชานิยมแบบเลวร้ายจะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งเพราะดังที่เกิดขึ้นในอดีต มาตรการแนวนั้นจะกระตุ้นการใช้จ่าย จนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นมาแบบทันตาเห็น 

เนื่องจากการขยายตัวแบบนั้นปราศจากฐานอันมั่นคง มันจึงเป็นเสมือนไฟไหม้กระดาษซึ่งย่อมมอดไปในเวลาอันสั้น ส่งผลให้เกิดความกดดันที่จะผุดมาตรการใหม่ๆ หรือทำของเก่าให้เข้มข้นขึ้น  มาตรการเหล่านั้นย่อมมีผลร้ายต่อนโยบายการเงินและการคลัง ยิ่งกว่านั้น หากมีการนำเงินสำรองของชาติมาใช้ในรูปต่างๆ เพื่อหวังให้เศรษฐกิจขยายตัวด้วยแล้ว ความเลวร้ายจะเพิ่มขึ้นไปอีก

อนึ่ง เรื่องที่สื่อรายงานอาจมาจากการคาดเดา ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนตัวบุคคลอาจไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน หรือเกิดขึ้นแต่ผู้ที่เข้ามารับหน้าที่อาจเป็นคนรุ่นใหม่ ที่บางฝ่ายอยากเห็นเช่นเดียวกับในกรณีของธนาคารแห่งประเทศไทย จะเป็นคนรุ่นไหนไม่สำคัญ เท่ากับการปรับเปลี่ยนนโยบายไปเป็นแนวที่วางอยู่บนฐานของกระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่า จะนำมาใช้เป็นฐานของการบริหารประเทศตั้งแต่วันยึดอำนาจ กระบวนทัศน์ใหม่ได้แก่ แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่ง ณ วันนี้มีการนำมาใช้เฉพาะในระดับบุคคล หรือชุมชนเล็กๆ เท่านั้น  ส่วนในระดับรัฐบาลยังไม่มีการใช้แบบครอบคลุม ส่งผลให้การย้ำของนายกรัฐมนตรีมีลักษณะเป็นเพียงวาทกรรมมายามากกว่าสาระ การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีจึงเป็นโอกาสดีที่จะนำกระบวนทัศน์ใหม่มาใช้อย่างจริงจังและอย่างครอบคลุม