ศตวรรษที่หายไป

ศตวรรษที่หายไป

สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้รับเชิญจากสภาพัฒน์ ให้ไปร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นต่อทิศทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับฯที่ 12

ที่ครอบคลุมทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและสังคม ในช่วงตุลาคม 2559 ถึงกันยายน 2564 ซึ่งจุดเน้นทางด้านเศรษฐกิจที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ “ประเทศไทยตกอยู่ในกับดักของการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง” ที่ยังไม่สามารถยกระดับขึ้นเป็นประเทศที่รายได้สูง ตามคำนิยามของธนาคารโลกได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ที่เติบโตได้ก้าวหน้าและต่อเนื่อง อย่างมาเลเซียและอินโดเซีย หรือแม้กระทั่งฟิลิปปินส์ ที่ไม่ต้องพูดถึงเกาหลีใต้ที่เคยเริ่มมีการจัดทำแผนพัฒนาฯฉบับแรกๆ พร้อมๆ กับประเทศไทย ในช่วงปี 2503 ที่เจริญรุดหน้าไปอย่างชนิดที่เรียกว่าไม่เห็นฝุ่น 

จุดอ่อนและปัญหาของประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าเป็นทศวรรษที่สูญเสียอย่างน่าเสียดาย ที่ประเทศไทยย่ำเท้าอยู่กับที่ เกิดความแตกแยกของคนในประเทศ จนขาดเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้การผลักดันแผนงานโครงการต่างๆ ขาดความต่อเนื่อง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จึงไม่เกิด มิหนำซ้ำนโยบายหลายประการ โดยเฉพาะโครงการประชานิยมต่างๆ กลับทำให้ประชาชนไทยอ่อนแอ มีค่านิยมที่ผิดๆ คือ วัตถุนิยม ที่เป็นสุขนิยมที่ชื่นชมกับการบริโภคในปัจจุบัน ละเลยต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้มีหนี้สินพอกพูน จนระดับหนี้สินของครัวเรือนสูงมากกว่าร้อยละ 80 ของรายได้

การใช้จ่ายเกินตัวในอดีต ทำให้เกิดปัญหาความตกต่ำของกำลังซื้อของประชาชนในปัจจุบัน เพราะเงินรายได้ที่เข้ามาจะต้องนำไปชดใช้หนี้สินต่างๆ ไม่ว่าจะหนี้บ้าน หนี้รถ (คันแรกเป็นหลัก) โทรศัพท์มือถือ ตลอดจนหนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ จนแทบจะไม่มีเงินเหลือสำหรับจับจ่ายใช้สอยอื่นๆ จึงเกิดเป็นสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ที่ไม่ซื้อง่ายขายคล่องดังที่ควรจะเป็น ในขณะที่ธนาคารและสถาบันการเงิน ที่ต้องการจะปล่อยเงินกู้ก็ไม่สามารถจะปล่อยกู้ได้ เพราะลูกค้าเองมีหนี้เสียอยู่ในระดับสูง ซึ่งหากปล่อยเงินกู้ให้ก็มีโอกาสเป็นหนี้สูญได้ 

การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักที่คิดเป็นร้อยละ 54 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ การซบเซาของกำลังซื้อและค่าใช้จ่าย จึงทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในเกณฑ์ที่ต่ำ  ที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เริ่มปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตของปีนี้ ลงมาอยู่ระดับเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น จากเดิมที่คาดการณ์กันไว้ที่ระดับร้อยละ 4 ในช่วงต้นปี

นอกจากปัญหาหนี้สินแล้ว เศรษฐกิจไทยยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงมากที่สุดในรอบกว่า 50 ปี และเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำ ที่ทำให้การส่งออกสินค้าที่ติดลบต่อเนื่องกันมาถึง 6 เดือน ทำให้มูลค่าการส่งออกในครึ่งแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 5 ก็ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้น ในหลายๆ เรื่องยังล่าช้า และขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบริหารจัดการปริมาณน้ำในเขื่อนหลักๆ จนมาถึงจุดวิกฤติที่ต้องลุ้นรอฝนตกที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 ได้หยิบยกประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่น่าสนใจ คือ โครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมผู้สูงวัย (ประชากรวัยสูงกว่า 60 ปีมีมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรรวม) ทั้งนี้ประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 10.3 ล้านคน หรือร้อยละ 16.2 ของประชากรรวม ในปี 2558 เป็น 20.5 ล้านคน (ร้อยละ 32.1) ในปี 2583 ควบคู่ไปกับการที่ประชากรมีอายุขัยยืนยาวมากขึ้น  ในขณะที่ประชากรวัยแรงงานและวัยเด็กลดลง นอกจากนี้ ขนาดของครัวเรือนไทยเองก็ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญจาก 3.6 คนต่อครัวเรือน ในปี 2543 เหลือเพียง 3 คน ในปี 2556 ซึ่งสะท้อนชัดเจนถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการพึ่งพากันของคนในครอบครัวจะลดลง จำเป็นต้องมีการสะสมเงินออมสำหรับใช้ในวัยผู้สูงอายุ เพื่อที่จะสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการสำหรับการรองรับปัญหาดังกล่าว ด้วยการจะทำอย่างไรในการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน เพิ่มการออมทำให้คนอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและมีศักดิ์ศรีที่ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือลูกหลาน    

จากประเด็นปัญหาที่ผ่านมาคือ ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานไทยอยู่ในระดับต่ำ ผู้เขียนเองเห็นว่าประเด็นปัญหาสังคมตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเรื้อรังมาช้านานนี้ จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการแก้ไขคุณภาพคน จะทำอย่างไรให้คนไทยเป็นคนเก่ง คนดี มีวินัย และทำงานหนัก เพราะอดีตที่ผ่านต้องยอมรับว่าคนไทยถูกมอมเมาให้เป็นคนที่อ่อนแอ รอแบมือขอความช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ ในรูปแบบต่างๆ เช่น การพักชำระหนี้ โครงการรับจำนวนข้าว รถคันแรก บ้านคันแรก รวมถึงเงินในรูปแบบต่างๆ ที่สนับสนุนการใช้จ่ายเกินตัว ประเด็นเรื่องคนนี้เคยเป็นจุดเน้นที่สำคัญในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ที่ยึดเอาคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา การพัฒนาคนจึงเป็นหัวใจที่สำคัญที่จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังเสียที