ทำไมสีจิ้นผิงต้องรวบอำนาจ ?

ทำไมสีจิ้นผิงต้องรวบอำนาจ ?

เป็นเรื่องน่าคิดว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2012

กำลังล้มเลิกกระบวนการเปิดและปฏิรูปประเทศจีน ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 30 ปี หรือไม่?

ตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิงดำเนินนโยบายเปิดและปฏิรูปในปี ค.ศ.1978 จีนได้มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น 3 ด้านด้วยกัน คือ ปฏิรูปการเมืองให้เป็นระบบ ปฏิรูปเศรษฐกิจจนเติบโตอย่างรวดเร็ว และเปิดรับความคิดและค่านิยมใหม่จากทางตะวันตก

Carl Minzner อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Fordham ได้อธิบายในบทความล่าสุดใน Journal of Democracy ว่า จีนกำลังเข้าสู่ยุคหลังการปฏิรูป (post-reform) กล่าวคือ สีจิ้นผิงกำลังค่อยๆ รื้อทิ้งระบบสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจ จากการเปิดและปฏิรูปประเทศในช่วงสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ในด้านการเมือง สีจิ้นผิงมีนโยบายรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (เข้าสู่ตัวเองนั่นแหละ) แทนที่จะใช้ระบบการบริหารเป็นทีม และส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นดังเช่นในยุคปฏิรูป การปราบปรามคอร์รัปชันอย่างมโหฬารในจีนของสีจิ้นผิง ก็ใช้อำนาจเด็ดขาดทางการเมืองจากเบื้องบน (จนหลายฝ่ายมองว่ามีจุดประสงค์เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองและรวบอำนาจเข้าตัว) มากกว่าจะเป็นการใช้กลไกการปราบปรามการทุจริตที่โปร่งใสและเป็นระบบ

ในด้านเศรษฐกิจ จีนเองก็เริ่มยอมรับชะตากรรมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และล้มเลิกแนวคิดที่จะ "ทำทุกวิถีทาง" เพื่อเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนในด้านการเปิดรับความคิดและค่านิยมใหม่จากภายนอกนั้น อาจนับได้ว่าจีนกำลังเข้าสู่ยุคมืดมนที่สุดในรอบ 30 ปี รัฐบาลกลางของสีจิ้นผิงควบคุมอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด ภายในรอบหกเดือนที่ผ่านมา มีการประกาศกฎหมายความมั่นคงของชาติฉบับใหม่ และกฎหมายควบคุม NGO ต่างประเทศฉบับใหม่ ด้วยการให้อำนาจมหาศาลแก่เจ้าหน้าที่ในการ “รักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย” นอกจากนั้น ยังมีการจับกุมทนายความสิทธิมนุษยชนในจีนอย่างชนิดล้างบาง และมีการออกคำสั่งตรงถึงมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ให้ระมัดระวังการสอนเรื่องประชาธิปไตยแบบตะวันตก การแบ่งและคานอำนาจ และการกระจายอำนาจ (จนอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ปักกิ่ง ท่านหนึ่ง ถามอย่างประชดประชันว่า จะให้ปิดคณะนิติศาสตร์กับคณะรัฐศาสตร์ทั้งหมดไปเลยดีกว่าไหม)

แต่ปัญญาชนที่ศรัทธาพรรคคอมมิวนิสต์จีน กลับยืนยันว่าการรวบอำนาจของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง มีความมุ่งหมายเพื่อจะปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์และประเทศจีนอย่างยั่งยืน และเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการเปิดและปฏิรูปที่ผ่านมา (ไม่ใช่เพื่อล้มเลิกผลสำเร็จจากการเปิดและปฏิรูปที่ผ่านมาอย่างที่Carl Minzner ตั้งข้อสังเกต) ทั้งนี้ โดยสรุปแล้ว สาเหตุที่สีจิ้นผิงต้องรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ มี 4 ข้อ ด้วยกัน

ข้อแรก สีจิ้นผิงรวบอำนาจเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่รุนแรงของนักการเมืองท้องถิ่น โดยการพยายามทำการตรวจสอบจากส่วนกลางอย่างเข้มงวด จีนหมดยุคสมัยที่จะเดินเครื่องพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการให้รัฐบาลท้องถิ่นหว่านเงินลงทุนสร้างถนน สะพาน สนามบิน ตึกรามบ้านช่อง ฯลฯ เพื่อแข่งกันปั๊มตัวเลข GDP เพราะตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มี “เกินพอ” แล้ว การทุ่มเงินอัดฉีดเศรษฐกิจเหล่านี้ เคยเปิดช่องให้นักการเมืองท้องถิ่นทุจริตคำโต บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ที่จีนต้องเปลี่ยนมาเน้นพัฒนาเศรษฐกิจด้วยคุณภาพ แทนที่จะเน้นปริมาณอย่างในอดีต

ข้อสอง สีจิ้นผิงรวบอำนาจเพื่อสร้างฐานทางการเมืองของตนให้มั่นคง พอที่จะผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจในขั้นต่อไป อันได้แก่ การต่อสู้กับทุนนิยมอุปถัมภ์พวกพ้อง (crony capitalism) ซึ่งสำหรับในประเทศจีนหมายถึง การที่รัฐวิสาหกิจและบริษัทของลูกหลานและเครือข่ายผู้นำผูกขาด และได้เปรียบในตลาดจากการอุดหนุนของรัฐบาล การปฏิรูปเศรษฐกิจในขั้นต่อไปจึงต้องเน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีในตลาด และปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้สามารถแข่งขันได้จริงโดยรัฐบาลไม่ต้องอุดหนุน 

แนวนโยบายเหล่านี้ ได้ปรากฏในแผนเศรษฐกิจของสีจิ้นผิง หลายฝ่ายเคยตั้งข้อสังเกตว่า การปฏิรูปเหล่านี้ล้วนสำคัญและจำเป็น แต่ก็ดูยากเย็นจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเท่ากับสีจิ้นผิงจะต้องกล้าหักล้างผลประโยชน์ของพวกพ้องรอบตัวด้วย ส่วนกองเชียร์ก็เห็นว่า สีจิ้นผิงกำลังเดินเกมรวบอำนาจเพื่อจะได้หักล้างผลประโยชน์ของพวกพ้องที่ฝังรากได้ จึงต้องติดตามต่อไปว่า การที่สีจิ้นผิงเดินเครื่องเล่นงานเครือข่ายอุปถัมภ์ผ่านนโยบายปราบคอร์รัปชัน ดังที่ได้ตั้งข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวงกับอดีตผู้นำและผู้นำระดับรัฐมนตรีรวมมากกว่า 30 คน ภายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สุดท้ายจะนำไปสู่การสลายเครือข่ายพรรคพวกอุปถัมภ์ จนสามารถปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจตามแผนที่วางไว้ได้จริงหรือไม่

ข้อสาม สีจิ้นผิงรวบอำนาจและล้างบางคอร์รัปชันอย่างครึกโครม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะจากเดิม พรรคคอมมิวนิสต์จีนอ้างความชอบธรรมจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว อันเป็นผลจากนโยบายใหม่ที่เน้นความยั่งยืนมากกว่าความร้อนแรง พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงต้องเรียกคะแนนนิยม ด้วยการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางศีลธรรม ทำการต่อสู้กับความโลภและการโกงกินที่กำลังกัดกร่อนสังคมจีน

ข้อสี่ สีจิ้นผิงรวบอำนาจ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ โดยต่อสู้กับศัตรูจากทั้ง 3 ทาง กล่าวคือ ใช้นโยบายปราบคอร์รัปชัน เพื่อต่อสู้กับศัตรูจากภายใน ใช้นโยบายปราบผู้ต่อต้านพรรค เพื่อต่อสู้กับศัตรูจากด้านล่าง และใช้นโยบายชาตินิยม เพื่อต่อสู้กับศัตรูจากภายนอก

ผมเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังจากทั้งสองมุมมอง ด้านหนึ่งเป็นความกังวลจากปัญญาชนหัวก้าวหน้าต่อแนวทางการรวบอำนาจของสีจิ้นผิง ดังที่Carl Minzner เปรียบว่าเป็นการล้มเลิกแนวทางการเปิดและปฏิรูปประเทศจีนเลยทีเดียว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปัญญาชนพรรคฯ และกองเชียร์ท่านสีจิ้นผิง กลับมองว่าการรวบอำนาจนั้นมีเหตุผลเบื้องหลัง โดยเฉพาะเหตุผลที่สำคัญก็คือ การขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจในขั้นต่อไป เพื่อเปลี่ยนแปลงจากการเป็นทุนนิยมอุปถัมภ์พวกพ้อง และการฉีดยากระตุ้นด้วยการหว่านเงินลงทุนจากภาครัฐ มาเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจภาคเอกชนและกลไกตลาดให้มีบทบาทนำมากยิ่งขึ้น

การปฏิรูปไม่ว่าในที่ใดๆ ล้วนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องต่อสู้กับเครือข่ายผลประโยชน์เดิมที่ฝังราก ดังนั้น การปฏิรูปเชิงโครงสร้างในทางเศรษฐกิจ จึงทำได้ยากมาก หากผู้นำไม่มีอำนาจและบารมีเพียงพอ ขณะเดียวกัน ถ้าสุดท้ายผู้นำที่มีอำนาจและบารมีไม่ยอมทำสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะเสียของแล้ว อำนาจนั้นย่อมนำไปสู่ความเสื่อมอย่างรวดเร็ว และน่าสะพรึงกลัว ดังตัวอย่างมากมายในอดีต แนวทางของสีจิ้นผิงจึงเหมือนกำลังพาทั้งจีนและตัวเขาเองไต่เส้นลวด สีจิ้นผิงอาจเป็นผู้นำจีนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหรือล้มเหลวที่สุดก็ได้ ซึ่งคงต้องรอประวัติศาสตร์ตัดสิน

สีจิ้นผิงรวบอำนาจในจีนเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างของประเทศให้สำเร็จ ส่วนสาเหตุที่ท่านประยุทธ์ต้องยึดอำนาจในไทยนั้น ผมเองไม่แน่ใจ ส่วนที่ว่าประวัติศาสตร์จะตัดสินท่านประยุทธ์อย่างไรนั้น ผมเริ่มแน่ใจ แต่ไม่บอกใครดีกว่า

 ------------

อ.อาร์ม ตั้งนิรันดร

คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และนักวิจัย NRCT