แก้ปัญหาค้ามนุษย์ กติกาที่เลี่ยงไม่ได้

แก้ปัญหาค้ามนุษย์ กติกาที่เลี่ยงไม่ได้

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2558 ที่ยังจัดอันดับสถานการณ์

ค้ามนุษย์ของประเทศไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 โดยระบุว่า “ไทยยังไม่พยายามเพียงพอในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์”  แต่เป็นการรายงานสถานการณ์ที่ใช้ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2557 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2558 แม้ทางการสหรัฐจะเห็นความพยายามในการแก้ปัญหาของไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งบางมาตรการได้ดำเนินการในช่วงหลังจากที่มีการรายงานข้อมูล

หากพิจารณารายชื่อของประเทศที่หลุดจากเทียร์ 3 อาจทำให้เกิดข้อสงสัย ว่าทำไมบางประเทศหลุดจากบัญชีดังกล่าวได้ เช่นมาเลเซียและคิวบา ทั้งๆที่ไม่มีมาตรการอะไรที่ดีขึ้นไปกว่าไทย ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าแท้ที่จริงแล้วสหรัฐใช้ประเด็นการค้ามนุษย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง เอาไว้ตอบโต้หรือออกมาตรการกับบางประเทศ และพร้อมจะโอนอ่อนเงื่อนไขหากเห็นว่าเป็นประโยชน์กับสหรัฐ อย่างกรณีของคิวบาที่กำลังเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตในขณะนี้

แน่นอนว่าการค้ามนุษย์นั้นเป็นปัญหาใหญ่ของโลกยุคใหม่ เพราะเราต้องการให้การกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันในลักษณะนี้หมดไปตามหลักของสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นแนวทางที่ไทยไม่อาจปฏิเสธในการปฏิบัติตามในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) แต่กรณีรายงานของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ แม้จะมีเงื่อนไขและมาตรการที่ต่างออกไปจากยูเอ็น เนื่องจากเป็นมาตรการเฉพาะของสหรัฐที่ใช้ตอบโต้กับประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์อย่างรุนแรง

ประเทศที่สามารถออกมาตรการลงโทษประเทศอื่นได้ จะต้องเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และการทหารอย่างสหรัฐเท่านั้นที่สามารถทำได้ และกรณีนี้ได้สะท้อนความจริงประการหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดในความเป็นจักรวรรดิยุคใหม่ โดยใช้กฎกติกาทุกด้านมาบังคับใช้เพื่อสร้างกฎระเบียบของสังคมโลกให้เป็นไปตามผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นสำคัญ และกรณีการค้ามนุษย์ก็เป็นเพียงด้านหนึ่งที่สหรัฐนำมาใช้เป็นเครื่องมือจัดระเบียบโลก

อย่างกรณีในภาคการเงิน สหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วได้ผลักดันนโยบาย การค้าเสรีและระบบทุนนิยมไปทั่วโลก โดยให้ความช่วยเหลือเงินทุนให้กับประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการพัฒนาประเทศไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งสหรัฐได้ผลักดันผ่านธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย(เอดีบี) แต่เมื่อจีนจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเซียน(AIIB) ทำให้เกิดแรงต่อต้านค่อนข้างมากจากประเทศเหล่านี้ เพราะอาจส่งผลต่อการจัดระเบียบโลกที่มีมานานผ่านองค์กรระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม องค์กรระหว่างประเทศและกฎกติกาต่างๆ เหล่านี้ ได้เกิดขึ้นมานานกว่าครึ่งศตวรรษ จึงเป็นเรื่องยากมากที่ประเทศเล็กๆ อย่างไทยที่เชื่อมโยงใกล้ชิดกับประชาคมโลกมานานจะหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งการฝ่าฝืนหรือละเมิดข้อบังคับในระดับที่รุนแรงจึงถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างไทย เพราะไทยมีพละกำลังไม่เพียงพอในการต่อต้านกับกระแสต่างๆ ที่โหมเข้ามาหากเกิดข้อขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ ทางออกที่ดีสำหรับไทยคือต้องยอมปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะทำได้มากแค่ไหน

ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์อะไร หากเราจะแสดงความไม่พอใจและต่อต้าน เพราะเป็นกติกาที่สหรัฐออกมาใช้กับประเทศที่มีการติดต่อการค้าการลงทุนระหว่างกัน ทางออกของไทยมีทางเดียวเท่านั้นคือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ และยิ่งสหรัฐเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้เรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้อาจยิ่งมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น สิ่งที่คนไทยต้องทำต่อกรณีเหล่านี้ ต้องทำความเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นและเราจะร่วมกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร หากเรายังต้องการอยู่ร่วมกับประชาคมโลกที่ยึดกติกาเหล่านี้