ทำไมต้องโรงไฟฟ้าถ่านหิน?

ทำไมต้องโรงไฟฟ้าถ่านหิน?

กว่า 40 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ความสำเร็จของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514

ทำให้ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล โดยสามารถผลิตพลังงานได้เอง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลักให้กับประเทศ แถมก๊าซธรรมชาติในบ้านเราเป็นก๊าซเปียกที่สามารถแยกองค์ประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีคุณค่า เช่น อีเทน โพรเพน บิวเทน ก๊าซโซลีนธรรมชาติ ฯลฯ ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สร้างงานสร้างรายได้ สร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน พบว่าปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยนั้น มีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 5ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณการผลิตขึ้นมามากกว่าปริมาณที่สำรวจค้นพบใหม่นั่นเอง และยิ่งสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกตกต่ำในตอนนี้ ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่อิงราคาน้ำมันเตา ก็มีราคาลดลงเช่นกัน ทำให้โครงการใหม่บางโครงการอาจจะไม่คุ้มทุนต้องชะลอออกไปรวมถึงสัมปทานรอบที่ 21ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

ข้อมูล ณ สิ้นปี 2557พบว่าปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วที่มีความมั่นใจร้อยละ 90 เหลือเพียง 7.75ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ถ้าผลิตด้วยปริมาณการผลิตรวมของปี 2557 ที่1.33 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อไปเรื่อยๆ ในแต่ละปีจะทำให้เราสามารถผลิตได้อีกเพียง 5.8 ปีเท่านั้น ถ้ารวมปริมาณสำรองที่คาดว่าจะพบที่มีความมั่นใจเพียงร้อยละ 50 อีก 7.81 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ก็จะยืดเวลาการผลิตก๊าซธรรมชาติได้อีกเป็น 11.7 ปีเท่านั้น ถ้าหากไม่มีการสำรวจค้นพบแหล่งก๊าซขนาดใหญ่แหล่งใหม่เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง ผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติสูงถึงร้อยละ 70 รองลงมาก็คือถ่านหินร้อยละ 18 ที่เหลือก็เป็นพลังงานน้ำประมาณร้อยละ 2 พลังงานหมุนเวียนประมาณร้อยละ 2.6 และอื่นๆ ต่ำกว่าร้อยละ 1 เช่น น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศถึงร้อยละ 7

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยนั้นพึ่งพาการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเป็นสัดส่วนที่สูงมาก หากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงจนไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างใหญ่หลวงแน่นอน ที่น่าเป็นห่วงคือเราจำเป็นต้องนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศในปริมาณที่ถือว่าไม่น้อยเลย หากสมมติวันหนึ่งเกิดเรามีปัญหากับเพื่อนบ้านและอยู่ๆ เขาตัดไฟฟ้าไม่ส่งให้เราดื้อๆ ความมั่นคงของประเทศย่อมมีปัญหาแน่นอน

ดังนั้น เราจึงมีความจำเป็นจะต้องหาเชื้อเพลิงที่มาทดแทนก๊าซธรรมชาติ เพื่อปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในราคาที่สมเหตุสมผล เพราะต้นทุนไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิต ยิ่งได้ต้นทุนที่ถูกลงเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมของประเทศ หากมีต้นทุนที่แพงเกินไป ก็จะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านจนหมด จึงต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อลองพิจารณาพลังงานทางเลือกอื่นๆ พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวลขณะนี้ยังคงมีต้นทุนต่อหน่วยสูงมาก ผลิตได้น้อยและขาดความต่อเนื่องในการผลิตกระแสไฟฟ้าจึงยังไม่สามารถใช้เป็นพลังงานหลักได้ การใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงก็ยังมีต้นทุนสูงปริมาณก็ขึ้นอยู่กับผลผลิตตามฤดูกาล ทำให้ไม่มีความแน่นอน และน่าจะเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นมากกว่า ส่วนพลังงานน้ำโดยปกติการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนเป็นเพียงผลพลอยได้ เพราะจุดประสงค์หลักของเขื่อนในประเทศไทยคือ สร้างเพื่อการชลประทาน และเราก็ไม่ได้มีแหล่งน้ำมากมายที่จะสร้างเขื่อนจำนวนมากเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นหลักได้

พลังงานนิวเคลียร์ก็เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนพลังงานต่อหน่วยต่ำ แต่ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และการจัดการสิ่งแวดล้อม ยังคงมีต้นทุนสูง และขณะนี้ประชาชนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับโอกาสการเกิดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี ซึ่งคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้ แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ดี ก็เหลือพลังงานถ่านหินที่จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงให้พึ่งพาก๊าซธรรมชาติให้น้อยลงในเวลานี้

ทำไมต้องถ่านหิน? เพราะถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุดและถ่านหินสามารถเก็บสำรองไว้ในโกดังระบบปิดได้ปริมาณมากทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง แตกต่างจากก๊าซธรรมชาติที่เราไม่สามารถสร้างถังสำรองก๊าซไว้ได้ พอมีการหยุดส่งก๊าซเนื่องจากซ่อมบำรุงท่อก๊าซหรือซ่อมบำรุงแท่นผลิตก๊าซเมื่อไรก็เดือดร้อนกันทั้งประเทศ

แล้วผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมล่ะ? ในอดีตโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อมลภาวะอย่างมาก แต่ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยี ทำให้ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ก่อมลภาวะน้อยมาก ยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินไอโซโกะของประเทศญี่ปุ่น ที่ทั้งหมดเป็นระบบปิดตั้งแต่เรือขนส่งถ่านหิน ท่าเรือ สายพานขนถ่ายถ่านหินและตัวโรงไฟฟ้า ทำให้แทบไม่มีมลภาวะเกิดขึ้นเลย โดยมีเทคโนโลยีในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่นละออง ออกไซด์ของกำมะถัน (SOx) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ที่มีประสิทธิภาพมาก โดยมีค่าการปลดปล่อยออกไซด์ของกำมะถันเพียง 0.01กรัมต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และค่าการปลดปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจนเพียง 0.05 กรัมต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งต่ำมาก เรียกได้ว่าดักจับได้เกือบร้อยเปอร์เซนต์เลย นอกจากนี้ ถ่านหินที่จะนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในประเทศไทยเป็นประเภทซับบิทูมินัส หรือบิทูมินัสนำเข้าที่มีคุณภาพสูงกว่าและมีมลพิษต่ำกว่าถ่านหินลิกไนต์ในประเทศ

ทำไมต้องภาคใต้? ผมจำได้ว่าเมื่อสองปีก่อนมีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับที่ภาคใต้ เพราะฟ้าผ่าสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้ ทำให้อุปกรณ์สายส่งไฟฟ้าชำรุดจนดับไปทั้งภาคใต้อยู่หลายชั่วโมง ซึ่งขณะนั้นมีโรงไฟฟ้าในภาคใต้บางส่วนปิดซ่อมบำรุง ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ไม่เพียงพอ จึงต้องส่งไฟฟ้าบางส่วนจากภาคกลางมาเสริม จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ สิ้นสุดปี  2557 ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าได้ 3,069 เมกะวัตต์ จากสายส่งจากภาคกลาง 650เมกะวัตต์ และจากสายส่งไฟฟ้านำเข้าจากมาเลเซียขนาด 300เมกะวัตต์ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ในปี 2557 เท่ากับ 2,467 เมกะวัตต์

โดยปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5 % ต่อปี หากภาคใต้ไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไปก็จะมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนไฟฟ้าต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากภาคกลางและไฟฟ้านำเข้าจำนวนมาก และการท่องเที่ยวในภาคใต้ที่มีส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศจะต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากขาดแคลนไฟฟ้า

ดังนั้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภาคใต้ เรื่องนี้เป็นเรื่องระยะยาวไม่ใช่ว่าพอถึงเวลาไฟฟ้าขาดแคลนจริงๆ ก็เอาโรงไฟฟ้าเดี๋ยวนั้นเดี๋ยวนี้เลยมันไม่ได้ จึงอยากให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบและผลประโยชน์ที่จะได้รับโดยส่วนรวมบนพื้นฐานข้อเท็จจริงตามหลักการวิทยาศาสตร์เพื่อให้มีแผนการจัดการด้านความมั่นคงทางพลังงานที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้ได้อย่างเหมาะสมครับ

--------------------------

สิริวัต วิทูรกิจวานิช - วิศวกรปิโตรเลียม

หมายเหตุ:บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมิใช่ความเห็นจากองค์กรใด ๆ