ระวังย่ำวงจรเดิม

ระวังย่ำวงจรเดิม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 ได้ประกาศชัดเจนว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)ใหม่ในช่วงครบรอบ 1 ปีของการทำงานของรัฐบาล แม้ว่าก่อนหน้านั้นหลายคนในรัฐบาล รวมทั้งตัวพล.อ.ประยุทธ์เอง ต่างออกมาปฏิเสธในเรื่องดังกล่าว เป็นเพียงการสร้างเรื่องขึ้นมาของสื่อ แต่ไม่ว่ากระแสข่าวปรับครม.ก่อนหน้านั้นจะเป็นการปล่อยข่าวหรือการคาดเดากันไปเอง แต่มาถึงวันนี้ก็เป็นที่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในเร็วๆนี้

ประเด็นการปรับครม.ในครั้งนี้ ค่อนข้างแตกต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาจากหลายพรรคการเมือง หรือ อย่างน้อยในพรรคการเมืองใหญ่ก็มีหลากก๊กหลายเหล่าภายใน ซึ่งการปรับครม.ในรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมือง บางกรณีเป็นเรื่องภายในของพรรคการเมืองเอง หรือ บางกรณีเกิดจากการบริหารงานของรัฐมนตรีเองที่เผชิญกับแรงกดดันทางสังคม ซึ่งมักจะเป็นเรื่องข่าวการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นมักจะวิเคราะห์กันว่าการปรับครม. ก็เพื่อยืดอายุรัฐบาลให้อยู่ต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม การปรับครม.ของพล.อ.ประยุทธ์ในครั้งนี้จึงแตกต่างอย่างสำคัญ เมื่อเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการพรรคการเมือง เพราะอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ โดยการแบ่งเป็นกลุ่มเป็นก๊วนเหมือนกับพรรคการเมืองนั้นแทบไม่ปรากฏให้เห็น ยกเว้นการวิเคราะห์หรือการประเมินกันไปต่างๆนานา แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นนั้นไม่มีอะไรยืนยันชัดเจนว่าจะเกิดกลุ่มหรือการต่อรองเหมือนกับที่เคยเกิดกับพรรคการเมืองในอดีต

ความแตกต่างอย่างสำคัญนี้เอง ทำให้มีการออกมาปฏิเสธจากคนในแวดวงรัฐบาล รวมทั้งโฆษกรัฐบาลก็ออกมาตอบโต้ว่ามีกระบวนการปล่อยข่าวเรื่องการปรับครม. แต่ก็ดูเหมือนว่ากระแสที่ต้องการปรับครม.นั้นมีสูงพอสมควร อย่างน้อยก็เห็นได้จากการสำรวจความคิดเห็นของสำนักวิจัยต่างๆที่ออกมาในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ในแบบสำรวจต้องการให้มีการปรับครม. เพื่อให้เกิดการปรับการทำงานของรัฐบาล

หากมองอีกด้าน การปรับครม.ในครั้งนี้ไม่ได้เริ่มจากภายในของรัฐบาลเอง แต่เกิดจากแรงกดดันจากภายนอกเป็นสำคัญ และความต้องการให้ปรับครม.จากประชาชนทุกครั้ง มักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องของชาวบ้านเป็นสำคัญ ซึ่งหากรัฐบาลมองอีกด้านก็อาจจะมองเห็นว่าแม้รัฐบาลยืนยันว่าทำงานสำคัญไปมากและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่สำหรับประชาชนอาจคิดว่าปัญหาในชีวิตประจำวันของตัวเองนั้นยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ

ดังนั้น กระแสเรียกร้องที่ผ่านมา มักจะพุ่งตรงไปที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เพราะคนเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องใกล้ตัวนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข หรืออย่างน้อยก็รู้สึกว่ายังไม่ดีขึ้น ซึ่งไม่ว่าตัวรัฐมนตรีว่าการ หรือนายกรัฐมนตรีจะโชว์ผลงานของตัวเองเท่าไร แต่ไม่ได้รับความสนใจ เพราะคนทั่วไปมักจะสนใจปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าปัญหาเชิงโครงสร้างที่จับต้องได้ยากหรือเป็นเรื่องที่ใช้เวลา จึงทำให้เกิดแรงกดดันมากขึ้นกับรัฐบาล

หากดูจากโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อาจกล่าวได้ว่าการปรับครม.แทบจะไม่มีความสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะพล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจเด็ดขาดคนเดียวในทุกๆเรื่อง แต่หากต้องการลดกระแสความไม่พอใจในเรื่องการบริหารงาน การปรับครม.ในครั้งนี้ก็สามารถช่วยลดกระแสลงได้ และเมื่อดูโรดแมพต่างๆของคสช.และรัฐบาลตั้งแต่ต้น เรายังมองไม่เห็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดไปจากเดิม 

การปรับครม.ในครั้งนี้ แม้จะลดกระแสความไม่พอใจของคนในเรื่องปากท้องไปได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความต่อเนื่องของนโยบายสำคัญของรัฐบาลและเป็นนโยบายที่ดี เราไม่อยากเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนรัฐบาลในอดีต นั่นคือ เมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรี ก็ล้มเลิกนโยบายเดิม ซึ่งทำให้เราเข้าสู่วงจรเดิม ในเรื่องของความต่อเนื่องด้านนโยบาย และสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด และดูเหมือนว่าเรามักจะย่ำอยู่ที่เดิมทุกครั้งที่มีการปรับครม.หรือเปลี่ยนรัฐบาล