การสร้างความรู้และบูรณาการงานวิจัย

การสร้างความรู้และบูรณาการงานวิจัย

หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

คือ มีความรู้ความเข้าใจและเกิดความตระหนัก ถึงความสำคัญของผลกระทบจากปัญหานั้น โดยเฉพาะในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ผลกระทบได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ เราควรมีแนวทางอย่างไรที่จะสามารถยกระดับไปสู่การเกิดความสำนึกหรือมีแรงจูงใจ ที่จะให้ความร่วมมือหรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกระดับ และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในการปรับตัว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภายใต้สภาวการณ์เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่กำลังส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ไปทุกภาคส่วนได้อย่างเหมาะสม

เช่น ภาคการเกษตร เกิดความแปรปรวนของฤดูกาลที่ส่งผลต่อน้ำต้นทุนและกระทบต่อการวางแผนการเพาะปลูก ภาคสาธารณสุข ระดับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น หรือการเพิ่มขึ้นของโรคอุบัติใหม่ ด้านความมั่นคง การเพิ่มความถี่และระดับความรุนแรงของภัยพิบัติธรรมชาติ เป็นต้น ภาคส่วนต่างๆ ควรรับรู้ข้อมูลอะไรบ้าง ระดับไหน และด้วยวิธีใด การกระจายข้อมูลหรือเข้าถึงความรู้จึงจะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือและเกิดประสิทธิภาพในการนำไปใช้ได้มากที่สุด

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการดำเนินการในระดับนโยบายสำหรับงานด้านการศึกษาและการสร้างความตระหนักในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบให้แก่สาธารณชนในทุกภาคส่วน รวมไปถึง สร้างการมีส่วนร่วมทุกระดับอย่างแท้จริง และก่อให้เกิดการดำเนินงานร่วมกันแบบบูรณาการในระดับประเทศและระดับสากล ในการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวได้อย่างเหมาะสม โดยเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ ในแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2555-2593 ของประเทศ และสอดคล้องกับพันธกรณีที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันภายใต้ระบุไว้ใน Article 6 ของ UNFCCC และ Article 10 (e) ของ Kyoto Protocol

ประเด็นสำคัญคือ เราควรจะมีการดำเนินงานอย่างไร ในระยะต่างๆ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐฯได้มีการดำเนินงานด้านนี้อย่างแพร่หลายมากขึ้นตามนโยบาย แต่อยู่ในลักษณะต่างคนต่างทำ ขณะนี้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานประสานจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อรองรับการดำเนินงาน การสร้างความพร้อมในการกำหนดทิศทาง และทบทวนกิจกรรม/โครงการ/แผนการดำเนินงานอย่างบูรณาการ ให้สอดคล้องกับ Article 6 ของ UNFCCC

ในระยะสั้นนี้ เรื่องการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและกิจกรรมการดำเนินงาน ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยอย่างบูรณาการ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อมูลฯยังกระจัดกระจายตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ กว่า 30 หน่วยงาน ซึ่งยังไม่มีการจัดเก็บและเผยแพร่อย่างเป็นระบบ

สำนักประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีบทบาทเป็นหน่วยงานชำนัญการประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ได้เริ่มดำเนินการพัฒนาระบบการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้มีความทันสมัย น่าเชื่อถือและสะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญสำหรับประเทศไทย ในการที่จะมีระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างบูรณาการ และเป็นระบบของประเทศ ที่สำคัญมีระบบการกลั่นกรองข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานในการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่สะดวกต่อการใช้งานในทุกระดับมากขึ้น ทำให้การเข้าถึงความรู้และความก้าวหน้าด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถกระจายไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ทุกระดับได้อย่างแท้จริง

ความท้าทายในการพัฒนาฐานข้อมูลนี้มีสูงมาก เพราะจำเป็นต้องบูรณาการด้านข้อมูล และทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีดูแลและวิเคราะห์ข้อมูลในเรื่องต่างๆ ของประเทศเป็นจำนวนมาก แต่หากทำได้สำเร็จ ก็จะทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมหาศาล ในงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกระดับ ให้ไปในทิศทางเดียวกันทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ

ระบบฐานข้อมูลที่สำคัญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้มีการวางแผนไว้ในการดำเนินงาน โดยสำนักประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ประกอบไปด้วย ฐานข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย, ด้านผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับโลก ภูมิภาค และประเทศไทย, ด้านอนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง, ด้านการวิจัยและพัฒนา, ด้านคู่มือและวิธีการ, ด้านแบบจำลองการเรียนรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

รวมไปถึงการพัฒนาวิธีการเผยแพร่และเข้าถึงข้อมูลในระดับต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนสำคัญอันหนึ่งในระบบฐานข้อมูลคือ การดำเนินงานวิจัยและพัฒนามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการแก้ไขปัญหานี้ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับบริบทของไทย ทั้งในส่วนของการจัดการลดก๊าซเรือนกระจก ที่มีประสิทธิภาพ และแนวทางปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่สามารถดำเนินงานได้จริงกับภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคการผลิต และภาคชุมชนและท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งได้รับผลกระทบในลักษณะที่แตกต่างกันไป จำเป็นต้องใช้ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาเข้าไปใช้แก้ปัญหา

สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย ได้ดำเนินภารกิจในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา และมีผลงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ทั้งในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาระบบโมเดล การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับประเทศไทย การวิจัยเพื่อค้นหาวิธี และแนวทางการปรับตัวต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม การวิจัยด้านนโยบายเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ และการเจรจาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเครื่องมือสำหรับบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ได้ดำเนินงานตามบทบาทในการสร้างความรู้และงานวิจัยให้เกิดขึ้นทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชน

ผลงานวิจัยและความรู้ที่ได้จะเกิดประโยชน์สูงสุด หากได้มีการนำไปใช้งานขยายผลโดยภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การบูรณาการสร้างความเข้าใจร่วมกัน และสนับสนุนแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะถือเป็นก้าวสำคัญ ที่จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนัก ร่วมกับการบูรณาการผลงานและการทำงาน ระหว่างหน่วยงานที่ดำเนินงานอยู่แล้วในปัจจุบัน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญข้อมูลเหล่านี้ หากมีการเผยแพร่สู่วงกว้าง จำเป็นต้องมีการรายงานอัปเดตความก้าวหน้าอย่างทันสมัย จะทำให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถนำไปใช้สร้างความเข้าใจได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ จะทำให้ความก้าวหน้าในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สามารถเกิดขึ้นได้แบบก้าวกระโดดอย่างแน่นอน