ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (จบ)

ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (จบ)

วันนี้เรามาต่อกันในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับหลักประกัน

และวิธีการจัดสรรเงินที่ได้จากการจำหน่ายกิจการตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ที่ค้างมาจากบทความฉบับที่แล้วกันค่ะ

(5) อำนาจหน้าที่ของผู้บังคับหลักประกัน:อำนาจหน้าที่หลักๆ ของผู้บังคับหลักประกัน มีดังนี้ค่ะ (ก) บำรุงรักษาและจัดการทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน จนกว่าจะจำหน่ายทรัพย์สิน (ข) ตรวจสอบและประเมินราคากิจการที่เป็นหลักประกัน (ค) กำหนดวิธีการที่เหมาะสมในการจำหน่ายกิจการ (ง) จำหน่ายกิจการที่เป็นหลักประกัน (จ) จัดสรรเงินที่ได้จากการจำหน่ายหลักประกัน (ฉ) กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็น เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการต่อได้ (อำนาจในข้อนี้ผู้เขียนตั้งเป็นข้อสังเกตว่า จะรวมถึงอำนาจในลักษณะที่เป็นการดำเนินการแทนกรรมการของบริษัทผู้ให้หลักประกันหรือไม่) ทั้งนี้ กฎหมายให้ความคุ้มครองแก่ผู้บังคับหลักประกันว่า การดำเนินการของผู้บังคับหลักประกันตามอำนาจหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการโดยมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ให้หลักประกัน

(6) การจัดสรรเงินที่ได้จากการจำหน่ายกิจการ: ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้มีการจัดสรรเงินที่จำหน่ายได้ตามลำดับดังนี้คือ (ก) ค่าธรรมเนียมในการยึดหรืออายัด ค่าใช้จ่ายในการรักษาทรัพย์สิน และการดำเนินกิจการของผู้ให้หลักประกัน (ข) ค่าตอบแทนของผู้บังคับหลักประกัน ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม อันเกิดจากการบังคับหลักประกันและจำหน่ายหลักประกัน (ค) ชำระหนี้ให้แก่ผู้รับหลักประกัน และเจ้าหนี้อื่นที่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และ (ง) ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นที่มาขอเฉลี่ยทรัพย์สิน ทั้งนี้ ในกรณีที่มีเงินเหลือให้คืนแก่ผู้ให้หลักประกันไป

การสิ้นสุดของสัญญาหลักประกัน: ตามมาตรา 82 กำหนดให้สัญญาหลักประกันทางธุรกิจสิ้นสุดได้ 4 กรณี กล่าวคือ (ก) เมื่อหนี้ประธานที่ประกันระงับสิ้นไป (โดยไม่ใช่เหตุในเรื่องของอายุความ) (ข) ผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันตกลงกัน เป็นหนังสือให้ยกเลิกสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (ค) มีการไถ่ถอนทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน (ง) มีการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหรือเมื่อทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับหลักประกัน

นอกจากนั้น มาตรา 83 กำหนดว่า ผู้รับหลักประกันสามารถที่จะบังคับหลักประกัน หลังจากหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามสัญญาหลักประกันทางธุรกิจเกินกว่า 5 ปีไม่ได้

บทกำหนดโทษ: ร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ได้กำหนดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับบทกำหนดโทษเอาไว้ในหมวด 8 ตั้งแต่มาตรา 84 ถึงมาตรา 94 โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

(1) บทกำหนดโทษจำคุกสำหรับการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสัญญาหลักประกัน:โดยต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ การกระทำโดยมีเจตนาและต้องเป็นเจตนาพิเศษ ดังนี้

              (ก) ผู้ให้หลักประกันหรือผู้รับหลักประกัน แสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริง โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินสองเท่าของหนี้ที่เป็นประกันตามสัญญา หรือทั้งจำและปรับ

             (ข) ผู้ให้หลักประกันไม่แจ้งให้ผู้รับหลักประกันทราบ ถึงการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน จนเป็นเหตุให้ผู้รับหลักประกันเสียหาย หรือจัดทำบัญชีไม่เป็นไปทางการค้าปกติ หรือที่ได้มีการตกลงกัน หรือเมื่อมีการบังคับหลักประกันแล้ว ผู้ให้หลักประกันมีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สิน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำและปรับ

             (ค) ผู้ให้หลักประกันยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ทำให้เสียหาย หรือทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่า หรือไร้ประโยชน์ ซ่อนเร้น หรือโอนให้ผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้รับหลักประกันไม่สามารถบังคับหลักประกันได้ทั้งหมดหรือบางส่วน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท

              (ง) ผู้รับหลักประกันแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงต่อศาล หรือผู้บังคับหลักประกัน เพื่อให้บังคับหลักประกัน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองเท่าของหนี้ที่เป็นประกันตามสัญญา หรือทั้งจำและปรับ

            (จ) ผู้ให้หลักประกันไม่ส่งมอบดวงตราสมุดบัญชี หรือกรณีที่ผู้รับหลักประกันหรือผู้บังคับหลักประกันล่วงรู้ หรือได้มาซึ่งข้อมูลหรือความลับในการประกอบธุรกิจของผู้ให้หลักประกัน (ที่ปกติไม่ควรเปิดเผย) และนำมาเปิดเผยเพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำและปรับ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำและปรับ

             (ฉ) ผู้บังคับหลักประกันปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือฝ่าฝืนกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยมุ่งหมายให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ให้หลักประกัน หรือผู้รับหลักประกัน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท

(2) บทกำหนดโทษปรับสำหรับการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสัญญาหลักประกัน: กล่าวคือ มีหน้าที่กระทำการแต่ไม่กระทำการ ซึ่งเจ้าพนักงานทะเบียนมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ และให้ถือว่าคดีอาญาเลิกกันเมื่อได้มีการชำระเงินค่าปรับแล้วซึ่งต้องไม่เกินกว่า 30 วัน

            (ก) ผู้รับหลักประกันจงใจหรือละเว้นไม่ไปแก้ไขรายการทางทะเบียน หรือไม่มีหนังสือแจ้งการจำหน่ายหลักประกันให้กับผู้ให้หลักประกัน ผู้รับหลักประกันรายอื่น และเจ้าหนี้อื่นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือไม่มีหนังสือแจ้งผู้ให้หลักประกัน หรือผู้รับหลักประกันรายอื่นกรณีมีการหักเงินจากบัญชีเงินฝาก ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

            (ข) ผู้ให้หลักประกัน จงใจหรือละเว้นไม่ไปยกเลิกการจดทะเบียน เมื่อหนี้ที่ประกันสิ้นสุด โทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

(3) บทกำหนดโทษปรับสำหรับการกระทำของบุคคล ซึ่งเป็นผู้แทนหรือผู้บริหารของนิติบุคคล ที่นิติบุคคลดังกล่าวทำผิดตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ: กำหนดให้ผู้แทนหรือผู้บริหารของนิติบุคคลนั้นมีความผิดตามที่ได้กระทำการใดๆ อันถือเป็นความผิดตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจด้วย

เราศึกษามาพร้อมกันจนสุดทางของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจแล้วนะคะ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาในรายละเอียดของกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้กล่าวไว้ทั้งหมด แต่ก็ได้ระบุหลักการเกือบทั้งหมดของกฎหมายฉบับนี้ไว้แล้วค่ะ

-----------------

กุลชา จรุงกิจอนันต์

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่