ประคองสถานการณ์ เข้าตาจนทางธุรกิจ

ประคองสถานการณ์ เข้าตาจนทางธุรกิจ

ตามการประเมินของสมาคมค้าปลีกไทย ถึงสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกในช่วง “ครึ่งปีแรก” ที่ระบุว่า เติบโตเพียง 2.8%

 ส่งผลให้คาดการณ์สถานการณ์ค้าปลีก ทั้งปีว่าจะเติบโตเพียง 3.2% ลดลงกว่าคาดการณ์ว่าจะเติบโตในอัตรา 6 % ของมูลค่าตลาดค้าปลีกทั้งระบบในปีที่ผ่านมาที่ 3 ล้านล้านบาทในปี 2557  

ถือเป็นความท้าทายของทุกภาคธุรกิจ ที่ล้วนเกีี่ยวพันกับ กำลังซื้อ”  

เมื่อกำลังซื้อในประเทศ ปรับตัวลดลง ย่อมทำให้ การผลิต สินค้าปรับตัวลดลงตาม

ขณะที่การพลิกกลยุทธ์มุ่งหา ตลาดส่งออก ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป ในห้วงที่ประเทศ คู้ค้าหลักของไทย ก็กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยไม่ต่างกัน

โดยจีน กำลังเผชิญภาวะตลาดทุนผันผวนหนัก ล่าสุด (27 ก.ค.) ดัชนีเซียงไฮ้ คอมโพสิต ดิ่งลงกว่า 345 จุด หรือ 8.48% จนหลายฝ่ายกังวลว่าจะกลายเป็นผลกระทบโดมิโนไปถึงภาคการผลิตที่แท้จริง (เรียลเซ็กเตอร์)  ,ยุโรป เศรษฐกิจยังชะลอตัว ,สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่  

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขส่งออกเดือน มิ.ย.ลดลง 7.87% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่การส่งออกใน “ครึ่งปีแรก” (ม.ค.-มิ.ย.) พบว่า ลดลง 4.84%  

     เช่นเดียวกัน ตัวเลข “การนำเข้า” ที่ปรับตัวลดลง โดยในช่วงครึ่งปีแรกการนำเข้าลดลง 7.91% สะท้อนถึง การใช้กำลังการผลิต ภายในประเทศในอนาคตที่ยังมองไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว กระทบต่อเนื่องไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 

โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ออกมาประกาศปรับลดคาดการณ์จีดีพี จากเดิมที่เคยคาดว่า จะเติบโต3.5% เหลือ 3%

   สถานการณ์ดังกล่าว ภาคเอกชน บางเซ็กเตอร์ ยอม ยกธงขาว เมื่อวิเคราะห์แล้วว่า ช่วง 5-6 เดือนที่เหลืออยู่ยากจะปั๊มยอดขายให้ได้ตามเป้า  

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประกาศ“ลด”เป้ายอดขายรถยนต์ในประเทศลง “1 แสนคัน

เช่นเดียวกับ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่อย่าง เครือสหพัฒน์ ที่ออกมายอมรับว่า จะลดเป้าการเติบโตของยอดขายทั้งปีเหลือ 3.5-4%  จากเป้าหมายเดิมที่อัตราเติบโต 6-7%  เป็นต้น 

อีกแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจคือ การรัดเข็มขัดการบริหารจัดการ เป็นไปเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ไปจนถึง การบอกเลิกจ้าง ที่เริ่มมีกระแสหนักขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

     สะท้อนจากข้อมูลจากกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่ระบุสถิติการขึ้นทะเบียนของผู้ประกันตนเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) พบว่า มีผู้ถูกบอกเลิกจ้าง จำนวนรวม 30,740 คน  โดยอุตสาหกรรมที่บอกเลิกจ้างมากที่สดคือ อุตสาหกรรมด้านการผลิต

นี่คือภาพสะท้อนยุคข้าวยากหมากแพงของ ผู้บริโภคในประเทศ ที่กระทบมาสู่ภาคธุรกิจทุกหย่อมหญ้า 

ซึ่งพวกเขาต่างพยายามประคับประคองสถานการณ์ ที่เลวร้าย ไม่ให้เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ 

ในภาวะที่เริ่ม เข้าตาจน”