กฎหมายกับเสรีภาพสื่อในยุคคืนความสุข

กฎหมายกับเสรีภาพสื่อในยุคคืนความสุข

คำกล่าวที่ว่า “เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน” เป็นสิ่งที่ได้ยินกันค่อนข้างคุ้นหู

และเป็นหลักการสำคัญในสังคมประชาธิปไตยใดๆ ทว่า ในสถานการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ผู้นำประเทศเองก็ยอมรับว่า ไม่ใช่ช่วงปกติ ก็เป็นที่น่าสนใจว่า เสรีภาพของสื่อได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ในทิศทางใด เพราะเหตุใด

ปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคชัดเจนต่อเสรีภาพของสื่อไทยในยุค “คืนความสุขให้คนในชาติ” คือเรื่องของกฎหมายและกลไกการบังคับใช้ ซึ่งดูเหมือนว่ามีลักษณะและแบบแผนที่แตกต่างไปจากยุคก่อนหน้านี้

นอกเหนือจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ที่มีบทบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในการรับรู้ของประชาชนไปแล้ว ในยุคหลังรัฐประหาร ยังมีการออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือประกาศ คสช.หลายฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาที่พยายามควบคุมการสื่อสารในระดับสาธารณะผ่านสื่อประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชนเดิมๆ อย่าง หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ไปจนถึงสื่อใหม่อย่างสื่อสังคมออนไลน์

ตัวอย่างหนึ่งที่มักถูกพูดถึงกันคือ ประกาศ คสช.ที่ 97 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะ คสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ซึ่งค่อนข้างควบคุมเข้มงวดโดยเฉพาะในส่วนของเนื้อหาเกี่ยวกับ คสช. ที่ระบุว่า ให้งดเว้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช.เจ้าหน้าที่ของ คสช.และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ก็สามารถนำไปสู่การระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่ในกรณีของสิ่งพิมพ์และออนไลน์ และการระงับการออกอากาศโดยทันที ในกรณีของวิทยุและโทรทัศน์ อีกทั้งยังสามารถดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้ด้วย

จุดนี้เองเป็นประเด็นที่องค์กรวิชาชีพสื่อกระแสหลักรับไม่ได้ เพราะเท่ากับแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อโดยตรง จึงได้มีการต่อรองกับทาง คสช.จนนำไปสู่การออกประกาศ คสช.ที่ 103 ที่ผ่อนคลายกว่า มาแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ คสช.ที่เปลี่ยนเป็นว่า จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อเป็น “การวิพากษ์วิจารณ์การปฎิบัติงานของ คสช.โดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะ คสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ” ตลอดจนได้เปิดช่องให้องค์กรวิชาชีพสื่อ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลเนื้อหาได้ ด้วยข้อความนี้  “ในกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพ ที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ”

ทว่า จนถึงปัจจุบัน น่าจะมีเพียงกรณีเดียว ที่ถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาขององค์กรวิชาชีพสื่อคือ กรณีของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ที่ถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในเดือนสิงหาคม 2557 จากการพาดหัว “คสช.พ่อทุกสถาบัน” ทว่า ก็เป็นอ้างถึงประกาศ คสช.อีกฉบับ ที่เป็นเรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม นอกจากนี้ กรณีเนื้อหาอื่นๆ ที่ทาง คสช.มองว่า เป็นปัญหา ก็ไม่ปรากฏว่ามีกรณีใดที่ถูกส่งเข้าสู่การดูแลขององค์กรวิชาชีพสื่อ จึงน่าฉงนฉงายว่า ถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการต่อรองเพื่อนำไปสู่การกำกับดูแลกันเองดังกล่าว

นอกเหนือจากการอาศัยอำนาจที่กำหนดไว้ในประกาศ คสช.และกฎหมายฉบับอื่นๆ แล้ว ทาง คสช.ยังได้อาศัยควบคุมดูแลสื่อ ผ่านกลไกสำคัญที่มีอำนาจทางกฎหมายมาอยู่เดิมอย่าง กสทช.โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการควบคุม เป็นสถานีวิทยุชุมชน (ซึ่งจริงๆ ส่วนใหญ่เป็นสถานีวิทยุธุรกิจท้องถิ่น แต่มักถูกเรียกเหมารวมโดยคนที่ไม่เข้าใจว่าเป็นวิทยุชุมชน) กลุ่มทีวีดาวเทียมที่มีเนื้อหาเน้นไปในทางการเมือง โดยหลายสถานีเป็นหัวหอกสำคัญ ของการจุดประกายความเคลื่อนไหว และระดมการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองใน “สงครามเสื้อสี” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา   

ในเบื้องแรก หลังการรัฐประหาร คสช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 15 กำหนดให้ “สถานีวิทยุชุมชน” (ตามความหมายที่บอกไปแล้ว) และสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมอีก 14 สถานี หยุดการออกอากาศในทันที ซึ่งในกลุ่มนี้ก็มีสถานีโทรทัศน์การเมือง ที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง สถานียูดีดี ของกลุ่ม นปช.หรือสถานีบลูสกายของกลุ่ม กปปส.และสถานีเอเอสทีวีของกลุ่มพันธมิตร ซึ่งต่อมาประมาณเดือนสิงหาคม 2557 สถานีเหล่านี้ก็ได้รับอนุญาตให้กลับมาออกอากาศอีกครั้ง ภายใต้ชื่อเสียงเรียงนามใหม่ อย่างทั้งสามสถานีที่กล่าวไปข้างต้น ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น สถานีพีซทีวี สถานีฟ้าวันใหม่ และ สถานีนิวส์วัน ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี สถานีเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้กลับมาออกอากาศภาย ใต้เงื่อนไขพิเศษที่รู้จักในนามของบันทึกข้อตกลง (หรือ MOU) กับ กสทช.ซึ่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวอ้างถึงทั้งประกาศ คสช.ที่ 97 และ 103 จึงมีข้อกำหนดด้านเนื้อหาที่เข้มงวดกว่าสถานีวิทยุและโทรทัศน์ทั่วไป อีกทั้งหากมีการฝ่าฝืนข้อตกลง โทษมีสถานเดียวคือ เพิกถอนใบอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ประกอบกิจการต่อไป ขณะที่สถานีทั่วไปที่ไม่มี MOU หากมีการกระทำผิดด้านเนื้อหาตามมาตรา 37 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ก็อาจโดนโทษปรับทางปกครอง หรืออย่างมากก็โดนระงับการออกอากาศเฉพาะรายการนั้นๆ

ทั้งนี้ ทาง คสช.ยังมีอีกกลไกหนึ่ง ที่เป็นหน่วยเฝ้าระวังด้านเนื้อหา และทำงานใกล้ชิดกับ กสทช.ภายใต้ชื่อว่า คณะทำงานติดตามสื่อของ คสช.โดยหน่วยดังกล่าวจะทำหน้าที่เฝ้าระวังเนื้อหา มุ่งเป้าที่เนื้อหาประเภทข่าวสาร และจะแจ้งผลการเฝ้าระวังไปที่ กสทช.ทุกสัปดาห์ ว่าพบอะไรที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน MOU หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ กรณีของพีซทีวีที่ถูก กสทช.ระงับใช้ใบอนุญาตไป ก็สืบเนื่องจากการแจ้งของคณะทำงานดังกล่าวนี่เอง

เท่าที่ผ่านมาในยุคคืนความสุข มาตรการที่ใช้กับสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นสื่อหลัก มีตั้งแต่ พูดคุย ตักเตือน ปรับ พักใช้ใบอนุญาต ไปจนถึงระงับใช้ใบอนุญาต ซึ่งในยุคก่อนหน้า โทษสูงสุดที่เคยมีก็คือ การปรับเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบัน กสทช.เป็นคนลงดาบให้ คสช.ในลักษณะการสนองนโยบายและตอบรับการแจ้งจากคณะทำงานดังกล่าว

แม้ทาง กสทช.จะมองว่าประกาศ คสช.จะถือเป็นอำนาจแห่งรัฎฐาธิปัตย์ที่ฝ่าฝืนมิได้ในปัจจุบัน แต่ในหน้าแห่งประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ ก็อาจจะต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานแห่งสงครามเสื้อสีที่ผ่านๆ มา ที่สื่อการเมืองทั้งหลายละเมิดเสรีภาพตนเอง ด้วยการปลุกระดมและยั่วยุให้เกิดความรุนแรงและความเกลียดชังระหว่างกันอย่างกว้างขวาง ทำไมเราจึงไม่เห็นการจัดการใดๆกับสื่ออันตรายเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ กสทช.ก็มีอำนาจทางกฎหมายที่จะทำได้

บางที นี่อาจจะเป็นหนึ่งในคำตอบต่อคำถามที่ว่า #“เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”