เมื่อมะกันจับมืออินเดีย-ญี่ปุ่น ซ้อมรบเพื่อสกัดจีน

เมื่อมะกันจับมืออินเดีย-ญี่ปุ่น ซ้อมรบเพื่อสกัดจีน

พอญี่ปุ่นประกาศว่าจะร่วมซ้อมรบทางทะเล กับสหรัฐฯ และอินเดีย ในมหาสมุทรอินเดียเป็นครั้งแรก

ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ผมก็พอจะสัมผัสได้ถึงอุณหภูมิการเมืองร้อนฉ่าขึ้นทันที

เพราะเท่ากับเป็นการประกาศแบ่งฝ่าย ระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นและอินเดียข้างหนึ่ง กับจีนและพันธมิตรรัสเซียอีกด้านหนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้

กองทัพเรือญี่ปุ่นไม่ได้ออกมาแสดงแสนยานุภาพ ในมหาสมุทรอินเดียอย่างน้อยก็ 8 ปีแล้ว

คราวนี้กองทัพเรือญี่ปุ่นที่เรียกภาษาทางการว่า Maritime Self-Defence Force (MSDF) จะส่งเรือรบพิฆาตและเครื่องบินรบทันสมัย พร้อมการซ้อมยิงจรวดใส่เรือดำน้ำ เข้ามาในอ่าวเบงกอลของมหาสมุทรอินเดียอย่างเต็มรูปแบบ

ซ้อมรบทางเรือครั้งนี้เรียกทางการว่า Malabar ซึ่งปกติจัดทุกปี สลับกันระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย แต่จากนี้ไปญี่ปุ่นจะเข้าร่วมอย่าง ถาวร

ไม่ต้องบอกก็เป็นที่รู้กันว่าทั้งสามประเทศ มีเป้าหมายละม้ายกันตรงที่ต้องการจะสะกัด เส้นทางการขยายอิทธิพลด้านทะเลของจีน

จำได้ว่ากองทัพเรือของญี่ปุ่น ออสเตรเลียและสิงคโปร์เข้าร่วมซ้อมรบในอ่าวเบงกอลเมื่อเดือนกันยายน 2007 หรือเมื่อ 8 ปีก่อน แต่จีนประท้วงว่านี่เป็นการรวมหัวแสดงแสนยานุภาพข่มขู่จีน จึงมีการลดขนาดการซ้อมรบลง

ญี่ปุ่นถอยไป และเข้าร่วมซ้อมรบทางทะเลเฉพาะที่ทำกันนอกฝั่งญี่ปุ่นเท่านั้น รักษาระยะห่างให้ไกลจีนไว้เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดจึงขั้นเผชิญหน้า

ด้วยเหตุนี้ กองทัพเรือญี่ปุ่นเข้าร่วมซ้อมรบทางทะเลนอกฝั่งตัวเองก็เฉพาะในเดือนเมษายน 2009 กับกรกฎาคม 2014 เท่านั้น

แต่ครั้งนี้ ญี่ปุ่นเลิกเกรงใจจีนแล้ว จะขนอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทะเลทันสมัยใหม่สุด มาร่วมซ้อมรบในมหาสมุทรอินเดียกับอเมริกาและอินเดีย อันเป็นน่านน้ำใกล้อินเดีย แต่ก็ไม่ห่างไกลจากจีนนัก

จะว่าไปแล้วกองทัพเรือจีนก็คึกคักอยู่ในมหาสมุทอินเดียไม่น้อย เริ่มด้วยยุทธศาสตร์ สร้อยไข่มุก หรือ String of Pearls

สร้อยไข่มุกในยุทธศาสตร์ของจีน คือการจัดวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับการกำหนดเป็นไข่มุก สอดประสานกับการสร้างโครงข่ายที่เชื่อมโยงไข่มุกเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน

ไข่มุกเม็ดที่หนึ่งคือการเร่งพัฒนาท่าเรือและฐานทัพเรือใน Hainan หรือไหหลำ เพื่อรุกเข้าสู่ทะเลจีนใต้ รวมถึงการรุกคืบเข้าไปในหมู่เกาะ Paracels เพื่อพัฒนาสนามบินและท่าเทียบเรือ แม้จะมีการพิพาทในการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะ Spratleys ก็ตาม

ในภาพนี้จะเห็น สร้อยไข่มุก ที่เชื่อมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านทะเล ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือเพื่อเศรษฐกิจ หรือฐานทัพเรือเพื่อการทหารจากปากีสถาน  เชื่อมกับศรีลังกาทางใต้และอ้อมกลับขึ้นไปถึงพม่าในอ่าวเบงกอล

เมื่อการซ้อมรบครั้งใหม่ของสหรัฐฯ อินเดียและญี่ปุ่นมาจัดอยู่บริเวณนี้พอดิบพอดีก็ไม่ต้องสงสัยว่าจีนจะมองว่านี่คือการประกาศท้าทายกันซึ่งหน้าทีเดียว

ข่าวกรองทางความมั่นคงบอกว่าเรือดำน้ำของจีน ก็ป้วนเปี้ยนอยู่ในมหาสมุทรอินเดียเป็นประจำ ก่อให้เกิดความกระวนกระวายใจของประเทศแถบนี้พอสมควร

ผู้นำจีน สหรัฐฯ อินเดีย และญี่ปุ่นเยี่ยมเยือนกันไปมาแล้ว แม้ต่างจะบอกว่าต้องสร้างความร่วมมือเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด อันเกิดจากความขัดแย้งในทะเล แต่หากประเมินจากความเคลื่อนไหวที่ปรากฏชัดเจนในท้องทะเลวันนี้, ไม่มีใครไว้ใจใครทั้งนั้น

จึงเป็นที่มาของการสร้างแสนยานุภาพทางทะเลกำลังเดินหน้าไปอย่างเข้มข้นหนักหน่วงขึ้นทุกวัน

สิ่งที่เราเห็นคือซามูไรญี่ปุ่น กำลังฟื้นคืนเขี้ยวเล็บทางทหารอย่างเป็นกิจลักษณะ เป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง!