องค์กรแบบดั้งเดิม กับทางเลือกของคนรุ่นใหม่

องค์กรแบบดั้งเดิม กับทางเลือกของคนรุ่นใหม่

เชื่อว่าท่านผู้อ่านรับรู้และรับทราบถึงปัญหาของความแตกต่างระหว่างวัย (Generation Gap) ในสถานที่ทำงานกันพอสมควร

อย่างไรก็ดี ความแตกต่างดังกล่าวยังมีอีกหลายมิติ หลายมุมมองที่น่าสนใจครับ สัปดาห์นี้เลยขอนำเสนอมุมมองในเรื่องของการเลือกสถานที่ทำงานของคนรุ่นใหม่ครับ ว่าปัจจุบันได้เริ่มที่จะกลายเป็นปัญหาสำหรับองค์กรหลายๆ แห่ง

ก่อนจะไปดูปัญหา มาดูว่าโดยหลักการแล้ว นักประชากรศาสตร์แบ่งช่วงอายุของคนเป็นช่วงต่างๆ กันอย่างไรครับ ท่านที่เป็น Baby Boomer จะเกิดระหว่างปี 1946-1964 ท่านที่เป็น Gen X เกิดระหว่างปี 1965-1978 กลุ่มที่เป็น Gen Y หรือ Millennials เกิดระหว่างปี 1979-1994 บางองค์กรยังมีกลุ่มคนที่เป็นรุ่นผ่านศึก (เกิดระหว่างปี 1925-1945) นั่งอยู่ในตำแหน่งระดับสูงสุดอยู่ด้วย และยังไม่นับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็น Gen Z (เกิดหลัง 1995) ที่กำลังจะเริ่มจบการศึกษาและใกล้เข้าสู่วัยทำงาน โดยแต่ละกลุ่มช่วงอายุนั้น ปีเกิดอาจจะแตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละตำราครับ

ทีนี้มาดูปัญหาในความแตกต่างและหลากหลาย ของกลุ่มอายุคนทำงานในปัจจุบันกันดูบ้างนะครับ เริ่มจากเรื่องแรกก่อนคือ การหาคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในองค์กรแบบดั้งเดิม โดยองค์กรแบบดั้งเดิมในความหมายของผมนั้น ก็คือบรรดาบริษัทต่างๆ ที่พวกเราคุ้นเคยกันดีครับ ในฐานะคนที่อยู่แวดวงการผลิตบัณฑิตทางด้านบริหารธุรกิจและบัญชี เสียงบ่นประการหนึ่งที่ได้รับมามาก มีทั้งการที่บัณฑิตยุคใหม่ไม่สนใจที่จะทำงานในองค์กรแบบดั้งเดิม หรือต่อให้เมื่อเข้าไปทำงานแล้วก็ไม่อดทน ทำงานหนักอยู่ระยะสั้นๆ ก็ลาออก ทำให้หลายๆ วิชาชีพในปัจจุบัน เริ่มประสบกับปัญหาขาดแคลนคนรุ่นใหม่ที่ดี และมีคุณภาพเข้ามาทำงาน

อย่างไรก็ดี ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในด้านต่างๆ ในปัจจุบัน ก็ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นทั้ง Gen Y และ Gen Z (ในอีกไม่นาน) มีทางเลือกอื่นๆ ในชีวิตที่มากขึ้น ผมได้พบเห็นบัณฑิตรุ่นใหม่ เมื่อจบออกไปเลือกที่จะไม่ทำงานในองค์กรแบบดั้งเดิม แต่ไปประกอบวิชาชีพอิสระหรือที่เรียกว่า Freelance กันมากขึ้น ทั้งการขายของผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น ผ่านทาง Instagram ที่ปัจจุบันเป็นช่องทางการค้าขายออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดช่องทางหนึ่ง มีผู้เชี่ยวชาญประมาณว่า สำหรับประเทศไทยแล้วมี “หน้าร้าน” ที่ขายสินค้าผ่านทาง IG อย่างน้อย 200,000 ร้านค้า และผู้ที่ประสบความสำเร็จก็สามารถมีรายได้เดือนละเป็นแสนๆ บาท

นอกจากขายของผ่านทาง IG แล้ว อาชีพ Freelance ในประเทศไทย ยังมีอีกหลายด้านหลายสาขา ข้อดีของงานประเภทนี้คือ เป็นอิสระ และถ้าเก่งบวกเฮงก็จะรวยได้อย่างรวดเร็ว แต่ข้อเสียก็มีทั้งเรื่องของการขาดสังคม เพื่อนร่วมงาน รวมทั้งไม่ใช่ว่าทุกรายจะประสบความสำเร็จ

นอกจากประกอบอาชีพ Freelance แล้ว ที่เห็นฮิตกันมากขึ้นในปัจจุบันคือ เริ่มต้นธุรกิจของตนเองขึ้นมาหรือเป็น Startup ที่ในปัจจุบันประเภทไทยกำลังตื่นตัวกันเรื่องนี้ อีกทั้งมีผู้ที่พร้อมจะร่วมลงทุนหรือสนับสนุน Startup ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น จึงไม่แน่แปลกใจครับว่า ในเมื่อมีโอกาสและทางเลือกในการเลือกอาชีพอยู่มากมายแล้ว ทำไมบัณฑิตที่ดีและมีคุณภาพจำนวนหนึ่ง ถึงตัดสินใจไม่เข้าทำงานในองค์กรแบบดั้งเดิม หรือต่อให้เข้าไปทำงาน ก็จะไม่อดทน ซึ่งถ้ามองในมุมของผู้บริหารองค์กรแบบดั้งเดิม ท่านผู้บริหารที่เริ่มทำงานตั้งแต่ตำแหน่งเล็กๆ อาศัยความสามารถ ความพยายาม จนกระทั่งก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดได้ ก็จะมองคนรุ่นใหม่เหล่านี้ด้วยสายตาที่แปลกไป  เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ได้ผ่านชีวิต ประสบการณ์ แบบที่ท่านเคยทำมาก่อน

คำพูดที่ได้ยินติดปากจากคนกลุ่ม Boomer หรือ Gen X เมื่อพูดถึงคนรุ่นใหม่ก็คือ “ในอดีตพี่ต้อง…กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ก็ต้อง...” ซึ่งก็ต้องเรียนตรงๆ ครับว่า ไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ทุกคนจะเข้าใจครับ ในเมื่อปัจจุบันสภาพแวดล้อมมันแตกต่างจากในอดีต และคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมีทางเลือกในชีวิตได้มากขึ้น

คำถามคือ แล้วองค์กรแบบดั้งเดิมจะต้องทำอย่างไร ในยุคที่สงครามต่อสู้เพื่อแย่งชิงคนดีมีฝีมือนั้น ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะองค์กรแบบดั้งเดิมด้วยกันเท่านั้น แต่ยังมีองค์กรรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงวิชาชีพอิสระที่เป็นทางเลือกให้กับคนรุ่นใหม่

หากองค์กรจะยังคงรูปแบบการทำงาน การบริหารที่เหมือนกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และหวังว่าคนรุ่นใหม่อยากจะมาทำงานด้วยก็คงลำบากครับ สิ่งที่ผมมองคือ ในเมื่อเราสอนกันมาตลอดว่า องค์กรจะต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ ก็ถือเป็นสภาวะแวดล้อมที่สำคัญประการหนึ่ง ที่ถ้าไม่ปรับตัว องค์กรก็จะขาดคนดีมีฝืมือรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงาน และเป็นความเสี่ยงที่สำคัญประการหนึ่งขององค์กรครับ