การดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญของธุรกิจ

การดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญของธุรกิจ

ธุรกิจที่ต้องการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน มักดูแลผู้ที่มีส่วนได้เสียของธุรกิจอย่างเป็นธรรม

เริ่มต้นจากการวิเคราะห์เพื่อชี้บ่งว่า ผู้ที่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจมีใครบ้าง สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้กี่กลุ่ม

เพื่อที่จะกำหนดกลยุทธ์และวิธีปฏิบัติใหนการให้การดูแลกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโดยทั่วไปมักจะมองข้ามกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งไปเสมอ

อาจถึงกับลืมนึกไปว่า เป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มหนึ่งของธุรกิจเช่นกัน

กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจกลุ่มนี้ก็คือ พนักงานที่ทำงานให้กับธุรกิจนั่นเอง!

ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า พนักงานของบริษัท เป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าไปสู่การเติบโตและความยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ นโยบาย และกลยุทธ์ธุรกิจที่ฝ่ายบริหารได้กำหนดขึ้น
ลำพังเพียงคณะผู้บริหาร คงจะไม่สามารถดำเนินการให้ทุกภาคส่วนของธุรกิจให้สามารถบรรลุ

วัตถุประสงค์ของธุรกิจได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากพนักงานในทุกลำดับชั้น

ทำให้เห็นได้ว่า พนักงานนี่เอง ที่ควรได้รับการให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับธุรกิจมากที่สุด

หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ภายในตัวธุรกิจเลยก็ว่าได้

นอกจากนั้น พนักงานในองค์กรธุรกิจ ยังมีส่วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความอยู่ดีกินดีและการพัฒนาสังคมโดยรวมโดยผ่านการให้การดูแลที่ดีแก่ครอบครัวของตนเองหรือผู้ใกล้ชิดในชุมชนและสังคมที่เป็นที่อยู่อาศัย

ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม จึงต้องให้การดูแลเอาใจใส่ที่ดีแก่พนักงานของตนเองอยู่เสมอ
การที่พนักงานได้รับการดูแลที่ดี มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จะส่งผลให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยย่อยที่สุดของสังคม อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประชากร สังคม และเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไป

โดยทั่วไปแล้ว การให้การดูแลที่ดีต่อพนักงาน มักจะต้องเริ่มต้นที่การให้ความเคารพต่อสิทธิของพนักงานที่เป็นไปตามหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

ซึ่งหมายถึง การยอมรับและปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์อย่างเคร่งครัด

หรือมีแนวปฏิบัติที่ดีกว่าสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อกระตุ้นและเป็นกำลังใจให้พนักงานทำหน้าที่ให้ดีที่สุดให้กับธุรกิจ

รวมถึงเรื่องของการให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม เหนือกว่าคู่แข่งในธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน
ลำดับต่อมาก็คือ การจัดการให้ความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีในที่ทำงาน

การให้ความปลอดภัย เริ่มตั้งแต่เรื่องของการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องจักร หรือวัตถุดิบที่เป็นสารอันตราย การมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอย่างเพียงพอและทั่วถึง

เรื่องของแสงสว่าง การถ่ายเทอากาศ การป้องกัน กลิ่น ควัน ไอ หรือมลพิษต่างๆ ที่เกิดจากการทำงาน

การตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อดูแล ติดตาม และป้องกันโรคภัยต่างๆ ก่อนเกิด

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงเรื่องของการให้ความปลอดภัยในทรัพย์สินของพนักงานในระหว่างที่ทำงาน

เช่น การจัดให้มีตู้ล็อกเกอร์ส่วนตัว หรือแม้กระทั่งการจัดให้มีรถรับส่งพนักงานไปกลับจากการทำงาน

การจัดให้ระบบการพัฒนาฝีมือและศักยภาพของพนักงาน เพื่อส่งเสริมให้พนักงานที่มีความสามารถได้ทำงานในหน้าที่ที่เหมาะสมและถนัด ซึ่งนอกจากจะทำให้พนักงานได้แสดงออกผ่านการสร้างผลงานแล้ว ยังจะช่วยสร้างให้ธุรกิจสามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่นเหนือคู่แข่งได้อีกด้วย

การจัดให้มีการฝึกอบรมและการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่พนักงาน การส่งเสริมให้พนักงานได้มีโอกาสไปดูงานนอกสถานที่ หรือแม้แต่การส่งไปฝึกงานดูงานยังต่างประเทศ ก็จะช่วยให้พนักงานได้มี

ประสบการณ์แปลกใหม่เพิ่มขึ้น และนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดการทำงานที่ดีขึ้น หรือมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น

การส่งเสริมให้พนักงานได้มีส่วนร่วม หรือแสดงความคิดเห็นในการปรับปรุงงานหรือการพัฒนาวิธีการทำงานให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการมีกล่องแสดงความคิดเห็นสำหรับพนักงานที่ยังไม่ต้องการที่จะเปิดเผยตัว

หรือการให้โอกาสในระหว่างการประชุมที่มีบรรยากาศของการเปิดใจที่จะทำงานร่วมกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร ไม่มีฝ่ายบริหารหรือฝ่ายผู้ใต้บังคับบัญชา

การสนับสนุนให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในนามบริษัท นอกจากจะเป็นช่องทางที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพนักงานด้วยกันเองแล้ว ยังเป็นตัวอย่างให้พนักงานได้มีโอกาสสัมผัสกับความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมให้สิ่งที่ดีงามตอบแทนสังคม และเห็นคุณค่าของการส้างสังคมที่ดีติดตัวไปเสมอ แม้ขณะอยู่นอกเวลาทำงาน

สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่บุคคลในครอบครัว ในชุมชน และในสังคมโดยรวม

การเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างยาวนาน เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจสามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นได้ภายใน ซึ่งมักจะมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการซื้อเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศโดยตรง

และยังจะทำให้พนักงานได้เห็นผลงานของตัวเองที่สามารถสร้างผลประโยชน์หรือผลกระทบเชิงบวกให้แก่บริษัท นำไปสู่การเพิ่มความจงรักภักดีต่อองค์กร และมุ่งแสวงหาความมั่นคงยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการเติบโตของบริษัท

จะเห็นได้ว่า การให้การดูแลกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ ซึ่งได้แก่พนักงานของตนเอง จะให้ผลสะท้อนกลับที่อาจมีมูลค่าเพิ่มกลับมาสู่ธุรกิจหลายเท่ามากกว่าที่จะคิดถึงต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไป หากผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจ จะยึดมั่นในแนวทางการสร้างความรรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน

ด้วยการใส่ใจดูแลกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของธุรกิจอย่างจริงใจ!!??!!