ผู้นำกับวัฒนธรรมการคิด

ผู้นำกับวัฒนธรรมการคิด

นานวันทักษะความสามารถจะช่วยปรุงแต่งความคิดให้บรรเจิดกลายเป็นนวัตกรรมที่คนทั่วไปชื่นชมได้ในที่สุด

ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ ตลอดจนนโยบายของรัฐบาล เริ่มใส่ใจและให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสร้างสังคมที่ใช้ความรู้เป็นฐานทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาที่อิงกับความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมและการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ถึงแม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพกำลังคนกฎกติกาธรรมาภิบาลและระบบบริหารจัดการต่างๆของไทยยังคงเป็นจุดอ่อนที่รอการแก้ไข แต่ความตั้งใจในการปฏิรูปทุกๆมิติ จะส่งผลทำให้ศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขันของไทยและในเวทีระหว่างประเทศดีขึ้นซึ่งถ้าเราสามารถสร้างความตื่นตัวและเร่งปรับปรุงตรงนี้ได้ก็คงสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างเข้มแข็งในที่สุด

สิ่งที่องค์กรต้องกระทำนอกเหนือจากคุณภาพ (Quality) และผลิตภาพ (Productivity) แล้วพลังความคิดสร้างสรรค์กำลังทวีความสำคัญและกลายเป็นสิ่งบ่งชี้ศักยภาพและความสามารถของคนและองค์กรได้เป็นอย่างดี เพราะการเปลี่ยนแปลง (Change) ได้กลายเป็นคำยอดฮิตติดลมบนไปแล้วในยุคสมัยนี้

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) กำลังเป็นทางเลือกใหม่ขององค์กรทั้งหลายอีกทั้งยังเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าและบริการต่างๆได้อย่างน่าประหลาดใจเพราะดูเหมือนว่าผู้บริโภคพร้อมจะต่อแถวหรือลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อให้ได้สินค้าที่เลอเลิศมาครองก่อนใคร

แต่การจะสร้างนวัตกรรมที่ออกมาโดนใจชนิดขายได้ถล่มทลายก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพียงแต่เราต้องสร้างบรรยากาศให้เด็กเยาวชนและคนทำงานได้คิดและมีเวทีให้ได้แสดงผลงานจากความคิดในมิติต่างๆอย่างรอบด้านผู้ใหญ่ก็ต้องมีใจเปิดกว้างรับฟังและให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง

ไม่ใช่บอกว่าเปิดโอกาสเต็มที่แต่ถึงเวลากลับยึดติดกับความคิดและประสบการณ์ในอดีตของตนเองคำพูดที่มักจะได้ยินและบั่นทอนกำลังใจอย่างมากคือ“คิดอะไรเพ้อเจ้อ” “ถ้าทำได้จริงคนอื่นคงทำไปตั้งนานแล้ว”

ดังนั้นวัฒนธรรมกล้าคิดกล้าทำกล้านำเสนอจะเกิดไม่ได้เลยถ้าผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่เบอร์1 ขององค์กรไม่สามารถข่มใจรับฟังอย่างตั้งใจและยังหลงตัวพูดชี้นำหรือสั่งการตามความคิดเห็นตนเองอยู่เสมอ

ถ้าตัดสินใจดีแล้วที่จะใช้ความคิดเป็นตัวนำและส่งเสริมให้ทุกคนทำตามความคิดและความฝันนั้นให้ได้มาเริ่มต้นง่ายๆจากการส่งเสริมให้คนรอบตัวได้แสดงออกซึ่งความคิดริเริ่มที่ไม่เหมือนใครแปลกใหม่น่าใช้ต่อจากนั้นคือ การนำความคิดนั้นมาสร้างให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้ดังคำที่ว่า 'IDEA I DO' ดังนี้

I - Imagination and Inspiration จินตนาการและแรงบันดาลใจหลายครั้งก็มาจากความต้องการของลูกค้าที่อยู่ในใจลึกๆ (Insight) หรือบางครั้งก็มาจากกระแสเรียกร้องของตลาด

D - Differentiation ความแตกต่างทั้งที่เป็นการแก้ไขปัญหาความยุ่งยากเดิมเพิ่มเติมด้วยความสามารถที่ดีกว่าเก่าหรือเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครนึกถึงมาก่อน

E - Esteem ความโดดเด่นล้ำค่ามากมายด้วยความสามารถหรือช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ให้ดีขึ้นอาจจะแก้ปัญหาความยุ่งยากที่มีอยู่ของกระบวนการผลิตและความสามารถของผลิตภัณฑ์แบบเดิม

A - Appearance ดูดีมีสง่าน่าใช้เป็นรูปลักษณ์ภายนอกที่ช่วยสร้างสุนทรียศาสตร์ให้แก่ผู้พบเห็นรวมถึงผู้ใช้งานที่สำคัญควรจะเรียบง่ายไม่ซับซ้อน

แต่ลำพังความคิดถ้าไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ก็จะกลายเป็นความเพ้อฝันได้ในที่สุดมาลงมือทำกันด้วยขั้นตอนต่อไปนี้

I - Invention การประดิษฐ์คิดค้นหรือการสร้างต้นแบบขึ้นจากความคิดลองผิดลองถูกไม่ว่าขอให้ได้ลองทำดูเพราะไม่ลองย่อมไม่รู้

D - Development การพัฒนาต่อยอดสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์หรือเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยการผลิตในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของตลาดหรืออาจขายสิทธิให้ผู้อื่นที่มีความสามารถนำไปต่อยอดจากสิทธิบัตรที่เราจดทะเบียนไว้

O - Offering การเผยแพร่สู่กลุ่มเป้าหมายหรือโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายของนวัตกรรมนั้นๆไม่แน่เกิดฮิตติดลมบนหรือปฏิวัติวงการจนทำให้ของเก่าเลิกใช้ไปเลยก็ได้

ลองนำความคิดมาประดิษฐ์พัฒนาและถ่ายทอดก่อนจะมลายกลายเป็นแค่ฝันสลายแรกๆอาจยังไม่ตรงเป้าและเสียเวลาไปบ้างแต่บ่อยครั้งนานวันทักษะความสามารถจะช่วยปรุงแต่งความคิดให้บรรเจิดกลายเป็นนวัตกรรมที่คนทั่วไปชื่นชมได้ในที่สุด ดังนั้นเริ่มต้นด้วยการสร้างวัฒนธรรมการคิด การแลกเปลี่ยน จนไปถึงการลงมือปฏิบัติจริง Project Based Learning จึงเป็นแนวทางที่มีประสิทธิผลจริงๆ