'ปรองดอง-นิรโทษกรรม' มาถูกทาง

'ปรองดอง-นิรโทษกรรม' มาถูกทาง

เชื่อว่าหลายคนหลายฝ่ายยังคงมองเรื่อง “ปรองดอง” และ“นิรโทษกรรม” แตกต่างกันออกไป

         อยู่ที่ว่า ใครมองเหตุแห่งที่มา ปัญหาความขัดแย้งที่ต้องการปรองดอง และนิรโทษกรรมอย่างไร

เรื่องใครผิดใครถูกที่พูดกัน ยึดถือกัน จนแทบหาจุดจบไม่ได้

        แน่นอน ปัญหาคือ ทำอย่างไร ให้ทุกคนยอมรับความจริงได้ว่า มันมีชุดความจริงเดียวที่ทุกคนจะต้องยอมรับร่วมกันให้ได้ ไม่ว่ามันจะทำให้ฝ่ายของตัวเอง พ่ายแพ้ เจ็บปวด ผิดหวัง หรือแม้แต่บางคนในฝ่ายของตน คนใกล้ชิดกับตน หรือ คนที่ตนนับถือศรัทธา อาจถูกดำเนินคดี ก็ต้องยอมรับความจริง

         ยิ่งกว่านั้น พอมีคนหยิบยกเรื่องนี้มานำเสนอต่อสังคม หลายคนยังแทบไม่ดูเนื้อหาสาระสำคัญ ก็ด่วนตัดสินไปแล้ว ว่า เอนเอียงข้างฝ่ายไหน“อุ้ม”หรือช่วยใคร“ซูเอี๋ย”กันแน่นอน ฯลฯ

         นี่เอง ทำให้รายงานผลการศึกษาของ กมธ.การศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีเอนก เหล่าธรรมทัศน์เป็นประธาน ที่เสนอแก่เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. และสำนักข่าวอิศรา นำมาเปิดเผย น่าสนใจอย่างยิ่ง

         เพราะที่ปฏิเสธไม่ได้อันดับแรก คือ “ความจริง” นั่นเอง ซึ่งกมธ.ศึกษาฯเสนอให้มีการรวบรวมข้อจากทุกฝ่ายทุกคนที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างพ.ศ.2548-2557

         ประเด็นต่อมา คือ การอำนวยความยุติธรรม การสำนึกรับผิด และการให้อภัย

        สาระสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นจำแนกคดี ถึงมูลเหตุแห่งการกระทำผิดว่า เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง (แรงจูงใจจากความเชื่อหรือมุมทางการเมืองที่แตกต่างกับรัฐบาล) เป็นความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ (ความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหายโดยตรง-ผิดต่อเอกชน-ผิดร้ายแรงที่ผลกระทบต่อศีลธรรม) เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจในทางการเมืองแต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ โดย สตช. หรือดีเอสไอ อาจใช้อำนาจในการทำความเห็นต่อประเด็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง เสนอต่ออัยการเพื่อพิจารณาต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140-147

        เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ หรือควรยกฟ้องหรือไม่

        ที่สำคัญ คดีที่มีฐานความผิดทางอาญาโดยเนื้อแท้ หรือความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองแต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ เช่น ทำร้ายผู้อื่นจนแก่ความตาย ก่อการร้าย ลักทรัพย์ หรือผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้พิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมปกติ

        ประเด็นสุดท้ายการตรากฎหมายพิเศษเพื่อกระบวนการยุติธรรมสำหรับการปรองดองและสมานฉันท์

        กฎหมายพิเศษนั้น ครอบคลุมถึงหลักการแห่งความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในหลักสากลครอบคลุมถึงวิธีการเหล่านี้

        หนึ่ง-การตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริง เพื่อการรับรู้ถึงสาเหตุและการคลี่คลายปมปัญหา สอง-การดำเนินคดีต่อผู้ที่ละเมิดกฎหมายด้วยหลักนิติธรรม สาม-การเยียวยาและชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง สี่ - การยอมรับในการกระทำ ขออภัยและแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำผิด ห้า - การนิรโทษกรรมและการให้อภัย โดยมีข้อยกเว้นมิให้การนิรโทษกรรมกับผู้กระทำความผิด ในกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง หก-การปฏิรูป หรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ให้เอื้อกับการลดและป้องกันการก่อเกิดขึ้นซ้ำของความขัดแย้ง เช่น การแบ่งสรรอำนาจการเมืองให้เกิดดุลยภาพ การลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาและเข้าถึงทรัพยากร เป็นต้น

        ที่น่า “โฟกัส” อย่างยิ่ง ก็เห็นจะเป็น“ข้อหา”เพราะงานนี้แกนนำขั้วขัดแย้งทางการเมืองทั้งสองฝ่ายถือว่าไม่รอด และคนไทยต่างรู้ดีว่า“ไผเป็นไผ”

       แต่ที่ต้องการชี้ให้เห็นคือเราเดินมาถูกทางเพราะยังมองไม่เห็นทางออกอื่น ที่เราจะปรองดองสมานฉันท์กันได้ โดยก้าวข้ามความจริงที่ยอมรับร่วมกัน สำนึกผิด ให้อภัยกันไม่ทำให้ใครถูกประณามหยามหมิ่นว่า เป็นคนผิดแต่เพียงผู้เดียว และไม่ถูกข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า”?โดยใคร

        เพราะถึงที่สุดแล้ว เราไม่สามารถไล่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออกจากประเทศเพราะเห็นต่างและขัดแย้งได้ เพื่อให้เหลือฝ่ายเดียว เพื่อการ“ปรองดอง”ฟันธงได้เลย