ถึงเวลาปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกไทยไปจีน

ถึงเวลาปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกไทยไปจีน

แม้ว่าไทย-จีน ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตมานาน 40 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 1975

แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน เพิ่งจะขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วงภายหลังปี 2000 โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลจีนเบนเข็ม หันมาใช้ “นโยบายรุกลงใต้” (Look South Policy) มุ่งเน้นคบค้าทางเศรษฐกิจกับอาเซียนอย่างจริงจัง ด้วยการจีบประเทศอาเซียนให้หันมาจับมือกับจีน จัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China FTA)

ไทยในฐานะประเทศแถวหน้าของอาเซียน จึงกลายเป็นตัวเลือกหนึ่ง ในการใช้เป็นฐานเพื่อขยายบทบาทของจีนในภูมิภาค จนถึงวันนี้ พญามังกรจีนได้เข้ามาพัวพันทางเศรษฐกิจกับกลุ่มอาเซียนมากขึ้น ทั้งด้านการค้า การลงทุน และภาคบริการด้านการท่องเที่ยว

จากที่ดิฉันได้เคยย้อนไปดูมูลค่าการค้าไทย-จีน ในรอบ 20 ปี (ช่วง 1994-2014) พบว่า การค้าไทย-จีนมีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังจากมีการทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2004 มูลค่าการค้ารวมไทย-จีน ได้ทะลุหลัก 15,000 ล้านดอลลาร์ และได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าให้จีนมาโดยตลอด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ไทยเคยติดอันดับเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 2 ของจีน

อย่างไรก็ดี ในปี 2014 ที่ผ่านมา ไทยโดนเวียดนามแซงขึ้นมาอยู่เป็นอันดับ 2 และไทยกลับร่วงหล่นไปอยู่อันดับ 4 ในฐานะคู่ค้าในอาเซียนของจีน จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์จีน ในปี 2014 การค้าจีน-ไทย มีการขยายตัวเพียงแค่ร้อยละ 2 ในขณะที่ การค้าจีน-เวียดนาม ได้ขยายตัวถึงร้อยละ 27.7

การค้าไทย-จีนขยายตัวลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกของจีนไปตลาดโลกลดลง จึงส่งผลต่อเนื่องฉุดลากการค้าไทย-จีนให้ลดลงตามไปด้วย มาถึงจุดนี้ คุณผู้อ่านอาจจะเริ่มมีคำถามว่า แล้วทำไมการส่งออกไทยไปจีน ถึงต้องลดลงตามไปด้วย ในช่วงเวลาที่การส่งออกของจีนลดลง หากย้อนไปวิเคราะห์ดูโครงสร้างสินค้าส่งออกไทยไปจีน เราจะพบรากของปัญหาค่ะ

ที่ผ่านมา สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนส่วนใหญ่ เป็นสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ เช่น เม็ดพลาสติก ยางพารา เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ล้วนเป็นสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทย เพื่อใช้แปรรูป และเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของจีนต่อไป ดังนั้น เมื่อภาคการส่งออกของจีนซบเซา จึงส่งผลต่อเนื่องทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ จากไทยต้องลดลงตามไปด้วย

จากมูลค่าในปี 2014 พบว่า สินค้าส่งออกไทยไปจีนมีการขยายตัวต่ำมาก และติดลบในหลายรายการ โดยเฉพาะยางพารา ลดลงถึงร้อยละ 22.44 และผลิตภัณฑ์ยาง ลดลงร้อยละ 18.2

ไม่เฉพาะด้านการค้าเท่านั้น ด้วยนโยบายรุกลงใต้ของรัฐบาลจีน กลุ่มทุนและบริษัทจีนยังได้เข้ามาขยายการลงทุนในไทยมากขึ้น แม้ว่าในขณะนี้ นักลงทุนจีนในไทยจะยังไม่สามารถแซงหน้าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแชมป์ต่างชาติลงทุนในไทยมากอันดับ 1 แต่ก็มีอัตราการขยายตัวของทุนจีนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมไปถึงการเข้ามาตั้งนิคมอุตสาหกรรมของทุนจีนในไทย

ไม่เฉพาะในไทยนะคะ ด้วยปัจจัยเอื้อหลายอย่าง ทำให้ทุนจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งการออกไปสร้างอาณาจักรทุนจีนในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลจีนที่ชี้นำและชักนำให้นักธุรกิจจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เดินออกไป” (Zou Chu Qu) พร้อมมีมาตรการแรงจูงใจต่างๆ ให้กับนักลงทุนจีน เช่น การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การค้ำประกันโดยรัฐ เป็นต้น

โดยสรุป การขยายตัวของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีนในช่วง 20 ปีมานี้ ล้วนเกิดขึ้นในบริบทของไทยที่เป็นสมาชิกอาเซียน หลังจากที่รัฐบาลจีนมีนโยบายมุ่งลงใต้ จึงต้องการหันมาคบค้ากับไทยมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งด้านการค้าและการลงทุน เพื่อใช้ไทยเป็นฐานในการขยายบทบาททางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคอาเซียนนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การค้าไทย-จีนได้เริ่มเติบโตต่ำลง เนื่องด้วยภาวะชะลอตัวของภาคการส่งออกของจีนขยายตัวช้าลง ส่งผลต่อเนื่องฉุดลากให้การค้าไทย-จีนลดลง ดังนั้น นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีน เมื่อภาคการส่งออกของจีนซบเซา จึงส่งผลต่อเนื่องไปยังความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบจากไทยต้องลดลงตามไปด้วย

ในขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกจากไทยไปจีนอย่างจริงจัง ลดการพึ่งพาสินค้าส่งออกกลุ่มวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ โดยหันมาเน้นผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายส่งออกไปจีนให้มากขึ้น เช่น กลุ่มอัญมณี และสินค้าดีไซน์ตกแต่งบ้าน เป็นต้น พร้อมกับการทำการตลาดเจาะลึกระดับมณฑล เน้นเจาะกลุ่มชนชั้นกลางจีนที่มีรายได้และมีอำนาจซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มหนุ่มสาวจีนยุคใหม่จำนวนไม่น้อยมีทัศนะด้านบวกต่อประเทศไทยตามกระแส “T Pop” ที่หันมาชื่นชมดารานักร้องชาวไทยมากขึ้น

ขอสรุปปิดท้ายว่า ในอนาคตความสัมพันธ์เศรษฐกิจไทย-จีน คงจะมีความเกี่ยวพันโยงใย และแยกไม่ออกจากความเกี่ยวข้องกันในบริบทอาเซียน แต่จะทำอย่างไรให้การค้ากับจีน รวมไปถึงการลงทุนจากจีน และการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทย ได้เป็นการเกี่ยวพันโยงใยกันในเชิงคุณภาพมากกว่าด้านปริมาณ  คงจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนไทย ต้องมานั่งจับเข่าคุยกันและดำเนินการผลักดันอย่างจริงจังต่อไปค่ะ

-------------------------

รศ.ดร.อักษรศรี (อติสุธาโภชน์) พานิชสาส์น

ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

www.vijaichina.com