นายทุน ขุนศึก และดาวดิน

นายทุน ขุนศึก และดาวดิน

เป็นไปตามการคาดหมายของหลายฝ่ายว่า กรณี “จับ 14 นักศึกษา-นักกิจกรรม” จะมีทางลงให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย

เนื่องจากผู้ถืออำนาจเห็นว่า ยิ่งยืดเยื้อ ยิ่งถูกกดดันจากนานาชาติ ส่วนผู้ท้าทายอำนาจ ก็พบความจริงในแง่ “จำนวน” ของมวลชน มัน “จุดติดยาก” ขืนปล่อยนักศึกษา-นักกิจกรรมอยู่ในเรือนจำนานไป ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด

  ลึกๆแล้ว เกมนี้เป็นการต่อสู้กันทางความคิด ระหว่าง หน่วยข่าวพลเรือนกับ หน่วยข่าวทหาร

เบื้องแรก ฝ่ายความมั่นคงสายทหาร เชื่อว่ามีหลักฐานพอจะชี้ว่า “กลุ่มการเมือง” หนุนหลัง “14 นักศึกษา-นักกิจกรรม” แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงถึงคนอยู่เบื้องหลัง

ขณะที่ “ทีมงานการข่าวของพลเรือน” ได้เสนอความเห็นไปยังฝ่ายความมั่นคงสายทหารตั้งแต่แรกว่า ไม่ควรจับนักศึกษา เพราะนักศึกษายังไม่เป็น “ขบวนการ” และมีลักษณะการเคลื่อนไหวแบบ ฮีโร่โชว์พาว มากกว่า

แม้ฝ่ายข่าวทหารจะพอรู้ว่า นักศึกษาบางคนมีสายสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองอำนาจเก่า แต่หาหลักฐานมัดตัวนักศึกษาไม่ได้ ฝ่ายข่าวพลเรือน จึงสบช่องเสนอ “ผู้ใหญ่ใน คสช.” ให้หาทาง “ปล่อยนักศึกษา” ออกจากเรือนจำ

เหตุใดฝ่ายข่าวพลเรือน จึงมั่นใจว่าไม่มีการเมืองอยู่หลังม่านการเคลื่อนไหวนักศึกษา-นักกิจกรรมกลุ่มนี้

ฝ่ายข่าวพลเรือนนั้นได้เกาะติด กลุ่มดาวดิน ร่วมกับ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ตั้งแต่สมัยต้านการเปิดเหมืองทองคำที่ อ.วังสะพุง จ.เลย จนมาถึงการขุดเจาะปิโตรเลียมที่บ้านนามูล อ.กระนวน จ.ขอนแก่น

จะว่าไปแล้ว กลุ่มชาวบ้านและกลุ่มดาวดิน มิได้ต่อสู้กับ “นายทุนเหมืองทอง” เท่านั้น หากแต่พวกเขายังต้องเผชิญหน้ากับ “นักการเมือง” ที่่รับผิดชอบการขนแร่ออกจากพื้นที่

เป็นที่ทราบกันดีว่า นักการเมือง “บ้านใหญ่” กับ “บ้านเล็ก” คือผู้ทรงอิทธิพล ในฐานะที่เป็นทั้งนายทุนทำเหมืองแร่เอง เป็นนายหน้าซื้อขายแร่ และประกอบกิจการก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับแร่

เล่ากันว่า หลังจาก “ดาวดิน” ชู 3 นิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาใหญ่แดงอีสาน ได้เจรจาขอเป็นสปอนเซอร์ แต่แกนนำดาวดินปฏิเสธ เพราะเคยเจ็บช้ำจากนักการเมืองบ้านใหญ่-บ้านเล็กที่ใกล้ “กลุ่มอำนาจเก่า” ในกรณีเหมืองทองคำ

จากเมืองเลย กลุ่มดาวดิน ได้เข้ามาช่วยเหลือ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล ดูนสาด โดยรวมตัวต้านการขุดเจาะปิโตรเลียม ที่บ้านนามูล ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น

ขณะเดียวกัน กลุ่มดาวดินยังได้ทำงานร่วมกับ “กลุ่มอนุรักษ์ดงมูล” ที่่ต้านการขุดบ่อก๊าซ ในพื้นที่ อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีพื้นที่อยู่ติดกัน

ด้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และ กอ.รมน.ขอนแก่น ดูคล้ายจะเป็น “คนกลาง” เข้ามาแก้ไขความขัดแย้งระหว่าง “กลุ่มทุนปิโตรเลียม” กับ “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล ดูนสาด” หรือชาวบ้านสองกลุ่ม ที่แยกเป็นฝ่ายหนุนกลุ่มทุน กับฝ่ายต้านนายทุน แต่ทำไปทำมา ตัวแทนภาครัฐ กลับมีความโน้มเอียงไปทางกลุ่มทุนมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มดาวดินกับชาวบ้าน จึงมีทัศนคติที่เป็นลบกับภาครัฐ ทั้งกรณีเหมืองทองคำ และขุดเจาะปิโตรเลียม

ที่ผ่านมา การทำงานของกลุ่มดาวดิน จะได้รับการหนุนช่วยจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” (กสม.) โดยทาง กสม. เป็นผู้ฝึกสอนให้นักศึกษากลุ่มนี้ ไปทำหน้าที่เรียนรู้และดูแลชาวบ้านให้รู้จัก “สิทธิมนุษยชน” กับ “สิทธิชุมชน”

12 ธันวาคม 2557 กลุ่มดาวดินจึงได้รับรางวัลชนะเลิศด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ประเภทเด็กและเยาวชนของปี 2556 เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล

หน่วยข่าวพลเรือนที่เฝ้าเก็บข้อมูลมาตลอด จึงแยก “กลุ่มดาวดิน” ออกจากกลุ่มต้าน คสช.ที่มีดีเอ็นเอการเมือง(อำนาจเก่า)

โชคดีที่ "บิ๊กตู่" มีหน่วยข่าวพลเรือนที่เข้าใจ "สงครามความคิด" และไม่ได้ฟังแต่ "หน่วยข่าว กอ.รมน.ตกยุค จึงหาทางลงแบบวิน-วินทุกฝ่าย