ช่องทางทีวีดาวเทียมยัง‘โต’

ช่องทางทีวีดาวเทียมยัง‘โต’

การสำรวจแพลตฟอร์มการรับชมโทรทัศน์ 22.8 ล้านครัวเรือนไทย ของ นีลเส็น ประเทศไทย ระหว่างเดือน ก.ย.2556 - ส.ค.2557

   ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ ทีวีดิจิทัล ช่องใหม่เริ่มออกอากาศในเดือนเม.ย.2557 ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เริ่มแจกคูปองมูลค่า 690 บาท เพื่อสนับสนุนครัวเรือนไทยซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัลในเดือน ต.ค.2557

ช่วงเวลาที่นีลเส็น สำรวจแพลตฟอร์มการรับชมทีวีล่าสุดถึงเดือน ส.ค.2557 นั้น พบว่าช่องทางทีวีดาวเทียม เติบโต 7% เทียบปีก่อนช่วงเดียวกันปีก่อน โดยครองสัดส่วนการรับชม 56% ส่วนแพลตฟอร์มอื่นๆ ประกอบด้วย เคเบิลท้องถิ่น 10% ทรูวิชั่นส์ 8% หากรวมการรับชมทีวีผ่านเคเบิลและดาวเทียมอยู่ที่ 74% ขณะที่่ช่องทางทีวีอนาล็อกและกล่องดิจิทัลครองสัดส่วน 26%

การขยายตัวของช่องทางทีวีดาวเทียม ก่อนที่สำนักงาน กสทช.แจกคูปอง มาจาก ช่องรายการ ทีวีดิจิทัล เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถรับชมได้ทันทีผ่านช่องทางเคเบิลและดาวเทียม จากการบังคับใช้ประกาศมัสต์ แคร์รี่ ที่กำหนดให้นำช่องทีวีดิจิทัลไปออกอากาศ ขณะที่โครงข่ายส่งสัญญาณภาคพื้นดิน (Mux) ยังขยายสถานีส่งสัญญาณไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้แผนการขยายสถานีส่งสัญญาณจะใช้เวลา 4 ปี (2557-2560) ในการเข้าถึงครัวเรือนไทย 95%

ขณะที่ช่องทางทีวีดาวเทียม เข้าถึงครัวเรือนไทย 100% อีกทั้งสามารถรับชม“ช่องรายการ”กว่า 200 ช่อง ทั้ง ทีวีดิจิทัลและทีวีดาวเทียม นับเป็นอีกปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นถึงการแจกคูปองของ กสทช. จำนวนกว่า 14.1 ล้านคูปองในปัจจุบัน แต่การนำคูปองไปแลกซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัล ระบบ DVB-T2 เพื่อรับชมช่องใหม่ 24 ช่องและช่องสาธารณะ ด้วยคุณภาพเอชดี อยู่ในภาวะ“ไม่ตื่นตัว” มากนัก จากจำนวนคูปองที่นำไปแลกซื้อถึงปัจจุบันอยู่ที่ราว 6-7 ล้านฉบับ หรือราว 50% ของจำนวนที่แจก

ปัจจัยที่ทำให้การนำคูปองไปแลกซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัล “ไม่คึกคัก” เพราะครัวเรือนไทยทั่วประเทศ 70% รับชมทีวีดิจิทัล ได้อยู่แล้วผ่านแพลตฟอร์มเคเบิลและทีวีดาวเทียม ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงช่องทางการรับชมทีวีดิจิทัลหลักๆ จึงไปอยู่ที่กลุ่มที่รับชมระบบอนาล็อกที่ยังเหลือในตลาดอีกราว 30%

การเปลี่ยนแปลงช่องทางการรับชมทีวีดิจิทัล ที่ไม่เกิดขึ้นในในทันที แม้มีคูปอง 690 บาท สนับสนุนการซื้ออุปกรณ์ ส่วนหนึ่งมาจากการขยายโครงข่ายภาคพื้นดินที่ต้องใช้เวลา 4 ปี ครอบคลุมทั่วประเทศ แผนประชาสัมพันธ์กระตุ้นการเปลี่ยนผ่านล่าช้า เนื่องจากใช้วิธีจัดจ้างภาครัฐ

ประการสำคัญ “ทีวีดิจิทัล” เป็นแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นหลังสุดในประเทศไทย ขณะที่รูปแบบการรับชมทีวีของครัวเรือนไทย 70% จึงถูกครองตลาดโดย “เคเบิลและทีวีดาวเทียม” ที่สามารถรับชมช่องรายการกว่า 200 ช่อง อีกทั้ง ราคา กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมระบบเอชดี ที่สามารถรับชมช่องรายการด้วยคุณภาพเอชดี เช่นเดียวกับกล่องดิจิทัล ปัจจุบันอยู่ที่ 1,000-1,200 บาท ด้วยราคาที่ “ไม่ต่าง” กันมากนัก แต่สามารถรับชมช่องรายการได้มากกว่า จึงทำให้ช่องทางทีวีดาวเทียมยังเติบโตได้ท่ามกลางการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล ช่องใหม่

เช่นเดียวกับ ช่องทีวีดาวเทียม ที่มีคอนเทนท์โดดเด่น กลุ่มเป้าหมายชัด บางช่องมีเรทติ้งภาพรวมทั่วประเทศสูงกว่าทีวีดิจิทัล ขณะที่ต้นทุนบริหารจัดการต่ำกว่า 10 เท่า เมื่อช่องทางการรับชมผ่านทีวีดาวเทียมยังครองส่วนแบ่งตลาดรับชมทีวีสูงสุดขณะนี้ ช่องทีวีดาวเทียม จึงมีโอกาสเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากและหารายได้จากโฆษณา

ดังนั้นกระบวนการกระตุ้นให้ครัวเรือนไทย เปลี่ยนการรับชมจากช่องทางทีวีดาวเทียม 200 ช่องบวกทีวีดิจิทัล ไปเป็นช่องทางทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน 24 ช่องธุรกิจ 12 ช่องทีวีสาธารณะ “จึงต้องใช้เวลา” เมื่อผู้ชมส่วนใหญ่พอใจกับการดูฟรี ผ่านช่องทางดาวเทียม และเทคโนโลยีการรับชมระบบเอชดี มีราคาถูกลงเรื่อยๆ ยังเป็นแรงหนุนให้ช่องทางทีวีดาวเทียมยังขยายตัวต่อ