ขั้นตอนก่อน Grexit?

ขั้นตอนก่อน Grexit?

แล้วผลการโหวตประชามติของชาวกรีซเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ออกมาตามที่รัฐบาลกรีซต้องการ ด้วยการไม่ยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดของยูโร

ผมคิดว่ามาตรการตอบโต้ของยูโรในช่วงสัปดาห์นี้ น่าจะยังอยู่ในลักษณะหยั่งเชิงดูท่าทีอยู่ เพื่อลดโมเมนตัมจากผลประชามติดังกล่าวไปก่อน ทว่า ทางยูโรภายใต้การนำของนางแองเจลลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมัน น่าจะยื้อเวลาการตัดสินใจครั้งสำคัญต่อกรีซออกไป 1-2 เดือน ซึ่งถึงตรงนั้น ผมคิดว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของกรีซในยูโรโซนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สิ่งที่ต้องจับตาในช่วงนี้ ได้แก่

หนึ่ง แบงก์พาณิชย์กรีซจะเปิดภายในสัปดาห์นี้หรือไม่ หากยิ่งปิดนาน ก็จะทำให้โอกาสเกิดความวุ่นวายของมวลชนในกรีซจะมีสูงขึ้น สอง หนี้ต่อธนาคารกลางยุโรปของกรีซ ในวันที่ 20 เดือนนี้ ท้ายที่สุดแล้วผลการเจรจาจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เนื่องจากจะเป็นบรรทัดฐานในส่วนหนี้อื่นๆ ในช่วงนี้

และที่เป็นไฮไลต์จริงๆ ได้แก่ จะมีการพูดถึงการใช้เงินสกุลใหม่ของกรีซภายในเดือนนี้หรือไม่ โดยหากมองย้อนกลับไป จะพบว่ามีเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกันอยู่หลายครั้ง อาทิ ออสเตรียและฮังการี ที่แตกจากการเป็นสกุลเงินร่วมกันในปี 1919 เชคโกสโลวาเกียที่แตกจากการเป็นสกุลเงินร่วมกันระหว่างประเทศเช็คและประเทศสโลวัก ระหว่างปี 1992-1993 ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเยอรมันกับ PIIGS ในปัจจุบัน หรือเรียกว่าการปฏิวัติ Velvet และท้ายสุดเหตุการณ์ที่สหภาพโซเวียตแตกออกเป็นรัสเซีย รวมถึงประเทศที่เคยเป็นแคว้นก็ทยอยประกาศอิสรภาพระหว่างปี 1992-1995 ทำให้เงินสกุลรูเบิลต้องแตกออกเป็นเงินสกุลย่อยๆ ตามแคว้นดังกล่าว

ผมขออธิบายการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว รวมถึงประเด็นหนี้ในส่วนต่างๆ ของกรีซที่จะเปลี่ยนสถานะไป เพื่อที่พวกเราจะได้เตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ ที่ครั้งหนึ่งอาจดูเหมือนโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีไม่มากนักอย่างรอบคอบ ขั้นตอนของการเปลี่ยนจากสกุลเงินร่วมกันในปัจจุบันของกรีซ ให้กลายเป็นเงินสกุลใหม่ สามารถแบ่งแบบคร่าวๆ ออกเป็น 5 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

ขั้นตอนแรก การผ่านกฎหมายที่จะยกเลิกสกุลเงินยูโรในกรีซ แล้วสร้างเงินสกุลใหม่มาใช้ โดยมักจะทำในลักษณะที่ตลาดคาดการณ์ไม่ถึง เช่น ทำในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งตลาดการเงินปิดทำการ รวมถึงอาจจะประกาศให้สถาบันการเงินและตลาดเงินต่างๆ ทั้งระบบหยุดทำการต่ออีก 2-3 วัน เพื่อให้สถานการณ์ของตลาดการเงินดังกล่าวไม่แกว่งตัวมากจนเกินไป

ขั้นตอนที่สอง เตรียมการเพื่อทยอยยกเลิกการใช้ธนบัตรเก่าหรือยูโร ด้วยการให้มีการปั๊มสัญลักษณ์ลงในธนบัตร เพื่อเป็นเครื่องหมายว่า ธนบัตรดังกล่าวสามารถใช้แลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรของระบบอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ได้ ทั้งนี้ ระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเพื่อนำไปสู่การใช้ธนบัตรใหม่ เฉพาะธนบัตรที่มีการปั๊มสัญลักษณ์เท่านั้น ที่สามารถนำมาใช้จ่ายกันในทางกฎหมาย จนกว่าจะมีการเริ่มใช้ธนบัตรแบบใหม่

สำหรับในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของการใช้เงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ระบบไอทีของสถาบันการเงินต่างๆ ต้องมีการตั้งโปรแกรมกันใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ระบบการจ่ายเงินของลูกค้า ระบบการจ่ายเงินระหว่างบัญชีสถาบันการเงิน รวมถึงระบบการเคลียร์ริ่งระหว่างแบงก์ต่างๆ ก็ต้องมีการปรับปรุงโปรแกรมเพื่อให้ใช้สกุลเงินต่างๆ ที่อัปเดตใหม่นี้ในระบบทั้งหมดอย่างถูกต้อง

ขั้นตอนที่สาม การควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุน โดยในทางทฤษฎีแล้ว ผู้กำหนดนโยบายการเงินไม่สามารถทำเหตุการณ์ 3 อย่างพร้อมๆ กัน

ประการแรก การทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าออกระหว่างประเทศอย่างอิสระ ประการที่สอง การปกป้องค่าเงินของตนเอง และ ประการสุดท้าย การทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพ เนื่องจากในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ ค่าเงินของสกุลเงินของประเทศกรีซต้องแกว่งอย่างรุนแรง และต้องรัดเข็มขัดเศรษฐกิจของตนเอง จึงเหลือทางออกเดียวคือ การควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าออกระหว่างประเทศ อย่างน้อยช่วงระยะเวลาหนึ่งหลังจากนี้

ขั้นตอนที่สี่ การเริ่มใช้ระบบธนบัตรใหม่ (Debt Redenomination) โดยหลังจากช่วงเวลาที่สามารถนำธนบัตรที่มีการปั๊มสัญลักษณ์ ไปแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรของระบบอัตราแลกเปลี่ยนใหม่สิ้นสุดลง ก็จะถึงเวลาที่ระบบธนบัตรใหม่เริ่มใช้อย่างเป็นทางการ

คำถามสำคัญ ณ จุดนี้ คือภาระหนี้เดิมในสัญญาการเงินต่างๆ จะใช้สกุลเงินใดในการชำระคืน หากยึดตามหลักการกฎหมาย lex monetae ที่กล่าวไว้ว่า สัญญาทางกฎหมายที่ออกโดยประเทศตนเองหรือ local law จะส่งผลให้หนี้หรือภาระทางการเงินในเงินสกุลเดิมที่ใช้ในสัญญาปัจจุบัน จะถูกโอนเป็นเงินสกุลใหม่ที่จะตั้งขึ้นมา ในทางกลับกัน สัญญาทางกฎหมายที่ออกโดยต่างประเทศ หรือ foreign law หนี้หรือภาระทางการเงินในเงินสกุลเดิมที่ใช้ จะยังคงใช้เงินสกุลที่ระบุไว้ในสัญญาเดิมหรือเงินสกุลยูโร

สำหรับกรณีของกรีซ มูลค่าของพันธบัตรในสัญญาเกือบร้อยละ 90 ได้ลงนามกันไว้ภายใต้กฎหมายของกรีซ จึงส่งผลให้สกุลเงินของพันธบัตรที่จะใช้กันหลังจากการยกเลิกยูโร คือ สกุลเงินใหม่ของกรีซเอง โดยหากมองในด้านกฎหมายแล้ว มิได้เป็นการเบี้ยวหนี้ (default) อย่างไรก็ดี ในมุมมองของสถาบันการจัดอันดับเครดิตและสถาบันที่ออกกฎหมายระหว่างประเทศ เกือบจะเป็นที่แน่ชัดว่าเข้าข่าย technical default

ขั้นตอนสุดท้าย คือ การใช้นโยบายการเงินและการคลังของธนาคารกลาง และภาครัฐที่เหมาะสมในการชำระภาระหนี้ในปัจจุบันคืน โดยที่ธนาคารกลางของประเทศลูกหนี้ต้องหาทางสร้างรายได้ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจมีระดับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หรือที่เรียกกันในทางเศรษฐศาสตร์ว่า รายได้จากการทำ seignorage ส่วนภาครัฐก็ต้องรัดเข็มขัดรายจ่าย และหารายได้เพิ่มเติมเพื่อจ่ายคืนหนี้ดังกล่าว

มาถึงนาทีนี้ โอกาสที่กรีซจะได้ใช้เงินสกุลใหม่แทนเงินสกุลยูโรมีอยู่ไม่น้อยจริงๆ ครับ

หมายเหตุ หนังสือเล่มล่าสุดด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคของผู้เขียน “เล่นหุ้นในไทย รวยไกลรอบโลก” วางจำหน่ายทั่วประเทศ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ LINE ID: MacroView ครับ