นักโทษทางความคิดคือใคร แตกต่างกับนักโทษทางการเมืองอย่างไร

นักโทษทางความคิดคือใคร แตกต่างกับนักโทษทางการเมืองอย่างไร

จากกรณีที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ประกาศให้นักศึกษาจำนวน 14 คน ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ในข้อหาขัดคำสั่ง คสช.

และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นนักโทษทางความคิด และเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขนั้น ทำให้เกิดความสงสัยในผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการสิทธิมนุษยชนว่า นักโทษทางความคิดคือใคร แตกต่างกับนักโทษทางการเมืองอย่างไร ผมจึงขอนำคำอธิบายจากเวบไซต์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มานำเสนอพร้อมกับความคิดเห็นเพิ่มเติม ดังนี้

นักโทษทางความคิด (prisoner of conscience)

นักโทษทางความคิด คือ บุคคลที่ถูกคุมขังหรือถูกจำกัดเสรีภาพทางร่างกาย เพียงเพราะการแสดงความคิด และหรือมีความเชื่อทางการเมือง ศาสนา ของตนที่แตกต่าง หรือเพียงเพราะมีชาติพันธุ์ เพศ สีผิว ภาษา ความเป็นมาด้านเชื้อชาติหรือสังคม สถานะทางเศรษฐกิจ ชาติกำเนิด อัตลักษณ์ทางเพศ หรือสถานะอื่นๆ ที่แตกต่าง โดยไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือสนับสนุนความรุนแรงหรือความเกลียดชัง พวกเขาถูกควบคุมตัว เพียงเพราะความเชื่อของตนเอง หรือเพียงเพราะอัตลักษณ์ของตนเอง โดยมิใช่เป็นเพราะอาชญากรรมที่ก่อขึ้น

บุคคลอาจกลายเป็นนักโทษทางความคิดด้วยเหตุผลต่างๆ กัน เช่น

-   มีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสันติ

- เป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มน้อยที่พยายามเรียกร้องอำนาจการปกครองตนเอง

- ยืนยันที่จะปฏิบัติตามหลักศาสนาของตน ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐ

- เข้าร่วมในกิจกรรมของสหภาพแรงงาน เช่น การนัดประท้วงหยุดงานหรือการเดินขบวน

- ถูกจับกุมเพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานของรัฐ

- เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เพื่อเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศตนเอง

- ปฏิเสธไม่ยอมเกณฑ์ทหารด้วยเหตุผลด้านมโนธรรมสำนึก (conscientious objection)

- ต่อต้านการใช้ภาษาที่เป็นภาษาทางการของประเทศ

- เพราะว่าไปอาศัยอยู่ในสถานที่บางแห่ง

- เพราะว่ามีเครือญาติที่เป็นฝ่ายค้านคนสำคัญของรัฐบาล

- มีการควบคุมตัวผู้หญิงด้วยเหตุผลเพียงเพราะเพศสภาพอย่างเดียว เช่น กรณีของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน หรือ  เพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศทั้งที่เป็นจริงหรือในความคิดของคนอื่น หรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน 

ซึ่งตามกฎบัตรและกติการะหว่างประเทศนั้น รัฐบาลไม่มีสิทธิควบคุมตัวบุคคลเหล่านี้

การตัดสินว่านักโทษคนใดเข้าข่ายเป็นนักโทษทางความคิด ต้องใช้การวิเคราะห์ข้อเท็จจริงอย่างระมัดระวัง เจ้าหน้าที่ที่สำนักเลขาธิการระหว่างประเทศ (International Secretariat- IS) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจดังกล่าว โดยอาศัยข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่ได้จากหลายแหล่ง

นักโทษทางความคิดในประเทศไทย

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องสมาชิกจากทั่วโลก ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชน ที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ดังกล่าว ในฐานะ “นักโทษทางความคิด” มีจดหมายนับแสนฉบับจากคนทั่วโลก ส่งมาถึงรัฐบาลไทย และสำนักราชเลขาธิการ ซึ่งต่อมาได้มีการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฯ ให้แก่ผู้ถูกจับกุมเหล่านั้น

ปี 2556 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รับนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นนักโทษทางความคิด ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

1 กรกฎาคม 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รับ 14 นักศีกษาที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 จากการชุมนุมอย่างสงบที่กรุงเทพฯ และที่ขอนแก่น (เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร และร่วมชุมนุมประท้วงอย่างสงบอีกสองครั้ง ในวันที่ 24 และ 25 มิถุนายน 2558 ที่กรุงเทพฯ) เป็นนักโทษทางความคิด ในขณะเขียนบทความนี้นักศึกษาชาย 13 คนถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นักศึกษาหญิงถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

นักโทษทางการเมือง(political prisoner)

นักโทษทางการเมือง คือ บุคคลที่ถูกจับกุมคุมขังในข้อหาคล้ายกับนักโทษทางความคิด เพียงแต่มีการใช้ความรุนแรงรวมอยู่ด้วย หรือใช้คำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) ในกรณีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลนำตัวบุคคลเหล่านั้น เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยให้มีการไต่สวนอย่างโปร่งใส เป็นธรรมและเปิดเผย (fair trial)

ตัวอย่างความแตกต่างระหว่างนักโทษทางความคิดกับนักโทษทางการเมืองกรณีเนลสัน แมนดาลา

ในช่วงแรกที่เนลสัน แมนดาลา เคลื่อนไหวในทางสันติ และถูกจับกุม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรองให้เนลสัน แมนดาลา เป็นนักโทษทางความคิด และเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ต่อมาเมื่อเขากลายมาเป็นผู้นำกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ และได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อต้าน ใต้ดินโดยใช้อาวุธ เช่น การก่อวินาศกรรม จนเข้าข่ายเป็น “การก่อการร้าย” และถูกจับกุม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงถือว่าเขาเป็นนักโทษทางการเมือง และเรียกร้องให้มีการไต่สวนอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม 

ฉะนั้น ข้อเรียกร้องระหว่างนักโทษทางความคิดกับนักโทษทางการเมือง จึงแตกต่างกัน กล่าวคือ ข้อเรียกร้องต่อนักโทษทางความคิดนั้น ต้องปล่อยตัวทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข ในพื้นฐานที่ว่าบุคคลไม่พึงถูกจำคุกหรือกักขัง ด้วยแห่งความคิดของเขา โดยไม่มีการกระทำที่รุนแรงหรือไม่มีการใช้คำพูดที่ก่อให้เกดความเกลียดชัง ส่วนข้อเรียกร้องที่มีต่อนักโทษทางการเมืองก็คือ ต้องมีการไต่สวนและพิจารณาที่เป็นธรรม เพราะในกรณีของนักโทษทางการเมืองบางกรณีอาจจะมีการใช้ความรุนแรง หรือใช้คำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังอยู่ด้วยนั่นเอง