การเสียเอกราชทางพลังงานในอดีตของไทย กับทิศทางพลังงานในอนาคต

การเสียเอกราชทางพลังงานในอดีตของไทย กับทิศทางพลังงานในอนาคต

เมื่อพูดถึงการสูญเสียเอกราชของประเทศไทย คนส่วนมากจะรู้ว่าไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไม่เคยสูญเสียเอกราชให้ชาติตะวันตก

แต่บางคนจะรู้ว่าประเทศไทยนั้น ได้เคยสูญเสียเอกราชทางการศาลยุติธรรมให้แก่ต่างชาติมาแล้ว และน้อยคนที่อาจจะรู้ว่า ครั้งหนึ่งประเทศไทยก็เคยสูญเสียเอกราชทางน้ำมัน ให้แก่ต่างชาติด้วยเช่นกัน

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะทำความเข้าใจ ประวัติศาสตร์ทางพลังงานของประเทศไทยที่เกิดขึ้นจริงในอดีต เพื่อเป็นบทเรียนให้แก่คนยุคปัจจุบัน ในการเรียนรู้ว่า อำนาจในการจัดการด้านพลังงานโดยลำพัง ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีปัจจัยมากมายในเวทีของการเมือง เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากคนในยุคปัจจุบันขาดความเข้าใจมิติในด้านประวัติศาสตร์นี้ การดำเนินนโยบายพลังงานของประเทศในอนาคต อาจเกิดความผิดพลาดได้ ดังคำกล่าวที่ว่า ‘ผู้ที่ไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์คือผู้ที่ถูกสาปให้ต้องทำมันซ้ำรอยอีก’

เมื่อปี 2435 ประเทศไทยได้เริ่มนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันก๊าด ที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์การให้แสงสว่างในเวลากลางคืน ทั้งนี้ โดยการนำเข้าผ่านบริษัทตัวแทนของต่างประเทศ คือ กลุ่มบริษัทรอยัล-ดัทช์/เชลล์ของอังกฤษและฮอลแลนด์ ซึ่งปัจจุบันก็คือ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด (Shell) และต่อมาอีก 2 ปี คือปี 2437 ก็มีบริษัทน้ำมันต่างประเทศเข้ามาดำเนินงานในประเทศไทยอีกบริษัทหนึ่ง ได้แก่ บริษัทสแตนดาร์ดแวคคัมออยล์แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันก็คือ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO) นั่นเอง

บริษัททั้งสองนี้ได้มีข้อตกลงเรื่องส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทยร่วมกัน คือ กลุ่มบริษัทรอยัล-ดัทช์/เชลล์ของอังกฤษและฮอลแลนด์ ได้ส่วนแบ่งไปร้อยละ 80 ส่วนบริษัทสแตนดาร์ดแวคคัมออยล์ ของสหรัฐอเมริกาได้ไปร้อยละ 20 (ไม่ต้องแปลกใจไปนะครับว่า ทำไมสหรัฐอเมริกาถึงยอมเสียเปรียบมากเพียงนี้ เนื่องจากในส่วนพื้นที่ของประเทศจีนและญี่ปุ่นนั้น บริษัทของอเมริกาได้ส่วนแบ่งการตลาดไปแล้วร้อยละ 80 ส่วนบริษัทของอังกฤษกับฮอลแลนด์ได้ไปเพียงร้อยละ 20)

นอกจากนั้นบริษัททั้งสองยังได้มีข้อตกลงในการรักษาระดับราคาระหว่างกันอีกด้วย ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยทั้งไทยและจีน ที่มีอยู่ในขณะนั้น ไม่สามารถแข่งขันด้วยได้ และต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด ดังนั้น จากผลของการร่วมกันผูกขาดราคาน้ำมันของบริษัทต่างชาติทั้งสองนี้ จึงทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยมีราคาที่สูงเมื่อเทียบกับตลาดโลก

ภายหลังเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ขึ้น ทางรัฐบาลคณะราษฎรเห็นว่า น้ำมันเป็นยุทธปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะด้านการทหาร จึงให้มีการจัดตั้ง ‘แผนกเชื้อเพลิง’ สังกัดกรมพลาธิการทหารบกขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2476 เป็นต้นไป โดยมีภารกิจในการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ทางราชการทหาร และสำหรับหน่วยราชการอื่นๆ ให้ซื้อน้ำมันจากแผนกเชื้อเพลิงนี้ด้วย ซึ่งการดำเนินงานของแผนกเชื้อเพลิงในปีแรก เป็นผลทำให้ราคาน้ำมันในท้องตลาดลดลงอย่างมาก

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2480 เป็นเวลา 4 ปี หลังจากที่ได้ตั้งแผนกเชื้อเพลิงขึ้น รัฐบาลก็ได้ยกฐานะแผนกเชื้อเพลิงให้เป็น ‘กรมเชื้อเพลิง’ สังกัดกระทรวงกลาโหม รวมทั้งได้เปิดจำหน่ายน้ำมันให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย โดยมีนายวนิช ปานะนนท์ ผู้ก่อการคณะราษฎรสายพลเรือน เป็นเจ้ากรมคนแรก

สถานการณ์การเมืองโลกในขณะนั้น เริ่มมีเค้าของสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายให้น้ำมันเชื้อเพลิงมีเสถียรภาพ ประกอบกับนายวนิช ปานะนนท์ เจ้ากรมเชื้อเพลิง ก็มีความสนิทสนมกับทางประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังดำเนินนโยบายปลดแอกประเทศเอเชียจากจักรวรรดินิยมตะวันตกอยู่ด้วย จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2481 ขึ้นมา โดยมีสาระสำคัญ คือ

1) ผู้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องมีน้ำมันสำรองไว้จำนวนครึ่งหนึ่ง ของน้ำมันที่ขายในหนึ่งปี และ 2) ให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดราคาขายน้ำมัน

เมื่อกฎหมายฉบับดังกล่าวออกมาบังคับใช้ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับบริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งสองบริษัทเป็นอย่างมาก ประกอบกับพอดีที่สงครามโลกครั้งที่สองได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2482 บริษัททั้งสองจึงตัดสินใจเลิกกิจการในประเทศไทยไป ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองได้เริ่มขึ้น กรมเชื้อเพลิงเป็นผู้จัดหาและจำหน่ายนำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว โดยต่อมาในปี 2483 กรมเชื้อเพลิงก็ยังได้สร้างโรงกลั่นน้ำมันขึ้นที่บริเวณช่องนนทรี ซึ่งมีกำลังการกลั่นถึง 1,000 บาร์เรล/วัน อีกด้วย ทำให้ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองนั้น การจัดหาน้ำมันให้แก่หน่วยงานราชการและประชาชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยพอสมควร

อย่างไรก็ดี ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร (อันประกอบไปด้วย 5 ประเทศแกนนำ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน) นั้น ประเทศไทยในฐานะฝ่ายอักษะ ซึ่งเป็นผู้แพ้สงคราม จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ทหารของสหประชาชาติได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในฐานะของผู้ชนะสงคราม แต่สหประชาชาติไม่ได้มาเพียงลำพัง หากแต่มีผู้ร่วมเดินทางมาด้วย ได้แก่ นายเจ.เอ.อีแวน ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัดและนายอี.พี.เจ. ผู้จัดการบริษัทแสตนดาร์ดแวคคัมออยล์ จำกัด โดยทั้งสองได้เข้าพบกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น เพื่อเจรจาเรื่องการเปิดการค้าน้ำมันเสรีในประเทศไทย และขอให้รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2481 โดยอ้างว่าไม่เป็นการค้าเสรี

ด้วยแรงกดดันดังกล่าว ในที่สุดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2489 รัฐบาลก็ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2481 และต่อมาก็จำต้องออกหนังสือรับรองให้กับบริษัทต่างชาติทั้งสองอีกว่า รัฐบาลไทยจะไม่เข้าหุ้นส่วนในการค้าน้ำมันกับบริษัทต่างประเทศ และรัฐบาลจะเปิดให้บริษัทต่างประเทศมีสิทธิในการเสนอขายน้ำมันแก่รัฐบาลด้วย มากไปกว่านั้นรัฐบาลจำต้องยุบกรมเชื้อเพลิ งแล้วขายทรัพย์สินตลอดจนร้านค้าน้ำมันทั้งหมด พร้อมให้เช่าที่ดินแบบต่ออายุได้แบบมีกำหนด 30 ปี ให้กับบริษัทต่างชาติทั้งสอง

ดังนั้น ผลของการยกเลิกกฎหมายและการออกหนังสือรับรองดังกล่าว จึงเป็นการยุติการประกอบกิจการน้ำมันเชิงพาณิชย์ของรัฐบาลไทยอย่างสมบูรณ์ หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ผลของการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ประเทศไทยสูญเสียอำนาจในการบริหารจัดการพลังงานของตนเองไปอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

สำหรับในตอนต่อไป ผู้เขียนจะได้เขียนถึงยุคสมัยที่ประเทศไทยได้รับเอกราชทางพลังงานกลับคืนมาอีกครั้ง รอติดตามกันนะครับ

-------------------

ฉกาจนิตย์ จุณณะภาต นักกฎหมายพลังงาน