เสียงแห่งมหาชน

เสียงแห่งมหาชน

ในที่สุดประชาคมโลกก็ได้ยินเสียงของชาวกรีซ หลังจากที่ 61% ของชาวกรีซที่ออกเสียงประชามติในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาลงคะแนนไม่ยอมรับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ

(หรือที่รู้จักกันในนาม มาตรการรัดเข็มขัด) ของเหล่าเจ้าหนี้ 3 สถาบัน แลกกับเงินกู้ก้อนสุดท้าย 7.2 พันล้านยูโร

คำถามที่น่าสนใจในระยะต่อไปของวิกฤติหนี้กรีซครั้งนี้คือ แนวโน้มทางออกของวิกฤติหนี้ครั้งนี้คืออะไร การที่ชาวกรีซไม่ยอมรับแผนนี้ แปลว่ากรีซจะต้องออกจากการเป็นประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) หรือไม่ และผลกระทบต่อยูโรโซนและสหภาพยุโรปจะเป็นเช่นไร แต่ก่อนจะตอบคำถามเหล่านี้นั้น ขอกล่าวถึงที่มาของวิกฤติดังกล่าวเล็กน้อย

วิกฤติครั้งนี้เป็นผลพวงจากมหากาพย์วิกฤติหนี้กรีซในปี 2553-2555 ที่นักลงทุนวิตกกังวลว่า รัฐบาลกรีซจะไม่มีเงินจ่ายหนี้ครบกำหนดและเทขายพันธบัตร จนทำให้รัฐบาลกรีซในขณะนั้นต้องขอกู้เงินจาก 3 สถาบันหลัก (ที่เรียกว่า Troika) อันได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) โดยกู้ 2 ครั้งเป็นจำนวนรวม 2.4 แสนล้านยูโร

การกู้ดังกล่าว ต้องแลกมากับเงื่อนไขที่เข้มงวด (หรือที่เรียกว่ามาตรการรัดเข็มขัด) ซึ่งเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจผ่านการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัว คนว่างงานสูงขึ้น แลกกับการที่พื้นฐานเศรษฐกิจจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น

แต่เพราะมาตรการรัดเข็มขัดนี้เอง ที่ทำให้ประชาชนชาวกรีซทุกข์ทรมาน จึงนำมาสู่การเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศมาถึง 2 คน ก่อนที่จะมาเป็นนายอเล็กซิส ซิปรัส จากพรรคซ้ายจัดที่เน้นเจรจาผ่อนปรนมาตรการรัดเข็มขัด ที่เจรจากว่า 6 เดือนก็ไม่เป็นผล จนนำมาสู่การทำประชามติดังกล่าว

ดังนั้น หากถามว่าแนวโน้มทางออกของวิกฤติจะเป็นอย่างไร คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับกลุ่ม Troika เป็นหลัก ว่าจะยินยอมต่อข้อเสนอของทางกรีซในประเด็นมาตรการรัดเข็มขัดอย่างไร เพราะเจ้าหนี้เป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายในเกมนี้ โดยในระยะต่อไป มีสามประเด็นที่ต้องจับตามองในการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้และรัฐบาลกรีซ คือ หนึ่ง เรื่องการขอเจรจาโครงการขอกู้ครั้งใหม่ (หรือรอบที่สาม) เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจกรีซที่กำลังขาดสภาพคล่องรุนแรง สอง ประเด็นมาตรการรัดเข็มขัดว่าจะสามารถผ่อนคลายได้หรือไม่ และ สาม ระยะเวลาจ่ายคืนหนี้ และ/หรือ ปลอดดอกเบี้ยว่าจะมีมากน้อยเพียงใด

การที่ทั้งสองฝ่าย (Troika และกรีซ) จะบรรลุข้อตกลงได้ จะต้องมีความรู้สึกถึงการร่วมกันเป็นสมาชิกในกลุ่ม เห็นประโยชน์ถึงการคงอยู่ในกลุ่ม ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมที่เสียสละบางประการ เช่น กรีซอาจต้องยอมทำมาตรการรัดเข็มขัดมากกว่าปัจจุบัน ขณะที่เจ้าหนี้ต้องผ่อนปรนและปรับโครงสร้างหนี้ โดยยอมตัดหนี้สูญ (Hair-cut) มูลหนี้บางส่วน เพราะมิฉะนั้นแล้ว กรีซไม่มีทางที่จะสามารถชำระหนี้ได้หมด

นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังต้องรีบบรรลุข้อตกลงโดยเร็ว หรืออย่างน้อยต้องให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นก่อนวันที่ 20 กรกฎาคม เนื่องจากในวันนั้นกรีซจะมีหนี้ครบกำหนดต้องจ่าย ECB อีก 3.5 พันล้านยูโร ซึ่งหากขาดชำระหนี้ก้อนหนี้แล้ว อาจทำให้ ECB ต้องไม่จ่ายเงินกู้ฉุกเฉิน (Emergency Liquidity Assistance: ELA) ให้กับธนาคารพาณิชย์กรีซได้ นอกจากนั้น ในปัจจุบันนี้ ทุกนาทีที่เคลื่อนไปหมายความถึงสภาพคล่องกรีซที่งวดขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มกระทบต่อความเป็นความตายของประชาชน เช่น เงินบำนาญที่หดหาย ยารักษาโรคที่เริ่มขาดตลาด รวมถึงเงินฝากที่อาจถูกปรับลด เป็นต้น

แต่หากเจ้าหนี้ตัดสินใจที่จะตัดให้กรีซออกจากยูโรโซน รูปแบบที่ง่ายที่สุดคือ การที่ ECB ไม่จ่ายเงินกู้ฉุกเฉิน ให้กับสถาบันการเงินกรีซ โดยในปัจจุบัน ECB ยังกำหนดเพดานให้เงินกู้ ELA แก่ธนาคารพาณิชย์กรีซเป็นจำนวนเงิน 8.9 พันล้านยูโร

โดยหาก ECB ไม่อนุมัติวงเงินเพิ่มเป็นระยะเวลานาน จนกรีซขาดสภาพคล่องถึงขีดสุด รัฐบาลกรีซอาจจะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงิน IOUs (I Owed You) แทน เพราะนั่นย่อมแปลว่ากรีซเริ่มใช้ใบ IOUs นั้นแทนเงินยูโร ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมหมายความว่า กรีซได้ออกจากยูโรโซนโดยพฤตินัย และนั่นจะเริ่มนำมาสู่หายนะเศรษฐกิจในกรีซ โดย IMF เคยประเมินไว้ในปี 2012 ว่าหากกรีซต้องออกจากยูโรโซนแล้ว เงินสกุลใหม่ของกรีซอาจต้องอ่อนไปกว่า 50% ทำให้ธนาคารกรีซที่เคยทำธุรกรรมในสกุลยูโรขาดทุนมหาศาล นักลงทุนวิตกกังวล และเทขายสินทรัพย์สกุลยูโร และทำให้ทั้งยุโรปเผชิญกับเงินทุนไหลออก เกิดวิกฤติค่าเงินยูโรลุกลามทั่วโลก ทำให้เงินเฟ้อในยุโรปพุ่งขึ้นถึง 35% และทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึง 8% ได้

ทั้งนี้ สิ่งที่จะต้องจับตามองต่อไปหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว คือ วิกฤติจะลุกลามไปสู่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะโปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี และสเปน มากน้อยเพียงใด โดยจุดที่ต้องจับตามองสำคัญคือ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากเพิ่มสูงขึ้นมาก (แปลว่าถูกเทขายมาก) ECB อาจต้องรับซื้ออย่างไม่จำกัดจำนวน ดังที่เคยประกาศไว้ 3 ปีก่อน แต่ที่น่าสนใจคือ ECB จะมีกำลังพอที่จะหยุดความตื่นตระหนก เช่นเดียวกับที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ทำได้ในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์หรือไม่ เพราะหาก ECB ยังคงเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศต่างๆ ขณะที่นักลงทุนพากันขายต่อเนื่อง ECB ก็จะไม่ต่างอะไรกับธนาคารที่มีแต่สินทรัพย์เสีย (Bad Bank) และทำให้นักลงทุนหมดศรัทธาในเงินยูโร และเศรษฐกิจยุโรป นำไปสู่วิกฤติยูโรโซนในที่สุด

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางฝ่ายมองว่า ยังอาจเป็นไปได้ที่จะเกิดทางออกที่สาม กล่าวคือ แม้กรีซออกจากยูโร แต่ทางเจ้าหนี้ยังให้กรีซเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) อยู่ นั่นคืออนุญาตให้ค้าขายได้โดยเสรี แรงงานสามารถเดินทางไปทำงานในประเทศอื่นได้ แต่จำกัดด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน และกรีซต้องใช้เงินสกุลใหม่ ซึ่ง ECB อาจต้องให้เงินกู้ช่วยเหลือบ้าง ขณะเดียวกัน ECB ก็พร้อมอัดฉีดให้กับประเทศอื่นๆ เพื่อป้องกันวิกฤติลุกลามสู่ประเทศอื่นๆ ทำให้วิกฤติยังคงจำกัดอยู่เพียงในประเทศกรีซ ซึ่งในสถานการณ์นี้ ผู้เขียนเห็นว่าความเป็นไปได้อาจไม่มากนัก เนื่องจากการคุมพฤติกรรมนักลงทุนที่ตื่นตระหนกและกระทำตามกัน (หรือที่เรียกว่า Herding Behavior) นั้นทำได้ไม่ง่ายนัก

มหาชนชาวกรีซได้เปล่งเสียงแล้ว คำถามคือ เสียงนั้นจะเป็นเสียงแห่งสวรรค์หรือนรก อีกไม่นานคงได้ทราบคำตอบ