เศรษฐกิจดิจิทัล ไทยกำลังขาดดุลการค้า

เศรษฐกิจดิจิทัล ไทยกำลังขาดดุลการค้า

ประเทศชาติย่อมที่จะขาดดุลการค้า เมื่อปริมาณของสินค้าที่นำเข้านั้น ได้สูงกว่าปริมาณของสินค้าที่ส่งออก

เกือบทั้งสิ้นของสินค้าและบริการในระบบดิจิทัล (Digital Goods และ Digital Services) ที่มีการใช้งานในประเทศไทย ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบริการของ กูเกิล ที่เป็นเสิร์ชเอนจิน เฟซบุ๊ค ที่เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ค ยูทูบ ที่เป็นโซเชียลมีเดีย ไลน์ ที่เป็นแชท ล้วนเป็นสินค้าและบริการ ที่ประเทศไทย ไม่มีความพร้อมทางเทคโนโลยี ที่จะสร้างสรรค์เพื่อให้บริการได้ด้วยตัวเอง อย่างมีความทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

 ประเทศไทยจึงมีการนำเข้าสินค้าและบริการในระบบดิจิทัลในปริมาณที่สูงอย่างเหลือเชื่อ เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกไปยังต่างประเทศ

 Digital Goods และ Digital Services เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เพราะมีสภาพเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ (ดาต้า) ที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย ผ่านสายเคเบิลใต้ทะเล ซึ่งเป็นโลกของอินเทอร์เน็ตที่ไร้พรมแดน และไม่มีกำแพงของภาษี ที่จะมาควบคุมหรือจำกัดปริมาณของดาต้าที่ถูกนำเข้ามาบริโภคในประเทศไทยจากต่างประเทศ

ในยุคแรกเริ่มของอินเทอร์เน็ต กูเกิล เฟซบุ๊ค ยูทูบ ฯลฯ ได้ให้บริการจาก ดาต้าเซ็นเตอร์ ในสหรัฐ โดยส่งออกผ่านสายเคเบิลใต้ทะเล เพื่อนำเข้ามาบริโภคในประเทศไทย บริษัทเหล่านั้น เป็นธุรกิจข้ามชาติ ที่ได้สรรสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอันมหาศาล จากฐานของลูกค้าชาวไทย แต่กลับไม่ต้องมีนิติบุคคลในประเทศ ที่ต้องเสียภาษีให้กับไทย หรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมาย

นอกเหนือความเป็นอภิสิทธิ์ที่ได้กล่าวถึงแล้ว บริษัทเหล่านี้ สามารถลงทุนที่เดียว แต่ให้บริการได้ทั้งโลก เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นโลกไร้พรมแดน จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนในประเทศไทย และเปิดโอกาสให้มีการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและธุรกิจ เข้ามาในประเทศไทย

ในยุคแรกเริ่ม ไทยจึงได้ขาดดุลการค้าทางเศรษฐกิจดิจิทัลกับสหรัฐ

แต่ปัจจุบัน ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนได้มีพัฒนาการอย่างเหนือชั้น ระหว่างที่ไทยยังคงอยู่ในยุคมืดของเทคโนโลยีดิจิทัล กูเกิล เฟซบุ๊ค ยูทูบ ฯลฯ ได้เปลี่ยนมาลงทุนเพื่อให้บริการจาก ดาต้าเซ็นเตอร์ ใน สิงคโปร์และมาเลเซีย โดยส่งออกผ่านสายเคเบิลใต้ทะเล และสายเคเบิลภาคพื้นดิน เพื่อนำเข้ามาบริโภคในประเทศไทย ความเป็นอภิสิทธิ์และข้อเสียเปรียบต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว ยังคงมีอยู่ แต่เปลี่ยนมาเป็น การขาดดุลการค้าทางเศรษฐกิจดิจิทัลกับสิงคโปร์และมาเลเซีย เพิ่มเติมจากเดิมที่เป็นเพียงสหรัฐ

ความชาญฉลาดของทั้ง 2 ชาติคือ ทั้ง สิงคโปร์และมาเลเซีย ได้ตระหนักดีว่า ประเทศของตนไม่มีความพร้อมที่จะสร้างสรรค์บริการทางเทคโนโลยีที่ดีพร้อมได้อย่างเทียบเท่ากับ กูเกิล เฟซบุ๊ค ยูทูบ ฯลฯ รัฐบาลจึงได้เปลืองตัว ทำดีลพิเศษ ลดแลกแจกแถมกับ กูเกิล เฟซบุ๊ค ยูทูบ ฯลฯ เพื่อวิงวอนให้มาลงทุนตั้ง ดาต้าเซ็นเตอร์ ในประเทศของตน สิ่งที่ได้มาไม่เพียงแต่เป็นเงินลงทุนจากธุรกิจข้ามชาติ เงินภาษีและการอยู่ภายใต้กฎหมาย

แต่ยังได้มาซึ่งกระบวนการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและธุรกิจ ที่ทำให้สิงคโปร์และมาเลเซีย มีความแข่งแกร่งทางเทคโนโลยีดิจิทัลยิ่งขึ้นไปอีกและเป็นรากฐานเพื่อใช้ในการชักชวนธุรกิจข้ามชาติอื่นๆ ลงทุนในประเทศของตนได้อย่างง่ายดาย

สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการ ย่อมต้องทราบดีถึงข่าวคราว การชิงไหวชิงพริบระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์และมาเลเซียในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ที่จะเชื้อเชิญ กูเกิล เฟซบุ๊ค ยูทูบ ฯลฯ ให้มาลงทุนในประเทศของตน เพื่อความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน

ที่น่าแปลกใจ คือ สิงคโปร์ สามารถทำได้สำเร็จ ทั้งที่มีผู้ใช้งาน กูเกิล เฟซบุ๊ค ยูทูบ ฯลฯ น้อยกว่าประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์  คือเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งภูมิภาคอาเซียนและมิใช่เป็นเพียงแค่สำหรับสิงคโปร์ ที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่เพียงหยิบมือเดียว

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็มีการส่งออกดาต้า นั่นก็คือข้อมูลพฤติกรรมของผู้ที่ใช้บริการ กูเกิล เฟซบุ๊ค ยูทูบ ฯลฯ ซึ่งเป็นเกือบทั้งหมดของผู้บริโภคในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ไปยัง ดาต้าเซ็นเตอร์ ของสิงคโปร์ มาเลเซีย และกระทั่งสหรัฐ เพราะการใช้งาน กูเกิล เฟซบุ๊ค ยูทูบ ฯลฯ ของชาวไทย ได้ถูกบันทึกไว้หมดแล้วในดาต้าเซ็นเตอร์ที่ต่างประเทศ

ผู้ที่ติดตามเรื่องบิ๊กดาต้า ย่อมต้องทราบดีว่า ข้อมูลพฤติกรรมเหล่านี้ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล และอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีข้อมูลของผู้บริโภคชาวไทยมากที่สุด กลับไม่ได้อยู่ในประเทศไทย หรืออยู่ภายใต้การปกป้องของกฎหมายไทยเลย

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมโฟกัสกรุ๊ปของเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่หลายครั้ง ที่สังเกตได้ชัด คือวัตถุประสงค์ของนโยบายส่วนใหญ่ ยังคงเป็นยุทธศาสตร์ภายในประเทศ เพื่อที่จะสรรสร้างให้ชาวไทย ได้เข้าถึงระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ กลับไม่ได้มีการพูดถึง และเป็นเรื่องที่น้อยคนจะเข้าใจหรือให้ความสำคัญ จึงน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นโลกอินเทอร์เน็ตที่ไร้พรมแดน เมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้น ย่อมจะทำให้ประเทศไทยได้ขาดดุลการค้าทางเศรษฐกิจดิจิทัลยิ่งขึ้นไปอีก

และผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด อาจไม่ใช่ประเทศไทย แต่เป็นสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน และได้ดำเนินการพัฒนายกเครื่องประเทศมาก่อนหน้าประเทศไทยเป็นทศวรรษแล้ว

สิ่งที่พึงกระทำ คือการกำหนดยุทธศาสตร์ ในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อเชื้อเชิญให้ธุรกิจข้ามชาติ เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ค ยูทูบ ฯลฯ มาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย เพื่อให้บริการกับผู้บริโภคในประเทศไทย ประเทศข้างเคียง และเริ่มต้นกระบวนการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและธุรกิจ

ที่ทำให้ประเทศไทย สามารถเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางทางเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน

-------------------

ดร.อธิป อัศวานันท์, [email protected], http://drjoke.com