เลิกห่วงกรีซมาห่วงจีนดีกว่า

เลิกห่วงกรีซมาห่วงจีนดีกว่า

ภาพข่าวต่างประเทศช่วงนี้ เราจะพบตัวหนังสือ 2 ตัวนี้ “Oxi” และ “Nai” ค่อนข้างบ่อยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 เพราะทั่วโลกจับตาผลการทำประชามติของกรีซ ที่จะเป็นเครื่องชี้วัดความต้องการของประชาชน ว่ารับหรือไม่รับเงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้ ระหว่างประเทศที่สหภาพยุโรป (EU), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งผลประชามติที่ออกมาเมื่อค่ำวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา คะแนนเสียงส่วนใหญ่หรือมากกว่า 61%เทมาที่คำว่า Oxi หรือเท่ากับโหวต No ไม่รับความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้นั่นเอง

การประกาศปลดแอกตัวเองจากเจ้าหนี้ของประชาชนชาวกรีกที่ออกมาครั้งนี้ ไม่ได้เหนือกว่าความคาดหมายนัก หากพิจารณาจากปัจจัยทางการเมือง รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ไซปราส ชนะการเลือกตั้งมาได้ก็ด้วยนโยบายต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัด ซึ่งนโยบายการรัดเข็มขัด ควบคุมค่าใช้จ่ายเป็นประเด็นที่กดดันประชาชนชาวกรีกมาตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการทำประชามติจึงเป็นแค่เครื่องมือของรัฐบาลในการต่อรองกับเจ้าหนี้เท่านั้น

หลังจากนี้ไม่ว่าทางออกในการแก้ปัญหาหนี้จำนวน 323,000 ล้านยูโรหรือราว 11.9 ล้านล้านบาท จะออกมาเป็นอย่างไร กรีซจะยังอยู่ในยูโรต่อไปหรือไม่ จะต้องกลับไปใช้เงินสกุล “ดรักมา”ด้วยค่าเงินที่หล่นวูบไปแค่ไหน วิกฤตินี้จะยังกดดันยุโรปไปอีกนานเพียงใด ในที่สุดแล้วรัฐบาลและประชาชนชาวกรีกต้องแข็งใจ กับนโยบายประชานิยมและกลับมาที่คำว่า “วินัยทางการเงิน”เป็นตัวตั้งเสียก่อนถึงจะมองเห็นช่องทางเดินออกจากวิกฤติหนี้ครั้งนี้ได้

ในระยะสั้นผลกระทบในตลาดเงินและตลาดทุน จากประเด็นของกรีซย่อมมีให้เห็นแน่นอน เห็นจากตลาดหุ้นไทยวานนี้ที่ปรับตัวลดลง 17.43 จุด มาอยู่ที่1,472.16 จุด ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 33.83 บาทต่อดอลลาร์ แต่ในกรณีที่กรีซต้องออกจากยูโรโซนจริง ๆ ผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยก็ยังจำกัด เพราะเมื่อดูผลกระทบทางตรงแล้วไทยส่งออกไปกรีซแค่ 0.1% ของการส่งออกโดยรวมของไทย ขณะที่ภาคท่องเที่ยวนั้นไทยพึ่งนักท่องเที่ยวชาวกรีกเพียง 0.07% หรือหลักหมื่นคนเท่านั้น

อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านต่างประเทศที่น่าจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากกว่า คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยในขณะนี้ หากจีนบริโภคลดลงย่อมกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากกว่ากรีซหรือยุโรปชะลอตัว

มาตรการคิวอีของสหรัฐในช่วงก่อนหน้านี้ ตามมาด้วยยุโรปและญี่ปุ่นทำให้สภาพคล่องทั่วโลกไหลทะลักเข้าสินทรัพย์เสี่ยง ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ไม่ว่าจะเป็นหุ้นสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงไทยแต่ที่น่ากังวลคือตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจเกิดภาวะฟองสบู่ได้ทั้งตลาดเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ตลาดหุ้นจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นไปกว่า 100% แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนถูกเทขายจากนักลงทุนอย่างหนักและต่อเนื่อง จนราคาปรับตัวลดลงมาแล้ว 20% จนกระทั่งทางการต้องออกมาตราการพยุงหุ้น ทั้งการให้โบรกเกอร์และกองทุนรวมเข้าฃื้อหุ้น 1.2 แสนล้านหยวน และชะลอแผนการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดแบบไม่มีกำหนด รวมถึงการให้สินเชื่อเพี่อการซื้อหุ้น

หากในอนาคตธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และเงินทุนเริ่มไหลกลับไปสหรัฐอเมริกา สภาพคล่องที่มีระบบการเงินโลกรวมถึงในตลาดหุ้นจีนเหือดหายไป  ราคาหุ้นที่เคยเห็นว่าเฟื่องฟูหายวับไปกับตา ความมั่งคั่งที่วูบหายไปจะส่งผลต่อการบริโภคของชาวจีนหรือไม่

เชื่อได้ว่ากำลังซื้อหลักของไทยลดลง ผลกระทบย่อมส่งมาถึงเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน กว่าผลกระทบทางตรงจากการลงประชามติของกรีซอย่างแน่นอน