ภาษี ตัวชี้วัดของความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม

ภาษี ตัวชี้วัดของความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม

กฎหมายภาษีของบ้านเรามีหลายๆ อย่างที่ยังไม่เข้าที่เข้าทางเท่าที่ควร และที่สำคัญมากก็คือ ความไม่เป็นธรรมและความไม่เสมอภาคในการจัดเก็บภาษี

ที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง มีความลักลั่นอย่างเห็นได้ชัดในหลายๆ เรื่อง ซึ่งสมควรได้รับการพิจารณาแก้ไข

ประการที่หนึ่ง ฐานภาษีของเรายังแคบอยู่มาก และสร้างความไม่เท่าเทียมกันในทางสังคมอย่างมาก คำพูดที่ว่า “ทุกคนที่เกิดมาหนีไม่พ้นสองเรื่อง คือ ความตาย และภาษี” สำหรับความตายนั้นถูกต้องแน่นอน แต่ภาษี ไม่แน่ อย่างที่ทราบกัน พลเมืองไทย 67 ล้านคน มีคนเสียภาษีเพียงสิบล้านคนเศษ หลายรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศต่างก็พูดถึงการขยายฐานภาษี แต่เกือบจะไม่มีรัฐบาลไหนเลยที่ลงมือทำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันผู้คนพอใจที่จะไม่ทำงานเป็นลูกจ้างองค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดา ที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างพนักงานองค์กรเกือบจะไม่เกิดขึ้นเลย คนที่ทำงานนอกระบบ ที่นอกเหนือองค์กรที่มีการเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย นับวันจะมีมากขึ้น คนทำงานในระบบที่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายจากค่าจ้างเงินเดือน จะมีสัดส่วนที่น้อยลง ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ประเทศเราจะเป็นลักษณะ เตี้ยอุ้มค่อม เอาภาษีจากคนส่วนน้อยมา โปะให้บริการคนส่วนใหญ่ แล้วเราจะอยู่กันต่อไปได้อย่างไร

ประการที่สอง การจัดเก็บภาษีมีความลักลั่นอย่างมาก ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องการคำนวณภาษีที่ให้สิทธิประโยชน์กับคนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่ตัดสิทธิประโยชน์คนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ อาทิในเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีการกำหนดไว้ว่า....เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ฯลฯ “..รวมถึงเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ที่มีระยะเวลาการทำงานน้อยกว่า 5 ปี...” โดยความหมายก็คือ ถ้าพนักงานลูกจ้างทำงานไม่ถึงห้าปี แล้วออกจากงานโดยได้รับค่าชดเชย เงินชดเชยที่ได้นี้จะต้องนำไปรวมกับเงินได้ทั้งหมด เพื่อคำนวณในปีภาษีนั้น ในขณะเดียวกัน ถ้าทำงานตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปแล้วออกจากงาน เงินชดเชยที่ออกจากงานให้เสียภาษีต่างหาก ไม่ต้องนำมารวมคำนวณในการเสียภาษีเงินได้ประจำปี ผลก็คือผู้ที่ออกจากงานก่อนครบห้าปี ได้รับเงินชดเชยก้อนเล็กๆ แต่จะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าซึ่งจะสูงขึ้น เนื่องจากมีการรวมเงินก้อนนี้เป็นฐานในการเสียภาษีเงินได้ประจำปี

ในขณะที่ผู้ที่ออกจากงานโดยทำงานครบห้าปีแล้วจะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง เพราะไม่ต้องเอาเงินชดเชยมารวมคำนวณเป็นฐานภาษี เช่นนี้ คนจน คนที่ออกจากงานก่อนครบห้าปี ซึ่งก็เดือดร้อนอยู่แล้วจากการหางานใหม่ ย่อมต้องเป็นทุกข์หนักขึ้น เพราะต้องเสียภาษีมากขึ้น ในอัตราก้าวหน้า แต่คนที่ออกจากงานหลังห้าปี ซึ่งอาจจะเป็นสิบยี่สิบปี โดยเฉพาะผู้ที่เข้าโครงการเออรี รีไทร์ หรือเกษียณก่อนอายุหกสิบปี จะได้รับเงินก้อนชดเชยสำหรับการออกจากงานก้อนโต แต่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีร่วมกับเงินได้อื่นในปีนั้น ย่อมได้รับอานิสงส์ลดหย่อนภาษีมหาศาล

เรื่องอย่างนี้เกิดมานับสิบปี นับแต่เรามีนโยบายเกษียณก่อนกำหนดเพื่อลดขนาดองค์กร เมื่อครั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งควรจะเป็นเรื่องชั่วคราว แต่สรรพากรก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงยกเลิกคำสั่งนี้ ณ วันนี้ เราไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะลดคนแล้ว มีแต่จะให้คนทำงานนานขึ้น หลังเกษียณหกสิบปี ข้าราชการภาครัฐ เช่น ศาล อัยการ อาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐ สามารถอยู่ทำงานได้ถึงอายุเจ็ดสิบปี ถ้าไม่ลาออกหรือมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เช่นนี้ความเสมอภาคและความเป็นธรรมอยู่ที่ตรงไหน คนจนยิ่งจนหนักเพราะถูกรัฐขูดรีด คนรวยก็ยิ่งรวยขึ้น เพราะได้รับงดเว้นไม่ต้องเสียภาษีก้อนโตในปีภาษีนั้นๆ

ประการที่สาม เป็นเรื่องของความลักลั่นในกฎหมายภาษีหลายฉบับที่มีข้อยกเว้นมากมาย โดยหลักการแล้ว เรื่องของอัตราภาษีเป็นเรื่องของผู้ที่มีเงินได้ไม่เท่ากัน แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องเงินได้ก็ต้องมีความเท่าเทียมกัน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีการกำหนดให้ทุกคนที่มีเงินได้ต้องเสียภาษีเป็นลำดับขั้น ตามช่วงชั้น เพราะผู้มีรายได้น้อยก็ควรเสียภาษีน้อย และเมื่อหักค่าลดหย่อนแล้วก็อาจไม่ต้องเสียภาษี เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเงินได้เป็นผลโดยตรงต่อเรื่องปากเรื่องท้อง แต่ภาษีอย่างอื่น เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก ที่กำลังผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ใช่เรื่องของปากท้อง เป็นเรื่องของผู้มีสินทรัพย์ครอบครองหรือได้รับมอบจากการเป็นผู้รับมรดกตกทอด สินทรัพย์เหล่านี้ควรมีการเสียภาษีทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่มีข้อยกเว้นมากมายเพียงเพื่อเอาใจบางกลุ่มในสังคม เช่นนี้ถือเป็นความไม่เสมอภาคและไม่เท่าเทียมกันอย่างยิ่ง

ประการที่สี่ คือเรื่องการจัดเก็บภาษีกับผู้มีรายได้ ควรจะตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์เดียวกัน คือเมื่อมีรายได้เกิดขึ้นตามที่กฎหมายกำหนด สรรพากร สรรพสามิต หรือศุลกากร ซึ่งเป็นกรมจัดเก็บรายได้หลัก ต้องไปตามเก็บมาให้ได้ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนชาติอะไร อยู่เมืองไทยถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมาย ก็ต้องเสียภาษี ส่วนจะมีความผิดตามกฎหมายอื่นใดนั้น เป็นเรื่องของแต่ละคน และกรมจัดเก็บรายได้เหล่านี้ ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายตรวจคนเข้าเมือง กฎหมายสัญชาติ กฎหมายคนต่างด้าว เป็นเรื่องของหน่วยงานอื่น ที่จะดำเนินการตามกฎหมายแต่ละฉบับ ไม่เกี่ยวข้องกัน

ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่มีรายได้ในทางอื่นๆ มากมาย ยิ่งกว่าเงินได้ประจำจากการทำงานกับองค์กร คนจำนวนมากมีบ้านและคอนโดให้เช่า มีรายได้มากกว่าเงินเดือนประจำหลายเท่า แม่ค้าพ่อค้าหาบเร่แผงลอยมีรายได้จากการขายเดือนละหลายหมื่นบาท จากการขายไก่ย่าง ส้มตำ ไอศกรีม ก๋วยเตี๋ยว และอื่นๆ ตามริมถนน ริมซอย บนทางเท้า แม้ว่าจะไม่ถูกกฎหมายเรื่องสถานที่ทำการค้า แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปตามกฎระเบียบว่าด้วยทางเท้า ทางจราจร หรืออื่นใด ที่กรมจัดเก็บรายได้ ไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้าไม่เสียภาษีโดยที่มีเงินได้หลายๆ หมื่นต่อเดือนอย่างนี้กรมจัดเก็บรายได้ต้องดำเนินการหาทางจัดเก็บรายได้ให้ได้

บ้านเราเมืองเราอยู่ในสภาวะลูบหน้าปะจมูกมาตลอด สังคมเปลี่ยนไปมากแล้ว ผู้ที่ขายของตามทางเท้าหาบเร่แผงลอย ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนจนขนาดที่ไม่มีเงินต้องเสียภาษีเงินได้ ถ้าเขาเหล่านั้นมีเงินได้มากพอที่จะต้องเสียภาษี ก็ต้องเสียภาษี เพราะเขาก็ใช้สาธารณูปโภคเดียวกันกับคนที่เสียภาษี ใช้บริการของรัฐเช่นเดียวกับคนอื่นที่เสียภาษี แล้วทำไมจึงไม่มีการจัดเก็บรายได้จากบุคคลเหล่านี้ และถ้าทำได้ เราจะสามารถขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมมากขึ้น

สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากถึงรัฐบาลก็คือ การยื่นแบบภาษีควรกำหนดไว้เป็นกฎหมายให้ชัดเจนว่าทุกคนมีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้ประจำปี แม้จะไม่มีรายได้ หรือยังเรียนหนังสือ เมื่ออายุถึงกำหนด หรือบรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ต้องมายื่นแสดงแบบ มิฉะนั้นถือเป็นความผิด ซึ่งถ้าทำอย่างนี้ได้ เราจะสามารถขยายฐานภาษีได้ครอบคลุมทุกคนที่เกิดในประเทศไทย มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย หรือบุคคลที่แปลงสัญชาติเป็นไทยทั้งหมด ส่วนคนอื่นๆ ที่มาอาศัยชั่วคราว แต่มีเงินได้ในประเทศไทย ก็ต้องหาทางสืบทราบเพื่อให้มีการรายงานภาษีเงินได้ประจำปีเช่นกัน

ภาษีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมากสุด บ้านเราเมืองเราไม่ควรจะมีคนประเภทใช้ของฟรี  (Free Riders) มากเกินไป เราไม่ควรมีกฎหมายประเภทลูบหน้าปะจมูก ที่มีข้อยกเว้นเสียจนเกิดความไม่เป็นธรรม และความไม่เสมอภาคในสังคม ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่เกิด ก็อย่าหวังว่าเราจะพัฒนาไปได้ไกลดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วเขาได้ไปถึงแล้ว

สุดท้ายอยากให้รัฐบาลพิจารณาคืนเงินภาษีคนที่ทำงานไม่ถึงห้าปีแล้วต้องออกจากงาน ที่ถูกสรรพากรรวมเงินชดเชยไปคำนวณเป็นเงินได้ที่ต้องถูกจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ทั้งหมด นับตั้งแต่สรรพากรออกระเบียบนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งสำหรับคนยากคนจน โปรดอย่าซ้ำเติมกันอย่างนี้เลย

(หมายเหตุ บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นรองประธานอนุกรรมาธิการสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูป สภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่อย่างใด)

 -----------------------

ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร

นักวิชาการอิสระ / รองประธานคณะอนุกรรมาธิการสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูป สภาปฏิรูปแห่งชาติ