ข้าว “ขั้นเทพ” ราคากิโลกรัมละ 5,000 บาท

ข้าว “ขั้นเทพ” ราคากิโลกรัมละ 5,000 บาท

ในอดีตสมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง เมืองเต๋อหงส่งข้าวพันธุ์พิเศษเป็นบรรณาการไปให้ฮ่องเต้ที่เมืองหลวง

โดยข้าวชนิดนี้มีชื่อว่า “Zhe Fang Gong Mi (เจอฟ่างก้งหมี่)” ซึ่งแปลว่า ข้าวจากตำบลเจอฟ่างของเมืองเต๋อหงที่ถวายแด่ฮ่องเต้ ข้าวพันธุ์พิเศษที่ปลูกได้ในที่ราบสูงชนิดนี้ เป็นข้าวเมล็ดกลม สั้น และมีกลิ่นหอม เมื่อหุงสุก มีความหอมนุ่ม จึงเป็นของแปลกใหม่ในสมัยโบราณที่แตกต่างจากแว่นแคว้นอื่น โดยข้าวนี้แบ่งเป็น 2 ระดับ เกรด A เรียกว่า “หาวพี” สำหรับฮ่องเต้เท่านั้น และเกรด B “หาวก้ง” สำหรับขุนนางและคนในพระราชวัง ดังนั้น เศรษฐี คหบดี และชาวบ้านทั่วไปที่มีเงิน แม้อยากรับประทาน ก็ซื้อหากันไม่ได้

ข้าวชนิดนี้เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองโบราณ มีลำต้นสูงประมาณ 180 เซนติเมตร ใช้เวลาปลูกนาน 175-180 วัน จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ จึงถือว่าเป็นข้าวพันธุ์สุกช้า ได้ผลผลิตน้อย เมล็ดข้าวมีรูปร่างคล้ายเมล็ดแตงโม สีขาวนวลดั่งหยก เป็นพันธุ์ข้าวพิเศษที่อยู่ระหว่างความเป็นข้าวเหนียวกับข้าวเจ้า คือเมื่อหุงสุกจะมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน โดยมีความเหนียวแต่ไม่แน่นเหมือนข้าวเหนียวทั่วไป นุ่มพอดีเหมือนข้าวสวย และเมื่อปล่อยให้เย็นก็ไม่แข็งกระด้าง ชาวจีนกล่าวว่า ข้าวเจอฟ่างก้งหมี่กินเปล่าๆ โดยไม่กินกับข้าว ก็รู้ถึงรสชาติความหอมนุ่มอร่อยด้วยตัวของมันเอง

 ข้าว “บรรณาการ” หรือ “ขั้นเทพ” นี้ ในอดีต ถือเป็นข้าวที่ใช้ทำพิธีบูชาฟ้าดินและเทพเจ้า ในปัจจุบันจึงใช้ตำนานและเรื่องเล่าขานแสดงถึงความดูดีมีระดับ ให้กลายเป็นของหายาก และด้วยความที่มีจำนวนจำกัดของข้าวพันธุ์นี้ จึงขายได้ราคาแพงอย่างไม่น่าเชื่อ ดั่งเช่นโฆษณาขายในเวบไซต์เถาเป่า “ 1 กิโลกรัม ราคาขายอยู่ที่ 999 หยวน (ไม่รวมค่าขนส่ง)”

ข้าว “ขั้นเทพ” ที่กิโลกรัมละ 5,000 บาทนี้ มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามมาก โดยใส่ในกล่องอย่างดี เน้นสีเหลืองและสีแดง โดยใช้สีเหลืองเป็นเชดสีฉลองพระองค์ของฮ่องเต้สมัยโบราณ และเชดสีแดงซึ่งเป็นสีมงคลซึ่งเป็นที่นิยมของชาวจีน นอกจากนี้ ยังมีตราสัญลักษณ์ พร้อมสติกเกอร์ปิดผนึกรับประกันคุณภาพว่า ไม่มีใครเปิดก่อนถึงมือผู้บริโภค เมล็ดข้าวบรรจุในโถเซรามิก ซึ่งมีรูปทรงเป็นรูปเมล็ดข้าว โถละครึ่งกิโลกรัม ภายในกล่องและตัวโถมีเรื่องราวของข้าวเขียนบอกเล่าด้วยอักษรภาษาจีนสีสันสวยงาม ซึ่งทั้งหมดของบรรจุภัณฑ์ล้วนแสดงถึงความหรูหรา ดูดี มีระดับ

 ข้าวชนิดนี้เป็นที่นิยมของตลาดและผู้บริโภคระดับสูงของจีนจริง โดยสามารถขายได้กิโลกรัมละ 1,000 หยวน หรือประมาณ 5,000 บาท โดยสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่มีความสามารถพิเศษอย่างยิ่งในการควบคุมการผลิตให้เป็นข้าวออร์กานิคและมีจำนวนจำกัด และประชาสัมพันธ์สืบสานคุณค่าที่ดีของข้าวพันธุ์พิเศษชนิดนี้ จากอดีตกาลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน ดังนั้น ด้วยความพิเศษและความแตกต่าง ผนวกกับการประชาสัมพันธ์เรื่องเครื่องบรรณาการในอดีต จึงทำให้ข้าวพันธุ์นี้ ผลิตออกมา ก็จำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว

 การที่มีข้าวพันธุ์ดี และเก็บสงวนรักษาพันธุ์มาได้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผสมผสานกับการผลิตที่ไม่มากเกินไป ให้เป็นไปตามหลักดีมานด์และซัพพลาย (อุปสงค์และอุปทาน) กล่าวคือ แม้จะผลิตได้น้อย คือ ซัพพลายน้อย แต่ด้วยชื่อเสียงที่ดีเด่น จึงมีดีมานด์มาก ราคาจึงสูง 1,000 หยวน ก็ยังขายได้

จากชื่อเสียงที่ดีเด่นดังกล่าว จึงมีเศรษฐี นักธุรกิจ ภาคราชการ สนใจที่จะซื้อข้าวชนิดนี้เพื่อ บริโภคเอง หรือเป็นของขวัญของฝาก เพราะสามารถพูดได้ว่า ซื้อข้าวออร์กานิคคุณภาพดีระดับฮ่องเต้เสวยให้เป็นของฝาก ผู้รับก็จะเกิดความรู้สึกดี มีระดับ ถือว่าเป็น “กลยุทธ์” ด้านการตลาดที่เยี่ยมยอดของสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ ซึ่งไม่ต้องเหนื่อยยากในการปลูกจำนวนมาก จนทำให้ราคาตก แต่เน้นการปลูกจำนวนน้อยด้วยคุณภาพสูง หรือในปัจจุบันเรียกกว่า Limited หรืออีกนัยหนึ่ง “มีจำนวนจำกัด” จึงทำให้มีราคาซื้อ-ขาย 1,000 หยวน/กิโลกรัม ทั้งๆ ที่ข้าวระดับคุณภาพดีของจีน ซึ่งไม่มีเรื่องราวในอดีตมากล่าวอ้าง ก็ขายกันเพียงกิโลกรัมละ 10-30 หยวนเท่านั้น

ข้าวเจอฟ่างก้งหมี่มีลักษณะพิเศษคือ เมื่อเติบโตเต็มที่ที่จะเก็บเกี่ยวได้ ลำต้นจะมีความสูงถึง 180 เซนติเมตร ดังนั้น การเก็บเกี่ยวจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องเก็บเกี่ยวด้วยมือ หรือใช้แรงงานคนเท่านั้น และด้วยเหตุที่พื้นที่เพาะปลูกข้าวพันธุ์นี้อยู่ในเขตที่ราบสูงระดับ 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ต้องใช้แหล่งน้ำจากภูเขา จึงกล่าวอ้างได้ว่า ใช้น้ำแร่จากภูเขาในการเพาะปลูก ซึ่งยิ่งเสริมสร้างมูลค่าให้กับข้าวพันธุ์นี้ยิ่งขึ้นไปอีก

ข้าวเจอฟ่างก้งหมี่เริ่มปรากฏเป็นที่รู้จักในปี 1956 เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมพื้นที่และได้ชิมข้าวชนิดนี้ หลังจากนั้นจึงปรากฏว่า ทางรัฐบาลรับซื้อข้าวชนิดนี้เพื่อเป็นข้าวรับรองแขกต่างประเทศ โดยมีความพิเศษที่รสชาติหอมนุ่ม

อย่างไรก็ตาม หลังปี 1956 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการสนับสุนนของรัฐบาล ส่งผลให้ข้าวพันธุ์นี้หายสาบสูญไป ปี 2008 จึงได้มีการนำเมล็ดพันธุ์จากคลังของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การเกษตรมณฑลยูนนนานมาฟื้นฟูปลูกขึ้นใหม่ และใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าจะฟื้นฟูความพิเศษให้กลับมาดังเดิม จึงทำให้ในปัจจุบันยังมีผลผลิตออกมาปริมาณน้อย (ความจริงคือ ควบคุมปริมาณการผลิต) แต่ด้วยชื่อเสียงที่ดีในอดีตและคุณภาพข้าวที่หอมนุ่ม และความเป็นอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพ จึงทำให้เป็นที่นิยมของตลาด กลายเป็นของขวัญและของฝากที่สำคัญของเขตฯ เต๋อหง ของมณฑลยูนนาน แม้แต่เมื่อปี 2008 อดีตนายกรัฐมนตรีจีนเหวินเจียเป่า เมื่อได้ลองลิ้มชิมรสข้าวชนิดนี้ ก็ยังต้องยกนิ้วให้ และบอกว่า “อร่อยมาก”

เขตเต๋อหง ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของมณฑลยูนนาน มีพรมแดนติดกับเมียนมาร์ ห่างจากนครคุนหมิงเมื่อเดินทางด้วยรถยนต์ไปหมางซื่อ ซึ่งเป็นเมืองเอกของเต๋อหง มีระยะทาง 649 กิโลเมตร สภาพภูมิศาสตร์ของเต๋อหงเป็นเทือกเขาและที่ราบสูง สูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 800-2,000 เมตร และมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 18-20องศาเซลเซียสโดยช่วงหนาวที่สุดคือ เดือนมกราคม มีอุณหภูมิ 10-12 องศาเซลเซียส และช่วงร้อนที่สุด คือ เดือนมิถุนายน อุณหูมิประมาณ 22-24 องศาเซลเซียส

ยิ่งกว่านี้ ยังมีข้าวเจอฟ่างก้งหมี่รุ่นพิเศษระดับไฮโซ ที่มีบรรจุภัณฑ์เลิศหรูยิ่งขึ้นไปอีก คือซื้อข้าวชนิดนี้และได้หยกขาวรูปร่างเมล็ดข้าวของเมืองเต๋อหงแถมไปด้วย (เมืองเต๋อหงมีชื่อเสียงด้านเป็นแหล่งซื้อ-ขายหยก) โดยบรรจุในกล่องไม้แกะสลักอย่างดี และมีใบรับรองหรือใบรับประกันคุณภาพหยกขาวบรรจุอยู่ในกล่องด้วย โดยข้าวเจอฟ่างก้งหมี่ 1 กิโลกรัม พร้อมหยกขาวมีราคา 1,990 หยวน อย่างนี้หากไม่เรียกว่าข้าว “ไฮโซ” แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเรียกอย่างไร

จากกรณีศึกษาในเรื่องนี้ เห็นได้ว่า ข้าวพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมที่มีคุณภาพที่ดี สามารถที่จะมีจุดขายที่ เป็นจุดเด่น โดยเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ของประเทศไทยสามารถใช้เป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ ผลิตของดีแต่มีจำนวนน้อยก็สามารถขายราคาแพงได้ เพื่อให้พ้นจากวงจรการผลิตของไทย ซึ่งมีปัญหามาจากแข่งกันผลิตข้าวจำนวนมาก ราคาตก และเกษตรกรเป็นหนี้เป็นสิน

การมีเรื่องเล่า ตำนาน เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะมีผลในด้านจิตวิทยา การตลาด การกำหนดราคา การสร้างจุดยืนในแง่เป็นสินค้าพรีเมี่ยม โดยเกษตรกรและชุมชน/สหกรณ์การเกษตรต้องเข้มแข็งและเป็นตัวนำ และมีภาครัฐบาลให้การสนับสนุน ดังตัวอย่างเรื่องนี้ถือว่า นอกจากจะประสบความสำเร็จแล้ว ยังช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

การเอาจริงเอาจังของเกษตรกรในพื้นที่ บวกกับความชาญฉลาดด้านบรรจุภัณฑ์และการตลาด โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวพันธุ์พิเศษนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ คือขายได้กิโลกรัมละ 5,000 บาท และมีผู้ซื้อจริง ๆ อีกด้วย