เครื่องมือทางการจัดการที่ใช้กันมากที่สุดในโลก

เครื่องมือทางการจัดการที่ใช้กันมากที่สุดในโลก

ทุกๆ สองปีบริษัท Bain & Company บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก จะต้องมีการสำรวจการใช้เครื่องมือทางการจัดการของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก 25 เครื่องมือ

โดยเขาได้สำรวจติดต่อกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1993 ล่าสุดในปีนี้ ทาง Bain ก็ได้เผยแพร่ผลการสำรวจการใช้เครื่องมือทางการจัดการของเขาออกมาอีกแล้วครับ โดยในโพลล์ล่าสุดนั้น เขาได้ทำการสอบถามจากผู้บริหารองค์กรต่างๆ กว่า 13,000 คน จาก 70 ประเทศในหลายๆ ทวีป ทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ดังนั้น เรามาดูผลสรุปที่ได้กันนะครับ

เริ่มจากมาดูบรรดาเครื่องมือขาประจำหรือคลาสสิกทั้งหลายที่ติดโผกันมาตลอดทุกๆ ครั้ง ก็ยังอยู่ใน Top 25 ที่เขาสำรวจกันอยู่ทั้ง Benchmarking, Reengineering, Change Management, CRM, Segmentation, Balanced Scorecard, Competencies, Mergers and Acquisition, Mission & Vision Statements, Outsourcing, Strategic Alliances, Strategic Planning, Supply Chain Management, Total Quality Management, Satisfaction & Loyalty Management

นอกจากนี้ ยังมีบรรดาเครื่องมือใหม่ๆ ที่ติดโผกันมาเมื่อไม่นานนี้ (สองสามครั้งที่แล้ว) ประกอบด้วย Zero-Based Budgeting, Scenario & Contingency Planning, Price Optimization Models, Employee Engagement, Decision Rights Tools, Complexity Reduction, Big Data Analytics

ส่วนเครื่องมือทางการจัดการที่เข้ามาหรือติดโผในปีนี้ ก็ประกอบด้วย Digital Transformation, Disruptive Innovation Labs, Organizational Time Management ซึ่งในบรรดาเครื่องมือใหม่ทั้งสามประการนั้น Digital Transformation และ Disruptive Innovation Labs ต่างมุ่งเน้นในเรื่องของการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ และ การคิดนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ๆ มาปรับใช้ในองค์กร แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการบริหารจัดการขององค์กรในปัจจุบัน ส่วน Organizational Time Management นั้น จะมองว่าเวลาเป็นทรัพยากรที่สำคัญขององค์กร และองค์กรพยายามที่จะใช้วิธีการต่างๆ นานา ในการบริหารเวลาของบุคลากรภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าไปดูว่าเครื่องมือไหนที่ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 13,000 รายใช้มากที่สุดนั้น ปรากฏว่าในสิบอันดับแรก ยังเป็นบรรดาพวกเครื่องมือคลาสสิกทั้งหลาย เรียงดังนี้ CRM, Benchmarking, Engagement, Strategic Planning, Outsoucring, Balanced Scorecard, Mission & Vision, Supply Chain, Change Management และ Segmentation ส่วนเครื่องมือใหม่ๆ ที่พอจะติดอันดับได้นั้นก็มี Big Data (อันดับที่ 11) และ Digital Transformation (อันดับที่ 19)

แต่ที่น่าสนใจไปยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อไปดูความพึงพอใจของการใช้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งน่าแปลกใจว่า อันดับหนึ่งคือ Big Data ที่มีคะแนนความพึงพอใจสูงสุด แสดงให้เห็นว่าเจ้า Big Data ที่กำลังเป็นกระแสกันอยู่ในปัจจุบันนั้น เมื่อองค์กรนำมาใช้แล้วก่อให้เกิดประโยชน์กับองค์กร จนทำให้ผู้บริหารเกิดความพอใจ รองลงมาจาก Big Data ในแง่ของความพอใจ ก็ประกอบด้วย TQM, Segmentation, Disruptive Innovation, Digital Transformation, CRM, Strategic Planning, Decision Right Tools, Balanced Scorecard, และ Strategic Alliance

มีข้อน่าสังเกตอีกเหมือนกันครับว่าทั้ง Disruptive Innovation และ Digital Transformation ที่ถึงแม้จะเป็นเครื่องมือใหม่ และเพิ่งเป็นกระแสกันไม่นาน ก็ติดสิบอันดับแรกของความพึงพอใจสูงสุดด้วย แสดงให้เห็นว่าแนวคิดใหม่ๆ เหล่านี้ ทั้ง Big Data, Disruptive, Digital เมื่อองค์กรนำมาประยุกต์ใช้แล้วก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งสิ้น แสดงว่าเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้ เมื่อนำมาใช้แล้วสามารถช่วยยกระดับ หรือพัฒนาองค์กรได้ในอีกระดับหนึ่ง

ท่านผู้อ่านที่สนใจศึกษาด้านเครื่องมือทางการจัดการใหม่ๆ ก็ลองไปหาข้อมูลล่าสุดจากของ Bain ดูนะครับ แต่ถ้าท่านอยากจะทราบถึงแนวโน้มธุรกิจที่สำคัญสำหรับครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในธุรกิจการเงินและธนาคาร สื่อสารโทรคมนาคม และอสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องอย่าพลาดงานสัมมนา 33 ปี ของ MBA จุฬาฯ นะครับ เพราะงานนี้มีทั้ง คุณรพี สุจริตกุล (เลขา กลต.) คุณชาติชาย พยุหานาวีชัย (ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน) คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ (CEO ของ AIS) และ คุณประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต (รองกรรมการผู้จัดการ พฤกษาเรียลเอสเตท) มาเป็นวิทยากรให้มุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจในครึ่งปีหลัง (3 ท่านหลังเป็นศิษย์เก่าของ MBA จุฬาฯ) งานนี้จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ สนใจโทรติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5717-9 ครับ ผมเองก็จะไปพูดปิดท้ายถึงแนวโน้มการบริหารจัดการในงานนี้เช่นเดียวกันครับ