จีนแผ่อิทธิพล-ญี่ปุ่นขยายบารมี ไทยควรเป็นมือประสานสิบทิศ

จีนแผ่อิทธิพล-ญี่ปุ่นขยายบารมี ไทยควรเป็นมือประสานสิบทิศ

จีนประกาศเป็นแกนนำตั้งธนาคาร เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไทยร่วมเป็นประเทศผู้ร่วมก่อตั้งกับอีก 56 ประเทศ

 ทุนจดทะเบียนแรกเริ่มอยู่ที่ 50,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท

ญี่ปุ่นยังไม่ยอมเข้าเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งของ Asian Infrastructure Investment Bank (BIIS) เพราะจีนเป็นแกนนำ

แต่ญี่ปุ่นก็อยู่เฉยไม่ได้ เพิ่งชวนประเทศลุ่มน้ำแม่โขง 5 ประเทศรวมทั้งไทยไปประชุมสุดยอดที่โตเกียว แล้วประกาศจะให้เงินช่วยเหลือสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 6,100 ล้านดอลลาร์หรือ 2 แสนล้านบาท

เป็นการแข่งกันเอาใจประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งห้า นั่นคือไทย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนามอย่างเต็มที่

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศนโยบาย One Road One Belt อันหมายถึงการรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมในประวัติศาสตร์ มาใช้กับยุทธศาสตร์การเมืองเศรษฐกิจและความมั่นคงของจีน โดยเพิ่มเส้นทางทะเลประกอบกับการสร้างเครือข่ายเส้นทางรถไฟ ที่เชื่อมต่อระหว่างจีนตอนใต้ผ่านอาเซียนไปสู่ยุโรป

ถือเป็นทิศทางรุกเพื่อสร้างอิทธิพลบารมีของจีนอย่างเต็มรูปแบบ

ญี่ปุ่นย่อมอยู่เฉยไม่ได้เพราะต้องยื้อแย่ง บทบาทในเอเซียจากจีนให้ได้ ในภาวะที่การแข่งขันเพื่อช่วงชิง การนำกำลังเดินหน้าอย่างเชี่ยวกราก

สหรัฐฯ หนุนญี่ปุ่น รัสเซียจับมือจีน อาเซียนถูกวางอยู่ระหว่างกลางของสองกลุ่มยักษ์ จึงเป็นเกมแห่งการถ่วงดุลอำนาจอย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง

นายกฯชินโซะ อาเบะของญี่ปุ่น ประกาศว่ารัฐบาลของเขาจะให้เงินสนับสนุนภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 7.5 แสนล้าน เป็นการช่วยเหลือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพราะโตเกียวถือว่าลุ่มน้ำโขงเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่สุดของเขา

อย่าลืมว่าจีนตั้งอยู่ต้นน้ำแม่โขงขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ห่างไกลออกไป แต่ความใกล้ไกลทางภูมิศาสตร์ไม่ได้เป็นตัวกำหนดนโยบายแต่เพียงตัวเดียว ผลประโยชน์ทางการทูตและการเมืองมีส่วนสำคัญไม่น้อยในการวางแนวทางการทูตของจีนกับญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้ นายกฯหลี่เค่อเฉียงของจีนประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาระหว่างการประชุมสุดยอดของผู้นำจีนกับอาเซียน ที่พม่าว่าจีนเห็นอาเซียนเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง และความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน กำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สดใส ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือที่ลุ่มลึกและกว้างขวาง

จีนมาสร้างทาง ญี่ปุ่นก็จะทุ่มเงินลงทุนสร้างทางหลวง ทางรถไฟ และโรงไฟฟ้าในภูมิภาคนี้

ญี่ปุ่นกับจีนมีความขัดแย้งในทะเลจีนตะวันออก จีนกับเวียดนามและฟิลิปปินส์มีความระหองระแหงในทะเลจีนใต้

ไทยเราไม่ได้เป็นคู่กรณีในความบาดหมางในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็น ผู้ประสานงาน ระหว่างอาเซียนกับจีน และญี่ปุ่นมองว่าไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านการลงทุนและค้าขายในอาเซียน

จึงเป็นจังหวะอันสำคัญยิ่งที่ไทยเราจะแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ใช้วิเทโศบายทางการทูตที่จะสานสัมพันธ์ เพื่อถ่วงดุลแห่งอำนาจในภูมิภาคนี้ ให้เกิดประโยชน์แก่เราเองและอาเซียนมากที่สุด

ผมไม่มองว่านี่คือกรณีของช้างชนกัน หญ้าแพรกต้องแหลก

แต่ผมเห็นว่าเป็นโอกาสทองสำหรับประเทศไทยที่จะทำหน้าที่เป็น มือประสานสิบทิศ เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นประโยชน์ร่วมกัน ของการเกื้อหนุนกันและกัน แทนที่จะทำศึกสงครามให้เกิดความเสียหายกับทุกฝ่าย

เพราะมหาสมุทรแปซิฟิกกว้างขวางใหญ่โตพอ สำหรับที่จะให้ทุกประเทศเล่นบทบาทของตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องกระทบกระทั่งคนอื่นเลยแม้แต่น้อย