ปัญหาของกรีก

ปัญหาของกรีก

ในขณะที่ผมเขียนบทความนี้ยังไม่ทราบผลของการลงประชามติของประชาชนกรีก ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม

แต่ผมค่อนข้างจะเชื่อมั่นว่าไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ก็จะไม่ช่วยกอบกู้สถานการณ์ในประเทศกรีซมากนัก โดยผมเห็นว่าในที่สุดอาจใช้เวลาอีกเป็นเดือนกว่าวิกฤติเศรษฐกิจของกรีซจะปิดฉากลงได้ และมีโอกาสค่อนข้างสูงที่กรีซจะต้องออกจากกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร ไม่ว่าประชาชนจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

ทั้งนี้ ประชามติที่นายกรัฐมนตรีซิปรัสเสนอ และผ่านความเห็นชอบของรัฐสภากรีซเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานั้น เป็นการเสนอให้ประชาชนลงมติว่าจะเห็นด้วยกับเงื่อนไขของประเทศเจ้าหนี้ ในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศกรีซสามารถเบิกเงินงวดสุดท้าย ของข้อตกลงการกอบกู้เศรษฐกิจของกรีซมูลค่า 7,200 ล้านยูโร โดยข้อตกลงดังกล่าวจะหมดอายุลงในวันที่ 30 มิถุนายน ทั้งนี้ เมื่อได้เงินมาแล้วก็จะทำให้รัฐบาลกรีซสามารถจ่ายคืนเงินกู้ไอเอ็มเอฟมูลค่า 1.55 พันล้านยูโร ในวันเดียวกันคือ 30 มิถุนายน และยังจะมีเงินกู้ที่จะต้องคืนให้กับไอเอ็มเอฟ และกลุ่มรัฐบาลอียูอีกในเดือนกรกฎาคม

นอกจากนั้น ก็จะต้องเจรจาต่ออายุความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเป็นครั้งที่ 3 ต่อไปอีกอย่างน้อย 4-5 ปีเพื่อทยอยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขยายตัว และนำเงินมาผ่อนชำระคืนเจ้าหนี้ 3 กลุ่ม (รัฐบาลกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร ธนาคารกลางยุโรป และไอเอ็มเอฟ) คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 245,000 ล้านยูโร ต่อไปอีกด้วย

สมมุติว่าประชาชนลงประชามติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเจ้าหนี้ ตามจุดยืนของนายกรัฐมนตรีซิปรัส ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคไซริซ่าที่คุมเสียงข้างมากของสภา ในกรณีดังกล่าวก็นึกไม่ออกว่ารัฐบาลกรีซจะเจรจาอะไรกับเจ้าหนี้ เพราะประชาชนกรีกได้ลงประชามติปฏิเสธข้อเสนอของเจ้าหนี้ไปแล้ว หากจะมาเริ่มเจรจาก็ต้องมาตั้งต้นการเจรจาใหม่ทั้งหมด หลังจากที่พยายามมาแล้วกว่า 5 เดือน และไม่มีอะไรให้ความเชื่อมั่นได้ว่า การเจรจารอบใหม่จะประสบความสำเร็จ

เพราะนายกรัฐมนตรีซิปรัสก็อาจประกาศให้ทำประชามติอีกในระหว่างนั้น ซึ่งไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่เดือน และกลุ่มเจ้าหนี้จะสามารถให้การสนับสนุนทางการเงินกับประเทศกรีซได้มากน้อยเพียงใด เพราะยังไม่มีข้อตกลง และในอดีตรัฐบาลของนายซิปรัสก็ไม่เคยแสดงท่าทีที่เป็นมิตร และร่วมมือกับฝ่ายเจ้าหนี้ ซึ่งหากเหตุการณ์ยืดเยื้อตามแนวทางข้างต้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจกรีซบอบช้ำอย่างมาก เพราะระบบธนาคารพาณิชย์ของกรีซกำลังขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เนื่องจากธนาคารกลางยุโรปยุติการเพิ่มสภาพคล่องฉุกเฉิน (Emergency Liquidity Assistance หรือ ELA) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน โดยจำกัดเอาไว้ที่ 89,000 ล้านยูโร ซึ่งสภาพคล่องดังกล่าวกำลังหมดลงอย่างรวดเร็ว เพราะประชาชนขาดความมั่นใจ ถอนเงินออกจากธนาคารอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดรัฐบาลต้องประกาศปิดธนาคารพาณิชย์และตลาดหุ้น ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน (โดยอาจเปิดทำงานอีกครั้งหลังทราบผลประชามติแล้ว) โดยในขณะนี้ประชาชนกรีกจะสามารถเข้าคิวถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มได้เพียงวันละ 66 ยูโรต่อคน

บางคนยังคาดหวังให้ประชาชนกรีกลงประชามติรับข้อเสนอของเจ้าหนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็ว และนำความเชื่อมั่นกลับมา จากการยืนยันของประชาชนว่า ประเทศกรีซต้องการอยู่ในกลุ่มของประเทศที่ใช้เงินยูโรต่อไป แต่ผมเองก็ไม่แน่ใจว่า การลงประชามติเห็นชอบข้อเสนอของเจ้าหนี้ จะแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วเบ็ดเสร็จด้วยเหตุผล 2 ประการคือ

1.กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไอเอ็มเอฟ คริสเตียน ลาการ์ด ชี้แจงว่าประชามติของกรีซไม่มีสถานะทางกฎหมาย (no legal basis) เพราะการทำตามเงื่อนไขที่จะเบิกเงินงวดสุดท้าย จากข้อตกลงให้ความช่วยเหลือกรีซนั้น จะต้องทำให้เบ็ดเสร็จภายใน 30 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ แต่เมื่อเจรจาไม่สำเร็จและข้อตกลงนี้ก็จบสิ้นไปแล้ว กรีซจะไม่สามารถเบิกเงินงวดสุดท้ายดังกล่าวได้ แม้ว่าประชาชนจะเห็นชอบกับข้อเสนอของเจ้าหนี้ในวันที่ 6 กรกฎาคม

2.ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ นายกรัฐมนตรีซิปรัสมีจุดยืนชัดเจนว่า จะโน้มน้าวให้ประชาชนไม่ตอบรับข้อเสนอของเจ้าหนี้ โดยกล่าวว่าเป็นข้อเสนอที่ขู่กรรโชก (blackmail) ประชาชนกรีก ทั้งนี้ โดยกล่าวว่าการที่ประเทศกรีซยอมต่อข้อตกลงความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในอดีตนั้น เปรียบเทียบเสมือนการ “ถูกปล้น” (pillage) ดังนั้น การลงประชามติไม่ยอมรับข้อเสนอของเจ้าหนี้ จึงจะทำให้กรีซมีอำนาจต่อรองมากขึ้น (stronger negotiating position) ซึ่งประธานกลุ่มรัฐมนตรีคลังของประเทศเจ้าหนี้แสดงความเห็นตอบโต้ว่า การที่ประชาชนเห็นต่างกับรัฐบาล (คือลงประชามติสนับสนุนข้อเสนอของเจ้าหนี้) ก็จะไม่สามารถทำให้เจ้าหนี้มีความมั่นใจได้ว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีไซปรัสจะปฏิบัติตามข้อตกลงกับเจ้าหนี้ โดยกล่าวว่าไม่แน่ใจว่าจะไว้ใจหรือเชื่อใจใครในรัฐบาลกรีซชุดปัจจุบันได้

3.แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด น่าจะเป็นสิ่งที่น่าจะตามมาจากการลงประชามติที่เห็นชอบ แต่รัฐบาลเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับประชามติ สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน และหากประชาชนเลือกพรรคการเมืองอื่น (ที่ไม่ใช่พรรคซ้ายจัด) ให้มีเสียงข้างมากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงจะมีความเป็นไปได้ว่า กลุ่มประเทศเจ้าหนี้จะยอมไว้ใจนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเปิดฉากการเจรจาใหม่

ทั้งนี้ ผมเข้าใจว่านักลงทุนและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ยังพยายามมองโลกในแง่ดีว่า แม้จะมีความไม่แน่นอนซึ่งจะมีผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว ทั้งสองฝ่ายน่าจะมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในการเจรจาเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ และคาดหวังว่าประเทศกลุ่มที่ใช้เงินยูโรจะมีมาตรการต่างๆ ที่จะจำกัดผลกระทบไม่ให้ลามออกไปสู่ประเทศอื่นๆ ครับ