หยวนเป็นเงินตราระหว่างประเทศ : Revisit (1)

หยวนเป็นเงินตราระหว่างประเทศ : Revisit (1)

การพูดถึงเงินหยวนเป็นเงินตราระหว่างประเทศ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนจะมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่เนื้อหาโดยส่วนใหญ่มุ่งไปที่ขนาดของระบบเศรษฐกิจจีน ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และปริมาณเงินหยวนโพ้นทะเลที่มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนน้อยนักที่จะมองความเป็นเงินตราระหว่างประเทศในเชิงวิชาการจริงๆ ที่จริงแล้วคอลัมน์นี้ก็เคยพูดถึงเงินหยวนเป็นเงินตราต่างประเทศหลายครั้งแล้ว แต่เห็นจะต้องพูดต่อไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ผู้คนยังไม่มีความเข้าใจอย่างเพียงพอ

พื้นฐานความเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ เริ่มต้นโดยบทความของ Kindleburger ในปี 1974  แต่ผู้ที่ต่อยอดให้ได้ข้อสรุปทางวิชาการอย่างครบถ้วนเห็นจะได้แก่บทความของ Fratianni ในปี 2007

Fratianni ได้ศึกษาความเป็นมาของศูนย์กลางการเงินทั่วโลกในประวัติศาสตร์ที่สำคัญๆ 7 แห่ง Florence เป็นศูนย์กลางการเงินในช่วงศตวรรษที่ 13-15 ธนาคารของ Florence รับเงินจากพ่อค้าทอผ้าขนสัตว์ในอิตาลีเพื่อซื้อขนสัตว์ในอังกฤษโดยไม่ต้องส่งเงินไป แต่เอาเงินนั้นส่งไปให้วาติกันเป็นเงินที่ได้รับมอบหมายให้เก็บจากโบสถ์ต่างๆ ในอังกฤษ

ในขณะเดียวกัน เงินที่เก็บจากโบสถ์ในอังกฤษก็เอาไปซื้อขนสัตว์ในอังกฤษแทน การหลีกเลี่ยงการส่งเงินระหว่างประเทศเป็นการกำจัดความเสี่ยงจากการขนส่ง นี่คือที่มาของคำว่า Merchant Banking ในขณะเดียวกัน ธนาคารในสมัยนั้นก็ให้กู้ยืมแก่กษัตริย์ของประเทศต่างๆ โดยได้รับมอบอำนาจให้เก็บภาษีในประเทศนั้นๆ ได้ เมื่อกษัตริย์ล้มละลาย ธนาคารก็ล้มละลายไปด้วย ซึ่งก็เป็นชะตากรรมของศูนย์กลางการเงินอีกหลายแห่ง  

Venice ในช่วงศตวรรษที่ 16-17 มีธนาคารที่สำคัญ 2 แห่ง คือ Banco di Rialto เป็นธนาคารหักบัญชีสำหรับการรับและจ่ายเงิน ธนาคารนี้ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาล สาเหตุที่ต้องมีธนาคารลักษณะนี้ เนื่องจากการพิสูจน์เงินตราว่าเป็นของจริงเพียงใดมีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนธนาคารอีกแห่งหนึ่งคือ Banco Giro เป็นธนาคารที่ให้กู้แก่รัฐบาล โดยได้รับตราสารหนี้ตอบแทน โดยที่ธนาคารนี้ได้รับอำนาจผูกขาดในการรับเงินฝาก ที่ถือว่าชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเหมือนๆ กับธนาคารกลางโดยทั่วไปในปัจจุบัน        

Antwerp เป็นศูนย์กลางการเงินในศตวรรษที่ 16-17 และเป็นแหล่งที่มีนวัตกรรมทางการเงินหลายอย่าง ได้แก่ การเปลี่ยนตลาดนัดการเงินชั่วคราว ของผู้ที่ต้องการกู้ยืมและผู้ให้กู้ยืมมาเป็นตลาดนัดแลกเปลี่ยนที่ถาวร การสร้างระบบพื้นฐานทางกฎหมาย ที่อำนวยให้มีตราสารทางการได้หลากหลายประเภท โดยเฉพาะสัญญาล่วงหน้า และนวัตกรรมตลาดเงินกู้ระยะสั้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ในที่สุด Antwerp ก็ล่มสลายไปด้วยการกู้ยืมที่ให้กับราชวงศ์ Habsburg นวัตกรรมทั้งหลายของ Antwerp ถูกนำไปใช้ต่อใน Amsterdam สิ่งที่ Amsterdam ทำให้เจริญรุ่งเรืองก็คือ ตลาดแลกเปลี่ยนตราสารทุนของ Dutch East India Co. และ Dutch West India Co. สำหรับการลงทุนในการส่งเรือแต่ละลำไปค้าขายในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ แม้แต่เงินปันผลที่บริษัทเหล่านี้ประกาศจ่าย แต่ยังไม่ได้จ่าย ก็นำไปเป็นตราสารซื้อขายได้

นอกจากนี้ ตลาดแลกเปลี่ยนตราสารยังมีส่วนงานย่อย เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ นายหน้า และการประกันภัย  Wisselbank เป็นธนาคารที่ได้รับอำนาจผูกขาดในการรับจ่ายเงินโดยเฉพาะตั๋วแลกเงินที่มีมูลค่าตั๋วแต่ 600 guilders ขึ้นไป

สิ่งที่เป็นข้อด้อยของ Amsterdam คือ ไม่มีรัฐบาลกลางอันเป็นที่รวมของการออกตราสารหนี้และการเก็บภาษีในประเทศ มีแต่รัฐบาลท้องถิ่นเล็กๆ ที่เป็นอิสระต่อกัน ในทางตรงกันข้าม การคลังรัฐบาลในอังกฤษกลับเป็นแรงผลักดันอันสำคัญ ที่ทำให้อังกฤษเป็นศูนย์กลางการเงินได้ อังกฤษใช้กลไกของรัฐสภาเป็นสิ่งที่จะลดความเสี่ยงของหนี้สินภาครัฐบาล แทนที่อำนาจสิทธิ์ขาดจะอยู่ที่กษัตริย์เพียงฝ่ายเดียว การกู้ยืมของรัฐบาลจะต้องได้อนุมัติจากรัฐสภาเสียก่อน

Bank of England ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1694 เพื่อให้กู้ยืมแก่รัฐบาลเพียงอย่างเดียว Million Bank, East India Co. และ South Sea Co. ก็ถูกจัดตั้งขึ้นภายหลังด้วยจุดประสงค์เดียวกัน ธนาคารเหล่านี้เปลี่ยนหนี้สินรัฐบาลที่ไม่มีสภาพคล่อง โดยการขายหุ้นของธนาคารที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้แทน

เมื่ออังกฤษเอาชนะดัทช์ในสงครามทางเรือในศตวรรษที่ 18 อังกฤษจึงกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินเพียงหนึ่งเดียว นอกจากทำธุรกิจการเงินทุกอย่างที่ดัทช์เคยทำแล้ว อังกฤษยังสร้างความเฟื่องฟูให้กับการซื้อขายแลกเปลี่ยนตั๋วแลกเงินหรือ bill of exchange ด้วย เนื่องจากอังกฤษมีความมั่งคั่งจากการค้าขายระหว่างประเทศ จึงให้กู้ยืมอย่างกว้างขวางแก่รัฐบาลต่างๆ ในยุโรป ซึ่งรวมถึงการให้กู้ยืมแก่สยามในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้ด้วย โดยการออกพันธบัตรในลอนดอนเป็นปอนด์สเตอร์ลิงแต่มีขายในเมืองใหญ่ๆ ทั่วยุโรป ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่สำคัญในยุคนั้น ศูนย์กลางทางการเงินยังเป็นแหล่งรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น ผู้รับเงินฝาก ผู้รับซื้อลดตั๋วเงิน ธนาคารกลาง บริษัทประกันภัย ผู้ขายส่งตราสารทางการเงิน นายหน้าหุ้น ผู้เชี่ยวชาญกองทุน ผู้สอบบัญชี นักกฎหมาย ผู้ค้าหลักทรัพย์ ผู้ค้าโภคภัณฑ์ ผู้ว่าจ้างการขนส่งทางเรือ

แม้ว่าลอนดอนจะเป็นศูนย์กลางการเงินแล้วในยุคนั้น แต่สำหรับการค้าขายกับประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีน ทั้งอังกฤษและประเทศอื่นๆ ในยุโรป ต่างต้องใช้โลหะเงินในการค้ากับจีนและได้สูญเสียเงินไปจำนวนมากในระหว่างปี 1750-1870 เงินปอนด์สเตอร์ลิงจึงยังไม่ใช่เงินตราระหว่างประเทศในยุคนั้น

ตลาดหุ้นลอนดอนแยกความเป็นเจ้าของกับการดำเนินงาน จึงพยายามรับสมาชิกให้มีจำนวนสูงสุดเพื่อให้มีรายได้สูงสุด ในขณะเดียวกัน สมาชิกก็พยายามคิดอัตราค่าธรรมเนียมให้ต่ำสุด เพื่อให้มีปริมาณซื้อขายสูงสุด ในระหว่างปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 หลักทรัพย์ต่างประเทศที่จดทะเบียน มีสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ลอนดอน

ในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 นิวยอร์กเป็นศูนย์กลางการเงินที่ไม่แตกต่างไปจากลอนดอนมากนัก ยกเว้นด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่นิวยอร์กยังล้าหลังลอนดอนอยู่มาก เนื่องจากกฎหมายสหรัฐอเมริกาไม่อนุญาตให้ธนาคารรับซื้อตั๋วเงิน สถานะเช่นนี้เปลี่ยนแปลงไปในปี 1944 เมื่อประเทศต่างๆ ได้ทำความตกลง Bretton Woods ให้ดอลลาร์สหรัฐอเมริกามีอัตราแลกเปลี่ยนกับทองคำที่ $35 ต่อออนซ์ และเงินตราต่างประเทศอื่นๆ ก็กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของตนกับดอลลาร์ที่อัตราคงที่ เงินดอลลาร์จึงมีสถานะเหมือนทองคำ และธนาคารกลางประเทศต่างๆ ถือเงินดอลลาร์เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ หรือใช้เงินดอลลาร์ในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้นสหรัฐอเมริกายังกลายเป็นประเทศเจ้าหนี้ ที่ใหญ่ที่สุดภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นที่แน่นอนว่า การให้กู้ยืมย่อมอยู่ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

เมื่อทบทวนความเป็นไปของศูนย์กลางการเงินต่างๆ ข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าธนาคารของ Florence จะใช้แหล่งเงินทุนรายหนึ่งไปกับผู้ใช้เงินทุนอีกรายหนึ่ง โดยใช้ประโยชน์จากสถานที่ทำการในสองประเทศ ซึ่งทำให้หมดความจำเป็นในการขนส่งเงินข้ามประเทศที่เสี่ยงต่ออันตราย ธนาคารหักบัญชีในเวนิสก็คงใช้หลักการเดียวกัน เพียงแต่แหล่งเงินทุนกับการใช้เงินทุนอยู่ในประเทศเดียวกัน

นอกจากนี้เวนิสมีนวัตกรรมในลักษณะของธนาคารกลางในปัจจุบัน ที่มีเงินฝากที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ศูนย์กลางทั้งสองต่างมีขอบเขตอันจำกัดที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน

ส่วนกรณีของ Amsterdam นั้น เป็นการพัฒนาไปสู่ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนตราสารทางการเงิน ที่อยู่ภายใต้ระบบกฎหมายควบคุม ทำให้เกิดการซื้อขายอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ตราสารอนุพันธ์ สัญญาล่วงหน้า สินค้าโภคภัณฑ์ และตราสารการลงทุน นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การประกันภัยและนายหน้า กล่าวโดยง่ายก็คือ ตราสารที่ซื้อขายกันขยายตัวไปสู่สิ่งที่ต้องใช้ระยะเวลา และไม่มีสภาพคล่องให้สามารถซื้อขายกันได้อย่างสะดวก ภายใต้หลักเกณฑ์และข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม การซื้อขายก็ยังจำกัดอยู่ในประเทศและบริเวณใกล้เคียง

แต่สิ่งที่อังกฤษพัฒนาต่อจากนั้น และมีนัยสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การเปลี่ยนอำนาจอนุมัติการกู้ยืมเงินของประเทศ จากกษัตริย์ไปสู่รัฐสภา ซึ่งเป็นหลักประกันว่ารัฐบาลจะไม่ใช้จ่ายเกินตัวเหมือนก่อนหน้านี้ ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ล้มละลายกันบ่อยครั้ง ต่อมาความมั่งคั่งของอังกฤษจากการค้าขายทั่วโลก เริ่มนำไปสู่การมองหาแหล่งที่จะให้กู้ยืมเงินแก่ประเทศต่างๆ โดยออกตราสารในลอนดอนและอยู่ในรูปเงินปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งสามารถซื้อขายต่อภายใต้มาตรฐานนั้นได้ทั่วโลก ในราวต้นศตวรรษที่ 19 ในเวลานั้น แม้ว่าอังกฤษจะต้องใช้เงินค้าขายกับเอเชีย ด้วยเหตุที่เงินตราของตนเองยังไม่เป็นที่ยอมรับ แต่เงินตราของตนกลับเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปทั้งยุโรป

ดังนั้น การทำให้เงินตราเป็นที่ยอมรับในระหว่างประเทศ จึงไม่ใช่ผ่านการค้าระหว่างประเทศ  แต่จะต้องกระทำผ่านตลาดการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ ข้อความข้างต้นนี้ผ่านการพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งกับกรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้เริ่มต้นด้วยการเป็นมหาอำนาจในการค้าระหว่างประเทศเลย แต่สหรัฐอเมริกาใช้โอกาสที่ประเทศอื่นๆ ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ เนื่องจากภาวะสงครามจนทำให้กลายเป็นประเทศมั่งคั่งและมีเงินกู้ยืมให้แก่ประเทศอื่นๆ