ข้อมูลใหม่ตอกย้ำภาวะขาดแคลนน้ำของชาวโลก

ข้อมูลใหม่ตอกย้ำภาวะขาดแคลนน้ำของชาวโลก

ปีนี้ฝนมาช้า การขาดแคลนน้ำจึงเป็นปัญหาใหญ่ แต่เมืองไทยยังโชคดีมาก เนื่องจากไม่ขาดแคลนน้ำเช่นเดียวกับในหลายภาคของโลก

อันที่จริงโลกใบนี้มีน้ำปริมาณมหาศาล แต่มันไม่อยู่ในสภาพน้ำจืดที่นำมาใช้ได้ทันที ทั้งที่น้ำมีปริมาณเท่าเดิม การที่น้ำเปลี่ยนสภาพไป หรือไม่ก็เปลี่ยนสถานที่พร้อมกับโลกมีประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้การขาดแคลนน้ำแพร่ขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง ในช่วงนี้รัฐบาลไทยสั่งให้ทหารเจาะบ่อบาดาลเพื่อบรรเทาการขาดแคลน บ่อบาดาลจะได้ผลมากน้อยเพียงไรยังไม่เป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากเมืองไทยดูจะไม่มีขุมน้ำจืดใต้ดินขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับในหลายภาคของโลก ส่วนรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐออกมาตรการลดการใช้น้ำแบบเข้มงวดมาก จนทำให้สนามหญ้าเริ่มพากันเฉาตาย

ข้อมูลบ่งว่าโลกมีขุมน้ำจืดใต้ดินขนาดใหญ่กระจัดกระจายอยู่ในทุกทวีปจำนวน 37 แห่ง ขุมน้ำเหล่านั้นเกิดจากการสะสมของน้ำที่ไหลซึมลงไปในดิน และขังอยู่ในชั้นหินที่เอื้อให้น้ำขังอยู่ได้ กระบวนการสะสมเกิดขึ้นช้าๆ ในช่วงเวลานานซึ่งอาจเป็นล้านปี หลังจากมนุษย์เรามีเทคโนโลยีที่สามารถเจาะลงไปลึกจนถึงขุมน้ำเหล่านั้นและสูบน้ำขึ้นมาได้ การเจาะบ่อบาดาลโดยทั่วไปก็เริ่มขึ้น การสูบน้ำขึ้นมาในอัตราสูงเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค พร้อมกับใช้ในเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ส่งผลให้น้ำในขุมลดลง เนื่องจากน้ำที่ซึมลงไปอยู่ในอัตราต่ำกว่า

คอลัมน์นี้เคยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาที่มาจากการเจาะบ่อบาดาลในย่านตะวันออกกลางโดยเฉพาะในซาอุดีอาระเบียและในเยเมน ซึ่งตอนนี้มีสภาพเป็นรัฐล้มเหลวแล้ว รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้น้ำของประเทศเหล่านั้นมีอยู่ในหนังสือชื่อ “จดหมายจากวอชิงตัน” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เวบไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com

เท่าที่ผ่านมาบางท้องถิ่น หรือบางประเทศรู้ว่าขุมน้ำของตนอาจเริ่มแห้งขอด เพราะไม่สามารถสูบขึ้นมาใช้ได้ในปริมาณเท่าเดิม อย่างไรก็ดี ไม่มีข้อมูลที่ชี้บ่งถึงสภาพของขุมน้ำใต้ดินทั่วโลกแบบครอบคลุมจนกระทั่งองค์การอวกาศของสหรัฐ พิมพ์รายงานการศึกษาออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ การศึกษานั้นครอบคลุมเวลา 10ปี โดยใช้เทคโนโลยีของระบบดาวเทียม ที่สหรัฐและเยอรมนีลงทุนร่วมกัน การศึกษาสรุปว่า ในบรรดาขุมน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ 37 แห่ง 21 แห่ง กำลังแห้งเหือดลงจนถึงจุดพลิกผัน สำคัญยิ่งแล้วนั่นคือ น้ำที่สูบขึ้นมาปริมาณสูงกว่าน้ำที่ไหลซึ่งลงไปทดแทน นอกจากในย่านตะวันออกกลาง ขุมน้ำขนาดใหญ่ที่แห้งเหือดไปจนถึงขั้นวิกฤติ ได้แก่ ในลุ่มแม่น้ำสินธุซึ่งครอบคลุมอินเดียและปากีสถาน และในย่านแอฟริกาตอนเหนือ ซึ่งครอบคลุมลิเบียและไนเจอร์ 

ภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งเร่งให้เกิดการแห้งเหือดของขุมน้ำใต้ดิน เนื่องจากความร้อนและความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องสูบน้ำจากขุมน้ำเหล่านั้นมาใช้ในอัตราสูง เมื่อนำขึ้นมาใช้ น้ำนั้นเพียงส่วนเดียวจะไหลซึมกลับไปทดแทนแหล่งเดิม อีกส่วนหนึ่งจะระเหยไปแล้วกลายเป็นฝนที่ตกในมหาสมุทร และในภาคอื่นของโลก โดยเฉพาะในส่วนที่มีป่าไม้ ทำให้พื้นดินชุ่มฉ่ำ กระบวนการนี้มีผลกระทบที่ยังไม่ค่อยมีใครใส่ใจ นั่นคือ ฝนที่ตกในมหาสมุทร และในภาคที่มีความชุ่มฉ่ำ ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เช่นเดียวกับการละลายของธารน้ำแข็งและน้ำแข็งขั้วโลก การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นสรุปว่า ราว 40% ของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เกิดจากน้ำที่สูบจากขุมใต้ดิน

ข้อมูลใหม่เหล่านี้ตอกย้ำคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำที่ว่า การขาดแคลนน้ำจะเป็นปัญหาใหญ่หลวงถึงขั้นวิกฤติในคริสต์ศตวรรษปัจจุบัน และการแย่งชิงน้ำกันจะยิ่งเข้มข้นจนเป็นสงครามชิงน้ำ ซึ่งคอลัมน์นี้อ้างถึงหลายครั้งเกี่ยวกับประเด็นนี้ มีหนังสือเขียนออกมาอย่างต่อเนื่อง หลายเรื่องมีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในหนังสือชื่อ “ธาตุ 4 พิโรธ: โจทย์ที่ต้องมีคำตอบ” (อาจดาวน์โหลดได้ฟรีที่เวบไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน) สงครามชิงน้ำในที่นี้อาจมีขนาดเล็ก จำพวกความขัดแย้งอันเกิดจากการแย่งชิงน้ำกันในระดับบุคคลและชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย หรือมีขนาดใหญ่ถึงในระดับประเทศ เช่น ในย่านตะวันออกกลาง 

ดังที่อ้างในตอนต้น เมืองไทยโชคดีมากเมื่อเทียบกับหลายภาคของโลก หากเมืองไทยไม่ตัดไม้ทำลายป่าดังที่ทำกันมาหลายทศวรรษ เป็นไปได้สูงว่าฝนจะตกตรงตามฤดูกาลอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ เพราะเมืองไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม และน้ำใต้ดินที่ถูกสูบขึ้นมาใช้ในภาคอื่นของโลก จะกลายเป็นเมฆลอยมา จนส่งผลให้ฝนตกไม่น้อยกว่าเมื่อก่อน แม้ฝนจะมาช้าบ้างเป็นครั้งคราว แต่เมืองไทยก็ไม่น่าจะขาดแคลนน้ำดังที่เป็นอยู่ หากเราเปิดใจให้กว้างเพื่อรับความรู้มากกว่าในปัจจุบัน พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้สูงขึ้น 

ความรู้ด้านหนึ่งซึ่งคอลัมน์นี้เสนอมาก่อน ได้แก่การบริหารจัดการน้ำของชาวอินเดีย ในพื้นที่กึ่งทะเลทราย การที่แต่ละปีมีฝนตกเพียงจำกัด เป็นแรงจูงใจให้ชาวอินเดียค้นหาวิธีเก็บเกี่ยวน้ำฝนไว้ เพื่อปันกันใช้ตลอดปี วิธีที่น่าจะเหมาะกับเมืองไทยได้แก่ “สระพวง” นั่นคือ การขุดสระน้ำจำนวนมากไว้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง วิธีนี้น่าจะใช้ได้ดีในพื้นที่ซึ่งไม่มีการชลประทาน ทั้งนี้ เพราะมันจะเหมาะอย่างยิ่งกับแนวการทำเกษตรกรรมตามหลักทฤษฎีใหม่ ในยุคที่คนไทยนิยมพากันไปดูงานต่างประเทศ ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ข้าราชการส่วนไหนได้ไปศึกษาระบบเก็บเกี่ยวฝนของชาวอินเดีย นั่นคงเป็นการสะท้อนความจริงที่ว่า ข้าราชการไทยไม่สนใจไปดูงานในท้องถิ่นกันดาร ต่างกับการไปดูงานยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งดูจะกระตือรือร้นพากันไปครั้งละหลายสิบคนก็ยังทำ