ดอกเบี้ยต่ำ หุ้นตก ลงทุนอะไรดี?

ดอกเบี้ยต่ำ หุ้นตก ลงทุนอะไรดี?

ในช่วงเวลานี้ที่เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถที่จะผงกหัวขึ้นมาได้ แถมยังถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยลบอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แสนต่ำ

หรือสภาพตลาดหุ้นที่เป็นขาลงอยู่ในตอนนี้ ก็อาจทำให้คุณผู้อ่านหลายท่านที่มีเงินเหลือ อาจจะรู้สึกอึดอัด เพราะมองไปทางไหน? ก็ไม่รู้ว่าจะนำเงินของตนไปลงทุนอะไรดี?

ผมมีเรื่องที่จะเล่าเกี่ยวกับนักลงทุนคนหนึ่งที่มีชื่อ วอลเตอร์ สกลอส เขาประสบความสำเร็จในการบริหารเงินลงทุน ซึ่งอาจจะจุดประกายให้กับคุณผู้อ่านได้บ้าง โดยเรื่องราวเป็นดังนี้ครับ

วอลเตอร์ สกลอส  เกิดในปี 2458 พอเขามีอายุได้ 18 ปี เขาก็เริ่มทำงานในย่านวอลล์สตรีท โดยทำงานเป็นเด็กส่งเอกสาร สกลอสไม่เคยได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเลย แต่เขาโชคดีที่เขาได้ทำงานในบริษัทของเบนจามิน เกรแฮม (อาจารย์ของอภิมหาเศรษฐี วอร์เรน บัฟเฟตต์) และจุดนี้เองเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่สำคัญที่สุดของสกลอส เพราะในปี 2498 เขาก็สามารถตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนเป็นของตนเองได้ เขายังได้ทำงานให้กองทุนของเขาจนถึงปี 2543 สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของโลก

ตลอดระยะเวลา 45 ปี สกลอสได้จัดการลงทุนให้แก่กองทุนของเขาอย่างยอดเยี่ยม โดย กองทุนของสกลอสมีเงินทุนประเดิมตั้งต้นเพียง 10,000 ดอลลาร์ ผ่านไป 45 ปี กองทุนของสกลอสก็ให้ผลตอบแทนโดยรวมสูงกว่า 12 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นมากกว่า 1,200 เท่า 

ความยิ่งใหญ่ของสกลอสนั้น อาจดูได้จากอภิมหาเศรษฐีโลกอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังเคยกล่าวถึงเขาไว้ว่า “สกลอส...เขามักจะไม่มีความสัมพันธ์หรือความสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลลึกๆ ได้เลย เพราะว่าคนในวงการตลาดหุ้นไม่รู้จักเขา และเขาก็ไม่เคยเสนอแนวความคิดอะไรให้แก่ตลาดหุ้น และนี่คือจุดที่สำคัญที่ทำให้เขาหลีกหนีจากความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากตลาดหุ้นได้” 

บัฟเฟตต์มองว่า การที่สกลอสเป็นคนซื่อสัตย์ เป็นคนทำงานอย่างจริงจัง และยังเป็นคนยึดมั่นในแนวทางของ “ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย” (Margin of Safety) ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของเบนจามิน เกรแฮม ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ของสกลอสและบัฟเฟตต์ด้วย ในที่สุดก็ทำให้สกลอสเป็นที่สนใจของนักลงทุน และเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนจำนวนมากหันเข้ามาลงทุนในกองทุนของเขา

สกลอสไม่เคยได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ออฟฟิศของเขาในปี 2499 จะมีตู้เอกสารเพียงตู้เดียวเท่านั้น หลังจากนั้นการลงทุนของเขาก็ขยายออกไปหลายเท่าทวีคูณ จนทำให้ในปี 2545 สกลอสต้องมีตู้เอกสารเพิ่มเป็น 4 ตู้  

สกลอสทำงานเพียงตัวคนเดียว ไม่มีเลขานุการ ไม่มีเสมียน หรือแม้แต่พนักงานออฟฟิศแม้แต่คนเดียว แต่เขามีคนที่ช่วยทำงานให้เขาเพียงคนเดียวนั่นคือ เอ็ดวิน สกลอส ลูกชายของเขาที่จบการศึกษามาจากสถาบันสอนศิลปะแห่งนอร์ธแคโรไลนา เขาและลูกไม่เคยได้รับและไม่เคยแสวงหาข้อมูลภายในของบริษัท ที่พวกเขาคิดจะเข้าไปลงทุนเลย อันที่จริงเขาทั้งสองใช้เพียงข้อมูลทั่วไปที่สามารถหาได้จากรายงานประจำปี รายงานการเงิน และอื่นๆ ที่ได้เผยแพร่กับสาธารณชนเท่านั้น

ในการเลือกเฟ้นหาหุ้นนั้น สกลอสก็ใช้การคำนวณและวิธีการทางสถิติอย่างง่ายๆ เข้ามาเพื่อเฟ้นหาหุ้น เขาและลูกเคยถูกถามว่า “โดยสรุปแล้วพวกคุณใช้วิธีการอะไร? ในการเฟ้นหาหุ้น” เอ็ดวินก็ตอบออกมาอย่างมั่นใจว่า “เราใช้เพียงวิธี..ซื้อหุ้นให้ถูกที่สุดเท่านั้นเอง ซึ่งทฤษฎีหรือวิธีการสมัยใหม่ใดๆ อาจจะมากเกินไป..สำหรับการลงทุน”  และนั่นคือสิ่งที่บัฟเฟตต์กล่าวไว้ในจดหมายดังกล่าว

หลักการลงทุนของ วอลเตอร์ สกลอส

โดยปกติสกลอสมักจะถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 100 ตัว การที่จะมีหุ้นซัก 100 ตัว คงจะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนทั่วไป แต่หุ้น 100 ตัวของสกลอสนั้น สกลอสได้มาในราคาประมาณ 40% ของราคาเฉลี่ยของตลาด แนวทางการแสวงหาหุ้นของสกลอส จึงเป็นแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

-          จะต้องเป็นหุ้นของบริษัทที่มีหนี้สินน้อยมากหรือไม่มีเลย

-          ต้องมีราคาที่ลดลงจากราคาของทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 20% โดยราคาของทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมด คำนวณจากเงินสด อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินที่มีตัวตนทั้งหมด เช่น รถยนต์ เครื่องจักร เป็นต้น

-          มีการจ่ายเงินปันผลในระดับที่ดีและสม่ำเสมอ

-          มีคณะผู้บริหารถือหุ้นของบริษัทเป็นจำนวนมาก

-          มีเงินสดในบริษัทเป็นจำนวนมาก

ท้ายนี้ ผมขอฝาก “ประโยคทองคำ” ของสกลอส ที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า  I learned that if I can simply survive in the market, just like surviving in the war, and not lose money, eventually I will make something.” แปลตามความได้ว่า “ผมได้เรียนรู้ว่า ผมแค่ต้องพยายามทำให้ตัวเองอยู่รอดในตลาดหุ้นให้ได้ คล้ายๆ กับการอยู่รอดในสงคราม และไม่ขาดทุน ในที่สุดผมก็จะประสบความสำเร็จจนได้”