เกมเขย่าขวัญว่าที่ผู้ว่าททท.

เกมเขย่าขวัญว่าที่ผู้ว่าททท.

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา กับเหตุการณ์ในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 อาจจะทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเกิดความแปลกประหลาดใจขึ้น พร้อมๆกับคำถามตามมาอีกมากมาย เกิดอะไรขึ้นกับองค์กรแห่งนี้ ว่ากันว่าถึงขั้นจับกลุ่มคุยกันระดับผู้บริหารยันพนักงานแบบ ปากต่อปาก คงจะมึนงงกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างน้อยที่เห็นๆ ช่วงนี้มี 2 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแบบ สายฟ้าแลบ จนก่อกระแสการต่อต้านเกิดขึ้นกลายๆ ภายในองค์กรของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ปรากฏการณ์แรกน่าจะเป็นเรื่องของการที่ คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่มี จรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เสนอให้ยุทธศักดิ์ สุภสร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน บริษัท อสมท. จำกัด ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ว่าการททท.คนใหม่ แถมมีการเสนอชื่อให้บอร์ดททท.อนุมัติคนเดียว ด้วยเหตุผลที่ว่ากรรมการสรรหาทั้ง 5 คน มีความเห็นตรงกัน

นั่นคือ มีองค์รวมที่เหมาะสมที่สุด มีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน สามารถทำงานได้อย่างซื่อสัตย์และโปร่งใส  จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามกรอบที่รัฐบาลกำหนดไว้

ทันทีที่มีชื่อยุทธศักดิ์ โผล่ขึ้นมากระแสต่อต้านก็ผสมโรงเข้ามาทันที ก็เพราะองค์กรแห่งนี้อยู่มา 55ปี การสืบทอดตำแหน่งมีแต่คนในเท่านั้น ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่คนนอกเบียดเข้ามารั้งตำแหน่งได้ เรียกว่าทุบสถิติอย่างไงไม่รู้

เอาละวันนี้ กรรมการสรรหาจะมีเหตุผลเพียงใด กับการพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการททท.ดูเหมืิอนจะไม่ฟังกันเสียแล้ว เกิดเกมเขย่าขวัญขึ้นในองค์กรททท. ที่เก่งกาจสามารถมีความทันสมัยให้โลกออนไลน์ สาดใส่กันอย่างเมามัน ไม่เฉพาะหลังประกาศรายชื่อผู้ว่าการททท.คนใหม่ แต่เกมเขย่าขวัญ มีมาอย่างต่อเนื่องบนโลกออนไลน์ ส่งต่อๆกัน หากใครเข้าไม่ถึงที่ไปที่มาของข้อมูลประเภทหูเบามีสิทธิ์ที่จะเชื่ออะไรกันแบบง่ายๆก็เป็นได้

 จริงๆการสรรหาผู้ว่าการททท.รอบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้มีการล้มสรรหามารอบหนึ่งแล้ว แต่จะด้วยเหตุผลอะไรคนที่คลุกคลีกับเรื่องนี้ตอบได้ดีที่สุด ใครเกี่ยวข้อง ใครต่อรองใครต้องการอะไร ไปสอบถามกันเอง

แต่รอบนี้ดูเหมือนเกิดการประลองศึกระหว่างคนนอกคนในอยู่ไม่น้อย ทั้งสองฝ่ายมีกลองเชียร์ มีหน้าม้า ถึงขั้นบางฝ่ายไปขุดคุ้ยข้อมูลในอดีตมาสาดใส่กันมันหยด แบบถอนรากถอนโคน ส่วนจะผิดถูกไม่ต้องพูดถึง

หากวิเคราะห์ลึกๆแล้วเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าตลอด 55 ปี มีแต่คนในเท่านั้น ที่ขยับก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้ว่าการททท. ฉะนั้นไม่แปลกหากมีคนนอกหลุดรอดเข้ามานั่ง ในตำแหน่งสูงๆ ย่อมมีเสียงต่อต้านเป็นธรรมดา

จริงๆ แล้วนาทีนี้เวลานี้ ในเมื่อกระบวนการสรรหามาอย่างนี้แล้ว ส่วนจะมาอย่างไรแบบไหนอันนี้ต้องไปสืบค้นกันเอง แต่ที่แน่ๆ คนในน่าจะใช้โอกาสนี้ พิสูจน์ฝีมือต่างหากว่าจะสามารถนำพาองค์กรแห่งนี้ ไปได้ดีแค่ไหน จะผลักดันการท่องเที่ยวได้อย่างไร ทำอย่างไรที่จะให้คนทั้งโลกให้ความสนใจมาเที่ยวเมืองไทยแบบยั่งยืน เรื่องแบบนี้คนในองค์กรท่องเที่ยวแต่ลำพังคงมิอาจจะผลักดันได้ 100% แต่ต้องร่วมแรงร่วมใจกับทุกภาคส่วนต่างหากที่จะผลักดันการท่องเที่ยว

ปรากฏการณ์ถัดมาคณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติให้ อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เลขาธิการ ก.พ.ร. ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำหรับ อารีพงศ์ ก่อนหน้านี้ถูกมรสุมโหมใส่แบบไม่ได้ตั้งตัว แต่การถูกเชื้อเชิญให้มานั่งตำแหน่งนี้ก็ไม่ธรรมดาจริงๆ

บนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับองค์กรแห่งนี้ทำให้คิดหนักว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นทำไม? ถึงมีบุคคลภายนอกทยอยกันเข้ามานั่งบริหารกัน  

แต่เกมที่เกิดขึ้นบอกได้เลยไม่ธรรมดา อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มของกระบวนการจัดวางองค์กรแห่งนี้เสียแล้ว หากจะให้คาดเดาเวลานี้บอกได้เลยเขาคนนั้นคือ ท่าน ส.” และนี่คือก้าวแห่งการจัดวาง อีกไม่ช้าน่าจะมีการปรับเปลี่ยนไปถึงผู้กุมอำนาจแน่นอน  เพราะที่นี่คือเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลที่หวังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ