วางแผนล่วงหน้า แก้ปัญหาระยะยาว

วางแผนล่วงหน้า แก้ปัญหาระยะยาว

นานาปัญหาสารพันที่รุมเร้า ทั้งน้ำแล้งจากภัยธรรมชาติ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูก

ได้ตามปกติ ล่าสุด มีปัญหาเรือประมงที่ต้องหยุดการเดินเรือ เนื่องจากผิด พ.ร.บ.การประมงปี 2558 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป โดยมีมาตรการห้ามเรือที่มีเครื่องมือ ไม่ตรงกับอาชญาบัตรเรือออกทำการประมง หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการแก้กฎหมายดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ใบเหลืองไทยเมื่อปลายเม.ย.ที่ผ่านมา หรือแจ้งเตือนไทยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อียูจะขึ้นบัญชีไทย เป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ ในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย อย่างมีประสิทธิภาพตามกฎหมายที่ว่าด้วยการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUU) โดยหวังจะได้รับการยกเลิกใบเหลืองดังกล่าว

เหตุการณ์ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการเรือประมงนับหมื่นลำ และแรงงานบนเรือเหล่านั้นซึ่งมีทั้งแรงงานท้องถิ่น และแรงงานต่างด้าว การที่รัฐบาลใช้ไม้แข็งคุมเข้มเพื่อให้ภาพลักษณ์โดยรวม และธุรกิจของประเทศก้าวไปข้างหน้า เป็นสิ่งที่ทำได้บนหลักการที่จะอยู่ร่วมกัน และทำธุรกิจร่วมกับนานาชาติ แต่การออกมาตรการใดๆ มาต้องชี้แจงอย่างเข้มข้น หนักแน่น และต่อเนื่องให้ผู้ประกอบการรับทราบถึงความเอาจริงเอาจัง ไม่อะลุ้มอล่วยยืดเยื้อไป เพราะจะส่งผลลบแก่อุตสาหกรรมทั้งประเทศ สิ่งใดที่แก้ไขได้ต้องเร่งแก้ไขเพื่อจะไม่นำไปสู่ภาวะชะงักงัน และประชาชนขาดรายได้เพื่อการยังชีพ

แม้จะเป็นที่รับทราบกันว่า หลายๆ ปัญหานั้นเรื้อรังต่อเนื่องนานหลายปี และได้เกิดปะทุในช่วงรัฐบาลนี้ เช่นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวอยู่เสมอๆ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ ณ ที่ตรงนี้ ตำแหน่งนี้ก็ต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องเป็นตัวหลักช่วยประชาชนและประเทศแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี นอกจากการแก้ปัญหาระยะสั้นแล้ว ทีมงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำเสนอการวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาว แก้ไขให้ถูกที่ตรงจุด เพราะปัญหาที่รออยู่นั้นมีมากมายลำพังคนเดียวถึงจะเก่งกล้าสามารถสักเพียงใด คงมิอาจแก้ไขให้สำเร็จได้ราวร่ายมนต์เสกให้เป็นไป ฉะนั้นการขอความร่วมมือร่วมใจและระดมสมองของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ด้วยไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชนล้วนแต่ต้องการให้ประเทศชาติอยู่รอด เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ประเทศเพื่อนบ้านก็แข็งแกร่งไปพร้อมๆ กัน เพื่อประชาชนทุกคนเจริญก้าวไปข้างหน้าด้วยกันตามหลักคิดของประชากรและประเทศยุคใหม่

สิ่งที่ผ่านไปแล้วอาจแก้ไขไม่ทันการณ์ แต่สิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะมีผลตามมา และกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไป ต้องเร่งหาวิธีแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซ้อน ผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า เหมือนไม่เคยศึกษาบทเรียนจากอดีตทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ในอดีตเป็น”ครู”คนสำคัญให้วางแผนรับมือหรือป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำในอนาคต ยิ่งจะก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล หากปัญหาซ้ำๆ แก้ไขด้วยคนไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีนำเครื่องมือดิจิทัลมาเป็นตัวช่วยทดแทน