แนวโน้มสู่ตลาดแรงงานแข่งขันสมบูรณ์

แนวโน้มสู่ตลาดแรงงานแข่งขันสมบูรณ์

ประเทศไทยมีภาคการผลิตโดยใช้ปัจจัยแรงงานเข้มข้น (labor intensive) ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านอุตสาหกรรม ด้านเกษตรกรรม

หรือด้านบริการมาตั้งแต่อดีต แรงงานจึงเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นรากฐานในการพัฒนา และสร้างการเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ การเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนครึ่งประเทศ บทความนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นถึงที่มา และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อตลาดแรงงานไทยจากทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อชี้ให้เห็นว่าตลาดแรงงานในประเทศไทยมีทิศทางไปสู่การแข่งขันมากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มทางเลือกในการใช้แรงงาน และการพัฒนาศักยภาพของแรงงานในอนาคต

โครงสร้างตลาดแรงงานของประเทศไทยประกอบด้วย ผู้ประกอบการ อาจเป็นโรงงานผลิตสินค้าขนาดเล็กถึงใหญ่ ไปจนถึงกลุ่มอุตสาหกรรมในนิคม และมีแรงงานประกอบด้วยคนไทยและคนต่างด้าว อำนาจในการจ้างงานส่วนมากจะตกอยู่กับผู้ประกอบการ (monopsony) อาจจะมีบ้างที่แรงงานมีการรวมตัวกันตั้งสหภาพ (union) แต่ส่วนใหญ่ล้วนมีจุดประสงค์ในการปกป้องสวัสดิการ ความเป็นอยู่ สิทธิต่างๆ ที่แรงงานพึงจะได้รับ มากกว่าการสร้างอำนาจในการต่อรองเรื่องค่าจ้าง จากลักษณะเช่นนี้เอง ทำให้นายจ้างสามารถกำหนดค่าจ้างในอัตราที่ต่ำ เพื่อสร้างส่วนเกิน (margin) ให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพราะเชื่อว่าการหาแรงงานมาทดแทน ในกรณีที่มีแรงงานขาดหรือการหมุนเวียนแรงงาน สามารถทำได้ง่าย และมีต้นทุนในการจัดการที่ไม่สูงมากนัก ลักษณะดังกล่าวไม่ทำให้แรงงานมีความลำบาก แต่จะมีรายได้น้อยและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้า

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดแรงงาน ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างตลาด 2 ประการ ประการแรก คือ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้น (นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท) มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มสวัสดิการให้กับกลุ่มแรงงาน แต่อาจจะมีผลที่ตามมาได้สองกรณี คือ กรณีที่ 1 แรงงานมีการเสนอขายแรงงานเพิ่มขึ้น และผู้ผลิตก็สามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น โครงสร้างตลาดเข้าใกล้การแข่งขันสมบูรณ์มากขึ้น และกรณีที่ 2 เกิดการว่างงาน เนื่องจากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เกิดขึ้นได้ทำให้ต้องลดการจ้างงานลง โครงสร้างตลาดจะเลยจุดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ การแทรกแซงอัตราค่าจ้างเป็นการบิดเบือนผลประโยชน์ จากผู้ผลิตไปสู่แรงงาน

จากนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2555 พบว่า การจ้างงานในประเทศไทยไม่ได้ลดลง จำนวนแรงงานรวมเฉลี่ยในช่วงปี 2552-2557 รวมแรงงานในประเทศและแรงงานต่างด้าว มีทั้งสิ้นประมาณ 40 ล้านคน การที่อัตราการว่างงานลดลงในช่วงดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้ ทำให้สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากแรงงานได้ค่าแรงเพิ่มและผู้ผลิตได้กำไรจากการผลิตสินค้าชดเชยกับต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้ แม้อาจทำให้กำไรของผู้ผลิตลดลงไปบ้าง

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการที่สอง คือ การจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย ทั้งนี้แรงงานในภาคการผลิตของประเทศไทย 40 ล้านคน จะประกอบด้วยแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว การเข้ามาของแรงงานต่างด้าว จะส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในประเทศทางลบ

กล่าวคือ โดยปกติค่าจ้างจากการใช้แรงงานต่างด้าวจะต่ำกว่าค่าจ้างของคนงานไทย ทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการถูกลง โรงงานขนาดใหญ่ หรืออุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้ฝีมือมากนัก จะมีการใช้แรงงานต่างด้าวมากกว่า ดังนั้น เมื่อมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนแรงงานไทย จะส่งผลให้ค่าจ้างในตลาดแรงงานจะมีแนวโน้มต่ำลง และอาจทำให้คนงานไทยบางส่วนไม่มีงาน ผลกระทบดังกล่าวจะยิ่งมีแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้น จากนโยบายการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทางสถิติ พบว่าในปี 2552 สัดส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คิดเป็นร้อยละ 86.4 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด มีแนวโน้มลดลงอย่างมากในปี 2556 ซึ่งเหลือเพียงร้อยละ 2.4 หรือเป็นช่วงที่มีการเปิดให้ชาวต่างด้าวสามารถลงทะเบียนเพื่อทำงานในประเทศอย่างถูกต้อง จากนโยบายดังกล่าวผู้ประกอบการขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ได้มีการปรับฐานการใช้แรงงานไร้ฝีมือไปใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้น เนื่องจากมีค่าจ้างที่ถูกกว่า ทำให้สัดส่วนของการใช้แรงงานต่างด้าวทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ 3 ของแรงงานในประเทศในปี 2556 เป็นร้อยละ 3.4 ในปี 2557

จากสาเหตุที่สำคัญสองประการนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าอำนาจการผูกขาดในการจ้างงานของนายจ้างมีแนวโน้มลดลง การขึ้นค่าจ้างในรอบที่ผ่านมาทำให้ผู้ผลิตต้องมีการปรับตัวให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น การจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เช่น จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้ค่าจ้างของแรงงานไทยและต่างด้าวมีความแตกต่างกันลดลงเรื่อยๆ  จากที่กล่าวทั้งหมดนี้ เห็นได้ว่าตลาดแรงงานในประเทศยังมีการวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา และนำไปสู่การแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์มากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลจะเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดนโยบาย ที่ช่วยวางแนวทางและให้ข้อมูลทั้งกับประชาชนที่เป็นแรงงานและภาคการผลิต ในการเตรียมตัวเพื่อนำไปสู่การแข่งขันด้านแรงงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

 ------------------------------

อาจารย์ปิยะวงศ์ ปัญจะเทวคุปต์

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์