หนี้ที่ต้องมีการชดใช้คืน

หนี้ที่ต้องมีการชดใช้คืน

ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจที่ประเทศไทยและประชาชนทั่วโลกกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน มาจากเรื่องหนี้สินเป็นหลัก

สำหรับต่างประเทศนั้นชัดเจนว่าปัญหาของกรีซยังเป็นปัญหาที่สำคัญ และเป็นที่จับตาตลาดการเงินทั่วโลก เพราะในวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นการครบวาระที่จะต้องมีการชำระคืนเงินกู้ จำนวน 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และการเจรจากับกลุ่มประเทศเจ้าหนี้เอง(เจ้าหนี้ได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารกลางยุโรป และคณะกรรมาธิการของสหภาพยุโรป) ไม่ประสบผลสำเร็จ ส่งผลให้ตลาดหุ้นในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตกต่ำมาโดยต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน

สถานการณ์ภายในประเทศกรีซเองก็เลวร้ายลง ประชาชนมีการแห่ถอนเงินมาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในต้นสัปดาห์นี้ รัฐบาลกรีซต้องประกาศปิดธนาคารเพื่อป้องกันมิให้ธนาคารล้มจากการแห่ถอนเงิน สะท้อนถึงภาพในปี 2540 ที่ประชาชนชาวไทยแห่กันไปถอนเงินจากสถาบันการเงิน จนมีการปิดสถาบันการเงินไปรวม 58 แห่ง เพราะทุกคนเกรงว่าจะสูญเสียเงินฝากไป เพราะไม่มีความเชื่อมั่น ว่าธนาคารจะสามารถคืนเงินฝากให้กับตนเองได้ ภาวะการแห่ถอนเงินของประชาชนนั้น จะเป็นอันตรายยิ่งต่อสถาบันการเงินและระบบการเงิน เพราะสถาบันการเงินจะไม่มีเงินให้กับผู้ฝากเงินทุกคนได้ในระยะสั้นๆ

ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซได้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) แล้ว ที่รู้จักในนามของของวิกฤติหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป (PIIGS 5 ประเทศได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี ไอซ์แลนด์ กรีซ และสเปน)  จนต้องมีการขอความช่วยเหลือทางการเงินจำนวนมหาศาล จากธนาคารกลางยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประเทศอื่นๆ นั้น ต่างสถานการณ์เริ่มกระเตื้องดีขึ้น มีเพียงประเทศกรีซที่สถานการณ์ทรุดตัวลงมาโดยต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ในช่วงการหาเสียงนั้น นายกรัฐมนตรีผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ประกาศให้สัญญากับประชาชนในช่วงการหาเสียงว่า จะไม่ใช้นโยบายรัดเข็มขัดหรือลดการใช้จ่าย ซึ่งหมายถึงการปรับลดการจ้างงานของภาครัฐ การปรับเงินเดือน ตลอดจนการปรับลดสวัสดิการต่างๆ รวมถึงการปรับเพิ่มภาษีเพื่อการบริโภค

แต่เมื่อรัฐบาลไม่สามารถปรับลดการขาดดุลการคลังและปฏิรูประบบเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จึงทำให้ไม่สามารถชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนดได้ ที่เรียกว่าผิดนัดชำระหนี้ ความล้มเหลวในการปรับลดค่าใช้จ่ายและเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ขนาดของหนี้สาธารณะของกรีซในปัจจุบัน จึงอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 180 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  

กรีซไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการจัดทำแผนเงินกู้กับกลุ่มเจ้าหนี้ และรัฐบาลกรีซพยายามซื้อเวลาออกไป โดยจะขอจัดทำประชามติถามประชาชนในวันที่ 5 ก.ค.นี้ ในการโหวตว่าจะรับแผนการเงินกู้ที่เจ้าหนี้เสนอหรือไม่ ซึ่งหากโหวตยอมรับตามข้อเสนอของเจ้าหนี้ หมายถึงการที่รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด และปฏิรูปครั้งใหญ่ในหลายๆ ด้าน ที่ในระยะสั้นแล้วจะทำให้เศรษฐกิจของกรีซเข้าสู่ภาวะซบเซา ในการแลกกับเงินกู้ในส่วนที่เหลือ ที่คาดว่าอีกจำนวน 7.3 พันล้านเหรียญยูโร แต่หากโหวตไม่ยอมรับแล้ว มีความเป็นไปได้สูงว่า นายกรัฐมนตรีของกรีซอาจจะต้องลาออก กรีซอาจต้องออกจากการใช้เงินสกุลยูโร และหรือออกจากสหภาพยุโรป อันเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับวิกฤติหนี้สาธารณะนี้เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ในหลายประเทศทั่วโลก อันเกิดมาจากการใช้เงินเกินตัว อันเกิดจากนโยบายประชานิยม หรือการใช้จ่ายเกินตัวของประชาชน จนกระทั่งเป็นหนี้จำนวนมหาศาล ซึ่งหนี้นั้นหมายถึง การนำเอาเงินในอนาคตมาใช้จ่ายล่วงหน้า ที่ในสักวันหนึ่งแล้วก็ต้องชดใช้คืน    ในการก้าวผ่านปัญหาหนี้สาธารณะนั้น มีบางประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับคืนมา ที่สามารถชำระหนี้คืนหนี้เงินกู้และฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ แต่ก็มีอีกหลายๆ ประเทศที่อยู่ในภาวะล้มละลาย ที่ไม่มีความสามารถจ่ายคืนหนี้เงินกู้ได้ ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ เม็กซิโก (ค.ศ.1982) และอาเจนติน่า (ค.ศ.2001)

ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกรีซ น่าจะสะท้อนถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ในหลายปีมานี้ รัฐบาลบางรัฐบาลได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคผ่านนโยบายประชานิยมต่างๆ เช่น รถคันแรก บ้านเอื้ออาทร กองทุนต่างๆ ตลอดจนโครงการต่างๆ สนับสนุนการใช้ผ่านบัตรเครดิตนานาชนิด จนหนี้ครัวเรือนของประชาชนปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขึ้นมาอยู่ระดับสูงกว่าร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ที่เป็นตัวฉุดให้กำลังซื้อของประชาชนลดถอยลง เพราะในปัจจุบันกำลังต้องชำระคืนหนี้ที่ได้ก่อไว้ในอดีต และเป็นที่มาว่าเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชน ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ เพราะเงินที่ได้มาต้องใช้ไปในการผ่อนชำระคืนหนี้ที่ก่อไว้ในอดีต 

เคยมีผู้ถามผู้เขียนว่า แล้วจะแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือนนี้อย่างไร คำตอบนั้นง่าย แต่ทำได้ยาก คือการยึดถือแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญที่สุดคือการไม่ก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น