ท่านเป็นคนแบบไหน...กันแน่

ท่านเป็นคนแบบไหน...กันแน่

ในชีวิตคนสอนหนังสือทั้งโปรแกรม MBA / MPA ในสถาบันต่างๆ ตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา มีสองวิชาที่ชอบสอนมากที่สุดคือ วิชาระเบียบวิธีวิจัย

(Research Methods) และวิชาพฤติกรรมองค์กร (Organizational Behavior) สองวิชานี้สามารถเป็นทั้ง โหด มัน แล้วก็ฮา ได้ทั้งคนสอนและคนเรียน แต่วิชาระเบียบวิธีวิจัยค่อนข้างจะเป็นยาขมสำหรับนักศึกษามากกว่า (โดยเฉพาะพวก MPA) เพราะมีเรื่องของตัวเลขและสถิติที่นักศึกษาไม่ค่อยชอบ ส่วนวิชาพฤติกรรมองค์กรเป็นวิชาสบายๆ เพราะเป็นเรื่องของจิตวิทยาสังคมและพฤติกรรมของมนุษย์ที่ทำงานในองค์กร ซึ่งใกล้เคียงกับชีวิตจริงของผู้เรียนที่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน

ประมาณยี่สิบปีมาแล้ว ได้มีโอกาสพูดคุยกับศาสตราจารย์สตีเฟน ร็อบบินส์ (Stephen Robbins) ที่มาเมืองไทย ศ.ร็อบบินส์ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทางด้านพฤติกรรมองค์กร แต่งหนังสือ Organizational Behaviors ตีพิมพ์นับสิบครั้ง รวมทั้งคู่มือของทั้งผู้เรียนและผู้สอน เรียกว่าครบเครื่อง การมาเมืองไทยครั้งนั้น บ้านเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนแปลงจากสังคมอนาล็อก (Analogue) มาสู่สังคมดิจิทัล (Digital) เราเริ่มคุ้นเคยกับการสื่อสารภายในองค์กรที่ไม่ต้องประชุมแบบต่อหน้า (Face to face) ในห้องประชุม และใช้เทคโนโลยีของเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ประชุมโดยไม่ต้องพบหน้ากัน

ในครั้งนั้น ได้ถาม ศ.ร็อบบินส์ว่า จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารเช่นว่านี้ พฤติกรรมของคนที่ทำงานในองค์กร จะเปลี่ยนไปอย่างไร ศ.ร็อบบินส์ อธิบายว่า ผู้เข้าประชุมที่ไม่ค่อยแสดงออก (Introverts) จะกล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่เหมือนกับการประชุมในห้องประชุม จะมีพฤติกรรมเป็นคนกล้าพูดกล้าแย้ง กล้าให้ความเห็น เรียกได้ว่าจะกลายเป็นคนกล้าแสดงออก (Extroverts) มากขึ้น และด้วยสาเหตุนี้ วิธีบริหารจัดการองค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ จากพฤติกรรมกล้าแสดงออกมากขึ้นของพนักงานขององค์กร

ปัจจุบันเรามีเครื่องมือและเทคโนโลยีสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การสื่อสารระหว่างบุคคลผ่านเทคโนโลยีง่ายขึ้นมาก ไม่จำต้องมีความรู้อะไรก็สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันก็คือ พฤติกรรมของผู้ใช้การสื่อสารระหว่างออนไลน์ (On line) กับ ออฟไลน์ (Off line) ดูเหมือนจะไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ เมื่อใดที่สื่อสารแบบออนไลน์ ก็จะกล้าพูด กล้าคิด กล้าแสดงออกอย่างมาก จนบางครั้งล้ำเส้นเป็นไปในทางที่เกิดความเสียหายกับผู้ที่รับข่าวสาร จนรัฐต้องออกกฎหมายจำกัดการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารให้อยู่ในกฎกติกาที่เป็นธรรมกับสังคม เพราะข่าวสารทั้งหลายที่ส่งออกไปแล้ว เอากลับคืนมาไม่ได้ และกลายเป็นคลื่นที่ขยายตัวระลอกแล้วระลอกเล่า ไม่สามารถจำกัดขอบเขตได้เลย

ในขณะเดียวกัน เมื่อมาอยู่ต่อหน้า ก็ยังเหมือนเดิม คือไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น ไม่แสดงออก ไม่แสดงความเห็นแย้ง รวมทั้งในบางครั้งเหมือนอยู่คนละโลกระหว่างโลกออนไลน์ กับโลกออฟไลน์

เคยสังเกตุพฤติกรรมของกลุ่มบ้างหรือไม่ว่า เวลาที่สนทนาผ่านสังคมเครือข่าย (Social Network) ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ลิงค์อิน หรือผ่านแอพลิเคชั่นอื่นๆ สมาชิกในกลุ่มจะกล้าเล่าเรื่องสู่กันฟัง ส่งรูปหรือข้อความที่ไม่น่าจะส่งให้คนที่ไม่สนิทกัน แต่ก็ทำเหมือนคนสนิท แต่พอเจอหน้ากันกลับสงบเงียบ หรือบางครั้งออกจะเมินๆ ด้วยซ้ำ แต่พอกลับมาออนไลน์ก็พูดคุยอย่างสนิทสนมได้อีก

พฤติกรรมเช่นนี้เป็นที่ประจักษ์จนคิดว่าเป็นสังคมที่ไม่เหมือนที่ ศ.ร็อบบินส์เคยทำนายไว้เลย ในบางครั้งหลายๆ คนมีพฤติกรรมที่แปลกแยกอย่างมาก เหมือนดังเช่นคนสองบุคคลิก (Dual Personality) ที่บางครั้งก็เป็นบุคคลิกแบบชาย บางครั้งก็เป็นบุคคลิกแบบหญิง ภายในตัวคนๆ เดียวกัน

ถ้าอย่างนั้น เราจะถือว่าคนแบบนี้เป็นคนแบบไหนกันแน่ ระหว่าง คนปิดตัวเอง (Introverts) กับคนเปิดเผย (Extroverts) ในเมื่อเขาเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนบุคคลิกได้อย่างรวดเร็วและอย่างเป็นปกติ จนทำให้คนรอบข้างอาจจะตามไม่ทัน และเกิดปัญหาทางพฤติกรรมทางสังคมได้ง่ายๆ และทำให้องค์กรต้องปรับตัวรับสภาพต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ เพราะถ้ามีพนักงานแบบนี้มากๆ ก็จะมีปัญหาด้านการบริหารจัดการภายในองค์กรอย่างแน่นอน

พฤติกรรมของคนประเภทสองบุคคลิกนี้ ได้แพร่ระบาดไปทั่ว ถึงแม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อคนจำนวนมากในองค์กรมีบุคคลิกภาพเช่นว่านี้ งานการบริหารบุคคลในองค์กรคงจะต้องยุ่งยากซับซ้อนขึ้น เพื่อที่จะปรับแก้พฤติกรรมของผู้ทำงานในองค์กรที่ไม่สามารถทำนายได้

แล้วท่านล่ะ เป็นคนแบบไหน....